อาหารระบุวัน “หมดอายุ” ไม่ได้แปลว่า “กินไม่ได้” เสมอไป

อาหารระบุวัน “หมดอายุ” ไม่ได้แปลว่า “กินไม่ได้” เสมอไป

อาหารระบุวัน “หมดอายุ” ไม่ได้แปลว่า “กินไม่ได้” เสมอไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะคอยระแวดระวังตรวจสอบวันหมดอายุของอาหารที่เราซื้อมาแล้วเก็บเอาไว้ในตู้เย็นอยู่เรื่อยๆ ว่าจะหมดอายุเมื่อไร แต่หากเราหยิบมากินแล้วพบว่า อาหารเหล่านั้นเลยวันที่ระบุเอาไว้ว่า  Best before หรือควรบริโภคก่อน ก็ใช่ว่าเราจะโยนทิ้งลงถังขยะไปเลยโดยไม่ลังเลใจทุกครั้งไป

 

ควรบริโภคก่อน ไม่ได้แปลว่า ห้ามกินหลังจากนั้นเสมอไป

ในอาหารบางชนิดที่มีอายุเก็บรักษาไม่ยาวนานนัก เช่น นมสด อาจมีการระบุวันเวลาที่ควรกินเอาไว้ชัดเจนว่า นมมีความ “น่าจะเป็น” ที่จะเสีย หรือหมดอายุเมื่อไร แต่ไม่ได้หมายความว่าถึงเวลาที่ระบุเอาไว้ปุ๊บ มันจะเสียปั๊บ การระบุเวลาที่ “ควรบริโภคก่อน” เป็นการคาดเดาจากผู้ผลิตทั้งสิ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นอายุของผลิตภัณฑ์ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่างที่จะช่วยยืดอายุของอาหารเหล่านั้นไปได้ หรือจะทำให้มันเสียเร็วขึ้น ดังจะเห็นจากหน้าข่าว หรือที่คุณอาจประสบพบเจอเอง ที่อาหารบางชนิดหมดอายุก่อนวันที่กำหนด และยังอาหารอีกหลายชนิดที่ยังกินได้อยู่ รูป รส กลิ่น ยังเหมือนเดิม แม้ว่าจะเลยเวลาที่ควรบริโภคไป 24 ชั่วโมงแล้วก็ตาม

 

แต่ช้าก่อน เราไม่ได้รณรงค์ให้คุณไล่กินอาหารที่เลยกำหนดวันที่ควรบริโภคก่อนไปเสียทุกอย่าง ก่อนที่คุณจะกินอะไรที่เลยกำหนดวันหมดอายุไปแล้ว ขอให้สังเกตสิ่งเหล่านี้ก่อน

  1. วิธีการเก็บรักษา ก่อนหน้านี้อาหารชนิดนี้มีการเปิดบรรจุภัณฑ์ไปบ้างหรือยัง แอบกินไปบางส่วนแล้วหรือเปล่า หรืออาหารเหล่านั้นไม่ได้ใช้ช้อนกลางในการกินใช่หรือไม่ ถ้าใช่ อาหารเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะมีเชื้อแบคทีเรียก่อตัวขึ้นได้ หากเก็บรักษาไม่ดีพอ

  2. อาหารที่มีอายุเก็บค่อนข้างสั้น เช่น นมสด ขนมปังต่างๆ ตรวจสภาพให้ดีว่ามีรูป รส หรือกลิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยเฉพาะขนมปังที่อาจมีราขึ้นได้ (และเราอาจมองไม่เห็น) แม้ว่าจะเก็บเอาไว้ในตู้เย็น ดังนั้นอาหารบางอย่างก็อย่าเสี่ยง

  3. เก็บไว้ในที่ที่เย็นพอหรือไม่ หากเป็นการเก็บเอาไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำมาก ก็จะเก็บรักษาอาหารเอาไว้ได้ในสภาพที่ดี และอาจจะนานขึ้นกว่าที่ระบุเอาไว้ อาจจะแค่ไม่สดใหม่ หรือกรอบอร่อยเหมือนเดิม
    >> เก็บอาหารใน "ตู้เย็น” จะอยู่ได้นานเท่าไร?

  4. แม้ว่าจะเลยเวลาที่ควรบริโภคไปนิดหน่อย และสภาพของอาหารยังไม่เปลี่ยน เราจะยังสามารถทานได้ แต่ถึงกระนั้นเราก็อย่าประมาท อย่าคิดเสียดายมากจนเกินไป ถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติของอาหารเพียงเล็กน้อย ก็ไม่ควรทานเลย โยนทิ้งไปดีกว่า โดยเฉพาะอาหารที่มีความชื้นสูง อาจมีราที่เรามองไม่เห็นเกิดขึ้นมาแล้วก็ได้ เช่น ราในขนมปัง หรือผลไม้อย่างสตรอเบอร์รี่ เป็นต้น

 

ไม่ว่าอย่างไร ทางที่ดีที่สุดคือการบริโภคอาหารปรุงสดใหม่ ซื้อในปริมาณที่พอดีพอเหมาะกับการกินในแต่ละครั้ง ไม่เหลือมากเกินไปจนต้องเก็บเอาไว้ในตู้เย็นเป็นเวลานาน หมั่นเคลียร์อาหารในตู้เย็นบ่อยๆ สังเกตอาหารในตู้เย็นก่อนทาน และถ้าจำเป็นต้องเก็บอาหารเอาไว้ทานต่อ ก็ควรเก็บใส่ภาชนะที่ปิดมิดชิด ก่อนเข้าตู้เย็น ก็จะช่วยเก็บรักษาอาหารเหล่านั้นเอาไว้ได้ต่ออีกระยะหนึ่งอย่างปลอดภัยต่อร่างกายจริงๆ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook