ทำไมคน Gen Y (1981-1997) ถึงสุขภาพถดถอยเร็วกว่าวัยอื่นๆ?

ทำไมคน Gen Y (1981-1997) ถึงสุขภาพถดถอยเร็วกว่าวัยอื่นๆ?

ทำไมคน Gen Y (1981-1997) ถึงสุขภาพถดถอยเร็วกว่าวัยอื่นๆ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คำว่า Gen Y (เจ็นวาย) เป็นคำที่บ่งบอกถึงช่วงอายุที่หลายคนอาจจะคุ้นหูกับคำว่าเด็กยุคมิลเลนเนียล (Millennials) นอกจากจะระบุถึงช่วงวัยที่ก้าวเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้ รวมถึงเทคโนโลยี และวิถีชีวิตที่ทันสมัยขึ้นกว่าคนยุค Gen X แล้ว ยังสามารถบ่งบอกถึงลักษณะสุขภาพโดยรวมของคนในวัยนี้ที่แตกต่างไปจากวัยอื่นอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย

 

Gen Y = วัยทำงานเต็มตัว

หากจะนับว่าคนในยุค Gen Y คือคนที่เกิดใน ค.ศ. 1981-1997 นั่นก็หมายความว่า คนในยุค Gen Y อยู่ในวัยทำงานอย่างเต็มขั้น เริ่มตั้งแต่เริ่มงานแรก เริ่มซื้อรถคันแรก เริ่มผ่อนอสังหาริมทรัพย์ชิ้นแรก ใช้เงินเดือนของตัวเองท่องเที่ยวต่างประเทศ ไปจนถึงช่วงที่ลงหลักปักฐาน มีครอบครัว มีทรัพย์สินเงินทองเพื่อสร้างอนาคตพร้อมแล้ว

 

ทำไมคน Gen Y ถึงมีลักษณะสุขภาพที่แตกต่างจากคนวัยอื่น?

คนในยุค Gen Y เป็นช่วงอายุที่เริ่มให้ความสำคัญกับการทำงานในแบบที่ตัวเองต้องการมากกว่าเพื่อเงินแต่เพียงอย่างเดียว ไม่อดทนต่อสิ่งที่ตัวเองต้องฝืนทำ ดังนั้นจึงเลือกที่จะทำงานที่ให้อิสระกับตัวเอง รวมทั้งงานที่ตัวเองสนใจจริงๆ มากกว่า ดังนั้นจึงอาจพบเห็นคนในยุค Gen Y ประกอบอาชีพที่เป็นอาชีพอิสระ เป็นเจ้านายตัวเอง ไม่ต้องเข้าออฟฟิศตรงเวลาเป๊ะทุกวัน ทำงานข้าราชการน้อยลง เช่น งานฟรีแลนซ์ต่างๆ งานขายของออนไลน์ เปิดร้านอาหารเล็กๆ เป็นต้น ทำให้หลายคนเลือกที่จะนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน ที่ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ห้องสมุด และ co-working space ที่มีอาหาร และเครื่องดื่มบริการถึงโต๊ะ

ดูแล้วก็เหมือนจะรู้สึกว่า คน Gen Y น่าจะเป็นคนที่มีความสุขกับชีวิต ได้เลือกทำงานที่ตัวเองอยากทำ ความสะดวกสบายใจการทำงานก็มีมากขึ้น เพราะไม่ถูกจำกัดอยู่แค่การเข้าออฟฟิศแต่เพียงอย่างเดียว ตอนนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก ขอแค่มีคอมพิวเตอร์กับอินเตอร์เน็ต ก็สามารถส่งงานกันได้ภายในไม่กี่นาที

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาสำหรับคน Gen Y คือ สุขภาพที่ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว หากไม่ดูแลรักษา หรือใส่ใจกับการดูแลร่างกายของตัวเองให้ดีพอ เพราะเหตุต่อไปนี้

  • งานฟรีแลนซ์ เป็นงานที่ไม่มีเวลาในการทำงานที่แน่นอน อาจมีบางครั้งที่ต้องโต้รุ่งจนดึกดื่น ตื่นเช้ามาปั่นงานต่อ หรือทำงานทั้งวันทั้งคืนด้วยความรีบเร่ง เพราะต้องรีบส่งงานให้ทันเวลา การทำงานลักษณะนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ และความเครียดสะสม

  • การนั่งทำงานในที่เดิมนานๆ โดยไม่มีการขยับเขยื้อนไปไหนมาก แม้กระทั่งการทานอาหารก็สั่งอาหารมาส่งให้ถึงที่ ไม่ออกไปเดินหาซื้อ หรือแม้แต่ไม่มีเวลาที่จะซื้อหา หรือทำอาหารทานเอง ทานแต่อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารที่ต้องทำมาอุ่นทานอีกครั้ง หรืออาหารขยะจากร้านฟาสต์ฟูดต่างๆ นอกจากจะทำให้เราอาจได้รับสารอาหารไม่ครบเท่าที่ควรแล้ว ยังเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ เป็นต้น

  • นอกจากสุขภาพกายแล้ว สุขภาพจิตก็สำคัญ คนยุค Gen Y ไม่ได้รับการพักผ่อนหย่อนใจอย่างที่คนวัยอื่นๆ เขาทำกัน คนเฒ่าคนแก่พักผ่อนด้วยการเดินเล่น คุยสนทนากับเพื่อนเก่า อ่านหนังสือ หรือวัยรุ่นอาจนัดออกไปท่องเที่ยวด้วยกัน ทานข้าวดูหนัง ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน แต่สำหรับคน Gen Y จะเริ่มเป็นวัยที่ติดเทคโนโลยี ติดหน้าจอ ติดอินเตอร์เน็ต การพักผ่อนของคนวัยนี้คือการท่องอินเตอร์เน็ต ดังนั้นหากสังคมในโลกออนไลน์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตของคน Gen Y มากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาการเข้าสังคมปกติก็อาจตามมาได้ หรือหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ คน Gen Y ก็อาจจะเห็นเป็นเรื่องใหญ่จนนำมาสู่การตัดสินใจทำอะไรไม่ดีในชีวิตปกติได้เช่นกัน

 

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้คน Gen Y เป็นวัยที่โรครุมเร้ามากกว่าวัยอื่นๆ และยังเป็นโรคหนักๆ เร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน จากที่เคยเป็นโรคร้ายแรงอย่างโรคหัวใจ และหลอดเลือด หรือโรคมะเร็งในวัย 50 ปีขึ้นไป ปัจจุบันกลับพบว่ามีผู้ป่วยโรคร้ายแรงต่างๆ รวมถึงโรคที่เกิดจากการทำงาน ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่ครบคุณค่าทางสารอาหารมากมายที่มาจากกลุ่มคน Gen Y ดังนั้น พญ. พัฒศรี เชื้อพูล จากโรงพยาบาลสมิติเวช แนะนำคน Gen Y รวมถึงคนในวัยอื่นๆ ให้ควรจำใส่ใจ และนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  1. ให้เวลาพักผ่อนกับตัวเองให้มากขึ้น แม้ว่าการทำงานด้วยตัวเองจะให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ ทำงานตอนไหนเมื่อไรที่ไหนก็ได้ แต่เราควรมีวินัยกับตัวเองให้มาก คิดเสียว่ายังต้องทำงานตาม “เวลาชีวิต” อยู่ คือ ตื่นเช้าทำงาน ตอนกลางวันพักทานอาหาร ตอนเย็นเลิกงาน และนอนพักผ่อนให้เพียงพอในตอนกลางคืน เมื่อปรับนาฬิกาชีวิตให้คล้ายคลึงกับวัยทำงานตามปกติแล้ว สุขภาพก็จะปกติตามไปด้วย

  2. จำกัดเวลาในการใช้อินเตอร์เน็ต อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งการทำงาน และการพักผ่อนหย่อนใจ แต่เรายังต้องจำกัดเวลาในการใช้งานอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้อินเตอร์เน็ตดึงเวลาชีวิตของเรามากเกินไป เราต้องรู้สึกพักผ่อนหย่อนใจด้วยวิธีอื่นๆ ด้วย เช่น ออกไปเจอเพื่อนฝูง เดินเที่ยวเล่น ดูหนังฟังเพลง เป็นต้น

  3. หาเวลาออกกำลังกายให้ได้ เมื่อทำงานอยู่ที่บ้าน หลายคนจึงอาจจมตัวเองไว้ในบ้านโดยไม่ออกไปไหน ทำให้ขาดการขยับร่างกายไปมา และออกกำลังกายอย่างเต็มที่ ดังนั้นอย่าลืมหาเวลามาออกกำลังกายให้ได้ครั้งละ 30 นาที-1.30 ชั่วโมง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และอย่าลืมวอล์ม และคูลดาวน์ร่างกายก่อน และหลังออกกำลังกายด้วย

  4. ลดการสั่งอาหารจานด่วนมาทานบ่อยๆ เช่น อาหารประเภททอด หรืออาหารที่มีไขมันจากสัตว์มากเกินไป ให้พลังงานสูง ควรเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมาทานบ้าง เช่น สลัด ผัดผัก ต้มผัก เน้นโปรตีนไขมันต่ำ และผักผลไม้ให้มากขึ้น และลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงด้วย

  5. ระหว่างนั่งทำงาน ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ทุก 1 ชั่วโมงควรลุกขึ้นจากเก้าอี้มายืดเส้นยืดสาย เข้าห้องน้ำ หาน้ำเปล่ามาดื่ม ราวๆ 5 นาที เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอันตรายอย่าง โรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook