โรคสมองน้อยฝ่อ ภัยคุกคามที่มาแบบไม่รู้ตัว

โรคสมองน้อยฝ่อ ภัยคุกคามที่มาแบบไม่รู้ตัว

โรคสมองน้อยฝ่อ ภัยคุกคามที่มาแบบไม่รู้ตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบัน มีชื่อโรคหลายโรคที่เราไม่คุ้นหู และไม่คิดว่าโรคแบบนี้จะมีอยู่จริง อย่าง “โรคสมองน้อยฝ่อ” หรือ “ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ” ที่ทําให้สมองสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อไปทีละน้อย จนไม่อาจรักษาสมดุลของร่างกายได้ อาทิ มีอาการเดินเซ หรือต้องการจับปากกา แต่ไม่สามารถทำได้ มีอาการพูดไม่ชัด ซึ่งอาการเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไป ก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

“โรคสมองน้อยฝ่อ” เป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีโอกาสเป็นได้น้อยมาก โดยมากพบในครอบครัวที่เคยมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวเท่านั้น และที่ผ่านมา ปัจจัยภายนอกอย่าง “การใช้ชีวิตประจำวัน” ก็เป็นตัวเร่งความเสื่อมของร่างกายให้เกิดเร็วขึ้นหรือเกิดก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ชีวิตแบบไม่ทะนุถนอมร่างกาย ชอบทำงานหนักเกินไป นอนไม่เป็นเวลา ไม่ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือไม่ออกกำลังกาย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ จะมีตั้งแต่วัยเรียน วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ

และเมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีวิธีการป้องกัน รับมือ หรือรักษาโรคสมองน้อยฝ่อได้อย่างไร โดย ศ.นพ.ประเสริฐ บุญเกิด นายกสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “สิ่งแรกที่เราต้องทำ เมื่อรู้ตัวว่า คุณหรือคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคสมองน้อยฝ่อ คือ การตั้งสติ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และทำใจยอมรับอาการป่วยที่เป็นอยู่ให้ได้ เพื่อให้พร้อมรับมือการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถยับยั้ง หรือรักษาให้หายขาดได้

วิธีสังเกตอาการขั้นต้น ถ้ามีอาการเดินเซ ปากสั่น มือสั่น ไม่ว่าจะเป็นอาการใดอาการหนึ่ง หรืออาการทั้งหมดรวมกัน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านั่น คือ อาการของโรคสมองน้อยฝ่อ และควรรีบไปพบแพทย์ทันที แม้ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้โรคหายขาดได้ และยังไม่มีวิธีฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยให้กลับเป็นปกติดังเดิมด้วย แต่หากตรวจพบเร็ว ก็อาจช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองออกไปได้

สำหรับการดูแลหรือวิธีชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง คือ การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมตามวัย การพักผ่อนที่เพียงพอ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วย คือ “กำลังใจ” ต้องอย่าลืมว่า เดิมทีผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ทุกอย่าง ไม่ว่า จะกินข้าว ขับรถ อาบน้ำ หรือทำงาน จู่ ๆ กลับไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องพึ่งพาคนอื่นแทน เรื่องนี้ย่อมกระทบต่อจิตใจผู้ป่วยอยู่แล้ว และในผู้ป่วยบางคนอาจเกิดอาการน้อยใจ จนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook