วิธีป้องกันอันตรายจาก “ไฟฟ้าดูด-ไฟฟ้าช็อต” ช่วงหน้าฝน

วิธีป้องกันอันตรายจาก “ไฟฟ้าดูด-ไฟฟ้าช็อต” ช่วงหน้าฝน

วิธีป้องกันอันตรายจาก “ไฟฟ้าดูด-ไฟฟ้าช็อต” ช่วงหน้าฝน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อันตรายจากหน้าฝน ไม่ใช่แค่สัตว์อันตรายต่างๆ ที่มาตามท่อระบายน้ำ หรือตามแหล่งธรรมชาติที่ชื้นแฉะ รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บที่ระบาดมากขึ้นในหน้าฝน แต่ยังอันตรายที่เกิดจาดสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองอย่าง “ไฟฟ้า” ที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งร่างกาย และทรัพย์สินมากมายอีกด้วย

อ่านต่อ >> 5 กลุ่มโรคอันตรายที่มากับหน้าฝน

>> เตือนภัยหน้าฝน! งูพิษ 7 ชนิดคนไทยโดนกัดบ่อย-อันตรายถึงชีวิต

 

ทำไมฝนตกทีไร ที่บ้านไฟดับทุกที?

สาเหตุที่ไฟฟ้าดับ เมื่อฝนตก อาจเป็นเพราะช่วงฝนตกมีกิ่งไม้หักทับเสาไฟฟ้าแรงสูง หรืออาจเกิดอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรจนดับไป หรืออาจเกิดจากความชื้นที่เข้าไปทำลายระบบไฟฟ้าผ่านอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพไปตามเวลา จนทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร หรือลูกถ้วยที่รองรับไฟฟ้าแรงสูงเกิดความเสียหายจากอากาศเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น จนร้าวและแตก ทำให้ตัวตัดไฟ หรือฟิวส์ไฟแรงสูงตก กระแสไฟฟ้าไม่สามารถไหลผ่านได้ จนไฟฟ้าไม่พอ และดับในที่สุด นอกจากนี้ยังอาจเกิดอุบัติเหตุฟ้าผ่าหม้อแปลง ที่ทำให้หม้อแปลงระเบิดได้เช่นกัน

คุณเดชา ศิริประเสริฐกุล วิศวกรไฟฟ้า/วิศวกรอิเลกทรอนิกส์ ให้ข้อมูลในรายการวิทยุของคลื่น FM96.5 Thinking Radio ไว้ว่า สาเหตุที่บางพื้นที่ไฟดับบ่อย บางพื้นที่ไฟแทบไม่เคยดับเลย เกิดจากโครงสร้างในการนำจ่ายระบบไฟฟ้าของทั้งการไฟฟ้าภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวงอาจจะมุ้งเน้นในบางส่วน บางพื้นที่ไม่เท่ากัน เช่น ในตัวเมืองอาจมีระบบนำจ่ายไฟฟ้าที่มั่นคง รัดกุม และเตรียมพร้อมไปถึงระบบไฟฟ้าสำรองมากกว่าพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ที่เมื่อระบบไฟฟ้าเสียหายเพียงไม่กี่วินาที อาจสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าค่อนข้างสูง และมีผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ดังนั้นพื้นที่ต่างจังหวัด หรือพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจอาจพบปัญหาไฟฟ้าดับ หรือไฟตกมากกว่าพื้นที่ในเมือง

 

อันตรายจาก “ไฟฟ้าช็อต” ในหน้าฝน

สำนักงานบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงาน หรือ กฟภ. ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ไม่ใช่แค่หน้าฝนที่สามารถเกิดเหตุไฟฟ้าช็อตภายในบ้าน หรือตัวอาคารได้ แต่เมื่อฝนตก ทำให้ตัวบ้าน หรืออาคารอยู่ในภาวะชื้น โครงสร้างที่เป็นเหล็กอย่างขอบประตู หน้าต่าง ก็ได้รับความชื้นไปด้วย ทำให้อยู่ในสภาพเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี บ้านหรืออาคารที่มีโครงสร้างในการสร้างที่ไม่ดี เช่น วัสดุสร้างกำแพง หรือผนังบาง ไม่มีฉนวนกันไฟฟ้า มีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสื่อมโทรมไปตามสภาพจนทำให้พบสายไฟชำรุด หรือมีสายไฟฟ้าที่ปล่อยกระแสไฟฟ้ารั่วอ่อนๆ อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เมื่อเจอเข้ากับโครงสร้างที่เป็นเหล็กที่บ้านที่ได้รับความชื้นมากยิ่งขึ้น จึงทำให้มีโอกาสเกิดไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อตมากยิ่งขึ้น

นอกจะไฟฟ้าอาจจะรั่ว หรือช็อตมากยิ่งขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ แล้ว บางบ้านที่มี่ปัญหาเรื่องไฟฟ้ารั่ว อาจพบว่าในฤดูฝน ค่าไฟฟ้าอาจจะพุ่งสูงมากกว่าฤดูอื่นๆ

อ่านต่อ >> อันตรายจากไฟฟ้าหน้าฝน ป้องกันได้

 

วิธีป้องกันไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อตในในหน้าฝน

  1. ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอยู่เป็นประจำ อย่าให้พบสายไฟฟ้ารั่ว สายไฟฟ้าชำรุด หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เสียหายจากระบบไฟฟ้ารั่ว ถ้าพบให้เรียกช่างมาซ่อม หรือเลิกใช้เครื่องไฟฟ้าเหล่านั้น และอย่าลืมเช็กว่ามีเครื่องตัดไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้านหรือไม่ และต่อสายดินเรียบร้อยหรือไม่ด้วย

  2. หากเรามือเปียก ตัวเปียก อย่าสัมผัสกับสวิทช์ไฟ หรือปลั๊กไฟเด็ดขาด เพราะอาจโดนไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อตได้

  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับโครงสร้างของบ้านที่มีวัสดุทำจากเหล็ก โลหะต่างๆ ที่เปียกชื้นระหว่างฝนตก

  4. สามารถปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขณะฝนตก เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่วได้

  5. ไม่อยู่แหล่งกำเนิดไฟฟ้าขณะฝนตก เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง หม้อแปลง เป็นต้น

  6. ไม่ควรใช้ไฟฟ้าหลายอย่างกับปลั๊กไฟตัวเดียว

  7. ไม่ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเองโดยไม่มีความรู้ เพราะอาจเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วโดยที่เราไม่รู้ตัวได้

  8. อย่าให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเปียกน้ำ (ยกเว้นเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดที่มีการออกแบบการใช้งานที่สามารถโดนน้ำได้)

 

วิธีช่วยเหลือคนที่ถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต

  1. ถ้าผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดอยู่ติดกับสายไฟฟ้า ควรเอาผ้าพันมือ สวมรองเท้า หรือเหยียบบนผ้าแห้งที่มีความหนา แล้วถอดปลั๊กออก หรือหากอยู่ใกล้คัทเอาท์ ให้รีบสับคัทเอาท์เพื่อตัดการนำจ่ายกระแสไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด

  2. หากไม่ทราบว่าแหล่งกำเนิดไฟฟ้าดูด ไฟฟ้ารั่ว อยู่ตรงไหน ให้ใช้วัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ไม้ ผ้า ผลัก หรือฉุดผู้ที่โดนไฟฟ้าดูดออกมาโดยเร็ว อาจต้องใช้แรงมากกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อให้เขาหรือเธอหลุดออกมาจากกระแสไฟฟ้าที่รั่ว (แต่ไม่ต้องแรงมากจนเกินไป อาจเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บขึ้นได้) แล้วรีบสับคัทเอาท์ต่อ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วมาทำร้ายเรา หรือผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ

  3. ตรวจสอบดูที่ร่างกายของผู้ที่โดดไฟฟ้าดูดว่ายังมีสติอยู่หรือไม่ หัวใจยังเต้นเป็นปกติหรือเปล่า ถ้าหัวใจไม่เต้น หรือไม่หายใจ ให้รีบปั้มหัวใจ หรือนวดหัวใจ (ทำ CPR) แล้วรีบนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

อ่านต่อ >> CPR ปั๊มหัวใจ ทำตอนไหน? ทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook