อันตรายจากการล้าง “เนื้อสัตว์” ก่อนปรุงอาหาร

อันตรายจากการล้าง “เนื้อสัตว์” ก่อนปรุงอาหาร

อันตรายจากการล้าง “เนื้อสัตว์” ก่อนปรุงอาหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อกระแสรักสุขภาพเริ่มเป็นที่นิยมในสังคมของเรามากขึ้นเรื่องๆ อาหารที่ทำเองจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะการันตีได้ว่าเราจะได้ทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และมีสารอาหารครบอย่างที่ร่างกายของเราต้องการจริงๆ ทุกคนคงนึกถึงภาพที่เราออกไปจ่ายตลาด นำของสดมาล้าง หั่นเตรียมเอาไว้ และนำไปปรุงให้สุกด้วยวิธีการปรุงอาหารในแบบต่างๆ ได้ มาถึงตรงนี้คงคิดแล้วอาหารในจานคงจะปลอดภัยต่อเราจริงๆ

อย่างไรก็ตาม เชื้อโรคอาจทำร้ายเราระหว่างที่เรากำลังเตรียมอาหารอยู่ก็ได้

ไม่ควรล้างเนื้อสัตว์ก่อนทำอาหาร?

ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (Center for Disease Control) ระบุว่า ไม่ควรนำเนื้อสัตว์มาล้างในอ่าง เพราะการนำเนื้อสัตว์ดิบมาล้างน้ำ จะเป็นการกระจายเชื้อโรคไปสู่ที่ต่างๆ มากขึ้น (เช่น น้ำจากการล้างเนื้อกระเด็นไปโดนก๊อกน้ำ จาน ชาม เขียง ช้อน ส้อม และภาชนะเตรียมอาหารอื่นๆ) เนื้อสัตว์ดิบอาจมีการปนเปื้อนเชื้อซาลโมนาลลา หรืออีโคไลที่ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องร่วง ดังนั้นน้ำล้างเนื้อสัตว์ดิบอาจนำพาเอาเชื้อโรคเหล่านั้นกระจายไปสู่อาหาร หรือข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ทำให้อาหารอื่นๆ ปนเปื้อนเชื้อโรคเหล่านั้นได้โดยไม่ทันระวัง


ไม่ล้างเนื้อสัตว์ก่อนปรุงอาหารได้ด้วยเหรอ?

อันที่จริงแล้ว การล้างเนื้อสัตว์ด้วยน้ำเปล่าก่อนนำมาเตรียม และปรุงอาหาร ไม่ได้ช่วยกำจัดเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียอย่างที่เข้าใจกัน อาจจะทำได้แค่ทำความสะอาดผิวภายนอกเท่านั้น เชื้อโรคเหล่านั้นยังอยู่ที่เนื้อสัตว์เหมือนเดิม การล้างเนื้อสัตว์จากก๊อกน้ำ แล้วน้ำกระเด็นไปสัมผัสกับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาจทำให้ทุกอย่างเกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคโดยที่คุณก็มองไม่เห็น

อ่านต่อ >> จริงหรือไม่? ห้ามล้างไก่สดผ่านน้ำจากก๊อก

 
ก่อนหน้านี้ก็ล้างเนื้อสัตว์ก่อนปรุงอาหารทุกครั้ง ไม่เห็นเป็นอะไร?

ถือว่าเป็นโชคดีของคุณที่ก่อนหน้าที่ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรงมากพอที่จะต่อกรกับเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ถ้าวันใดคุณทานอาหารแล้วมีอาการท้องเสียขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ ขอให้ลองนึกถึงสาเหตุข้อนี้ดูบ้างว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ มีรายงานจากศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาว่า ในแต่ละปี ราว 48 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษ มีผู้ป่วยจำนวน 128,000 คนที่ต้องเข้าโรงพยาบาล และ 3,000 คนที่ต้องเสียชีวิตจากอาหารเป็นพิษ ดังนั้นถ้าวันนี้ยังไม่เป็นอะไร ก็อย่ารอให้ถึงวันนั้นเลยจะดีกว่า


ถ้าไม่ล้างเนื้อสัตว์ก่อนปรุงอาหาร แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรเนื้อสัตว์สะอาด ปราศจากเชื้อโรค?

เชื้อโรคส่วนใหญ่ไม่ได้หายไปจากการล้างน้ำ แต่ตายไปจากการโดนความร้อน ดังนั้นหากอยากให้เนื้อสัตว์ที่ทานปราศจากเชื้อโรคให้ได้มากที่สุด ก็ควรปรุงเนื้อสัตว์ด้วยความร้อน เราไม่จำเป็นต้องทนทานเนื้อสเต็กที่แข็งกระด้างระดับเวลดัน (well done) ทุกครั้ง แต่ขอให้มั่นใจว่าเราใช้ความร้อนให้เหมาะสมกับชนิดของเนื้อสัตว์นั้นๆ

- เนื้อวัว เนื้อลูกวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู ปลา และแฮม ควรทำให้สุกด้วยความร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 63 องศาเซลเซียสขึ้นไป (หลังปรุงสุกแล้ว ควรพักเนื้อราว 3 นาทีก่อนหั่น และก่อนทานด้วย)

- เนื้อบด ทั้งเนื้อวัว เนื้อลูกวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู และจานที่มีไข่เป็นองค์ประกอบ ควรทำให้สุกด้วยความร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 72 องศาเซลเซียสขึ้นไป

- เนื้อไก่ ไก่งวง รวมไปถึงไก่บด เมนูอาหารที่มีการยัดไส้ อุ่นอาหารเก่า และเมนูที่ต้องอบหรือเคี่ยวนานๆ ควรทำให้สุกด้วยความร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 74 องศาเซลเซียสขึ้นไป

นอกจากนี้ควรเก็บเนื้อสัตว์เอาไว้ในช่องแช่แข็งในตู้เย็น ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส ไม่ควรนำเนื้อสัตว์มาตั้งเอาไว้ในอุณหภูมิห้องเกิน 2 ชั่วโมง เพราะเชื้อโรคอาจเจริญเติบโตได้ (ถ้าอากาศร้อนจัด ไม่ควรทิ้งเนื้อสัตว์ไว้นอกช่องแช่แข็งเกิน 1 ชั่วโมง)

สำหรับเนื้อปลาสด หากเราเลือกซื้อปลาที่ขอดเกล็ด และชำแหละล้างเอาไส้ออกไปหมดแล้ว ก็สามารถนำมาปรุงอาหารด้วยความร้อนได้ทันทีโดยไม่ต้องล้างน้ำเปล่าอีกครั้ง แต่หากเป็นเนื้อปลาที่จะทานดิบ ควรเป็นปลาสำหรบทานดิบโดยเฉพาะ ที่มีการแช่ช่องแข็งในอุณหภูมิต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 4 วัน เพื่อฆ่าปรสิต และพยาธิต่างๆ ที่มากับเนื้อปลาดิบ

อ่านต่อ >> เคล็ดลับเลือกซื้อเนื้อสัตว์อย่างไร ไม่เป็นโรค

ดังนั้น ข้อควรระวังคือ ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากร้านค้าที่ล้างทำความสะอาดเนื้อสัตว์มาแล้ว คุณภาพสดใหม่ไม่เหม็นคาว หลังจากนำเนื้อสัตว์บางส่วนมาปรุงอาหาร ก็ควรรีบเก็บเนื้อสัตว์ส่วนที่เหลือเข้าตู้เย็นทันที และควรปรุงเนื้อสัตว์ด้วยความร้อนก่อนทานทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย และพยาธิต่างๆ และอย่าลืมแยกเขียงหั่นอาหารดิบ และอาหารสุกออกจากกันด้วย

อ่านต่อ >> “เขียง” ก่อโรค? อันตรายจากเขียงหากใช้-เก็บรักษาไม่ถูกวิธี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook