พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เปิดให้ประชาชนเข้าชมแล้ว

พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เปิดให้ประชาชนเข้าชมแล้ว

พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เปิดให้ประชาชนเข้าชมแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช

ณ ใจกลางมหานคร บริเวณด้านข้างตรงลานเชื่อมอาคารระหว่างของสยามเซ็นเตอร์กับสยามพารากอน ตรงไปจนสุดทางที่จะไปลานจอดรถ ทางขวามือเยื้องๆ กับโซนร้านอาหารของสยามพารากอน คือ ทางเข้าของ "วังสระปทุม"

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ราวกับหลุดเข้าไปในอีกโลกที่สงบ เขียวชอุ่มด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ทางฝั่งซ้ายที่มองเห็นผ่านสีเขียวของใบไม้เป็นอาคารทรงฝรั่งสีเหลือง "พระตำหนักใหญ่" พระตำหนักที่ประทับของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กระทั่งเสด็จสวรรคต

คุณชวลี อมาตยกุล เลขาธิการและกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เล่าว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอย่างเป็นทางการไปเมื่อปีที่ แล้วเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม แต่เนื่องจากพิพิธภัณฑ์อยู่ในวัง จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้ทุกท่านได้ความรู้อย่างเต็มที่

"คนส่วนใหญ่จะทราบว่าท่านเป็นพระอัยยิกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ทราบว่าท่านทรงทำอะไรให้กับประเทศชาติบ้าง นี่คือเหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอยากให้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปได้ทราบว่า ท่านทำอะไรให้แก่ประเทศชาติบ้าง"

พระตำหนักใหญ่ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์และจัดทำเป็น พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม ถึง 19 ธันวาคม ทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น.

ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท นักเรียน/นักศึกษา 50 บาท โดยผู้ประสงค์จะเข้าชมจะต้องนัดหมายล่วงหน้า ที่ 0-2251-3999 ต่อ 201-202, 02-252-9137 และจะต้องแต่งกายสุภาพเนื่องจากอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน

การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น แบ่งการจัดแสดงเป็น 2 ส่วน คือ ที่ หอนิทรรศการ จัดแสดงเรื่อง สายธารประวัติสว่างวัฒน์พิพิธภัณฑสถาน ซึ่งประกอบไปด้วยพระราชประวัติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และนิทรรศการการบูรณะซ่อมแซมพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม

ขณะที่ พระตำหนักใหญ่ อันเป็นที่ประทับตั้งแต่ พ.ศ.2459 ตราบจนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.2498 นำเสนอภาพเพียงบางส่วนในพระชนม์ชีพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งมีอยู่มากมายและเป็นความทรงจำอันล้ำค่าของทุกชีวิตภายในวังสระปทุม เพราะนับตั้งแต่การออกแบบตัวอาคาร กล่าวกันว่า ทรงคิดผังพระตำหนักด้วยพระองค์เอง ทรงใช้ไม้ขีดไฟบ้าง หางพลูบ้าง ทำเป็นผัง แล้วจึงทรงให้สถาปนิกออกแบบถวายตามพระราชประสงค์

พอก้าวเข้าไปภายในพระตำหนัก ก่อนจะเข้าชมรายละเอียดในแต่ละห้อง จะต้องฝากกระเป๋าสัมภาระ พร้อมกับรับชุดหูฟังเพื่อฟังคำบรรยาย คุณชวลีบอกว่า 2 เดือนของการเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาในปีนี้ ยังถือเป็นการทดลอง คำบรรยายในชุดหูฟังยังมีแค่ภาษาไทย แต่ในปีหน้าจะมีภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามาด้วย

สำหรับการจัดแสดงภายในพระตำหนักใหญ่ แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ

ช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่พระตำหนักสร้างเสร็จแล้ว และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) เสด็จฯ กลับมาจากต่างประเทศมาประทับอยู่

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเสกสมรสแล้ว และมีพระราชธิดาหนึ่งพระองค์ ทรงพาครอบครัวเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ และมาประทับอยู่ที่วังสระปทุมอีกวาระหนึ่ง

ช่วงที่ 3 เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จกลับจากทรงศึกษาวิชาการแพทย์ จากสหรัฐอเมริกาพร้อมครอบครัว มีพระราชโอรสเพิ่มขึ้นอีก 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

นอกจากนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของความรักความผูกพันที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีต่อพระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์

ตัวอย่างเช่น ที่มุม เจ๊กตู้ บริเวณห้องนิทรรศการ ใกล้กับเฉลียงพระตำหนักชั้นบน ซึ่งครั้งนั้นสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้เจ๊กหาบตู้-ภายในบรรจุของเล่นนานาชนิดและขายในราคาถูก เข้าไปขายในวังสระปทุมได้เป็นปกติ ให้พระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ได้ทรงเลือกซื้อ

(บน) สมเด็จพระพันวัสสาฯกับพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ (ล่างซ้าย) พระตำหนักใหญ่กล่าวกันว่าทรงวางผังด้วยองค์เอง (ขวาล่าง) พระราชนัดดาทั้งสามพระองค์

 

เล่ากันว่า เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ไม่ทรงรู้จักธนบัตรไทย เมื่อทอดพระเนตรเห็นในพระหัตถ์สมเด็จฯ ก็กราบทูลถาม สมเด็จฯ ก็ทรงตอบเป็นต้นว่า

"นี่ใบละบาท ไม่เคยเห็นหรือ เอ้าเอาไป...นี่ใบละ 5 บาท เอาไปซี่"

ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับพระราชทานอยู่เป็นนิจ ตั้งแต่ธนบัตรราคาฉบับ 1 บาท 5 บาท 10 บาท 20 บาท

คราวหนึ่งทอดพระเนตรเห็นธนบัตรราคาฉบับละ 100 บาท ก็กราบทูลถามอีก สมเด็จฯ ตรัสว่า

"นี่ใบละ 100...มากไป อย่าเอาเลย"

มีอีกคราว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทอดพระเนตรเห็นเข็มกลัดทำเป็นรูปห่วงโอลิมปิคคล้องกันไว้ 3 ห่วง ทรงโปรดมากเพราะแปลความหมายถึงพระองค์ที่ยังทรงมีห่วง 3 ห่วงคือพระราชนัดดาทั้งสาม จึงทรงซื้อจากเจ๊กตู้ และทรงกลัดติดพระองค์เสมอ เมื่อมีผู้กราบทูลขึ้นว่า ห่วงนั้นเป็นของเก๊ ก็ตรัสว่า "แกกลัดคนเขานึกว่าเก๊ ฉันกลัดคนเขาไม่นึกหรอก"

เรื่องเหล่านี้ชาววังสระปทุมจำไว้เล่ากันไม่รู้ลืม

พระตำหนักใหญ่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่จดทะเบียนสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

โดยเฉพาะบริเวณ เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน เป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประกอบพระราชพิธีอันเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

อีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลต์ของการเข้าชมที่พระตำหนักใหญ่คือ ห้องนิทรรศการที่ชั้นล่างก่อนทางออก ห้องนี้จัดแสดงเอกสารสำคัญ

หนึ่งในนั้นคือ ตู้ที่หลายต่อหลายคนมายืนอ่านด้วยความซาบซึ้ง บางคนถึงกับแอบเช็ดน้ำตา ด้วยเอกสารภายในตู้นั้น เป็นสำเนาเอกสารลายพระหัตถ์สมเด็จพระบรมชนก ขณะยังประทับอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทรงมีถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กราบทูลว่า ทรงพบสตรีที่มีคุณสมบัติที่เพียบพร้อมที่จะเป็นคู่อภิเษก แม้จะเป็นสามัญชนก็ตาม โดยทรงยกเหตุผลและคุณงามความดีทั้ง 10 ประการของสตรีนางนั้นมาแสดง ซึ่งก็คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นั่นเอง


(ซ้ายบน) "เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน" สถานที่ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯทรงเปิดเมื่อ 17 ธันวาคม 2551 (ขวาบน) ห้องพิธี คือห้องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจดทะเบียนสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ซ้ายล่าง) ห้องรับแขกที่ชั้นล่างพระตำหนักใหญ่ (ขวาล่าง) เจ๊กตู้

หลังจากเดินเที่ยวชมสถานที่แต่ละจุดแล้ว รวมทั้งในส่วนของ "หอนิทรรศการ" (ถ้าเข้าจากประตูวังจะต้องเลี้ยวขวา) ที่พลาดไม่ได้คือ ในส่วนของร้านค้าให้บริการของที่ระลึก เช่น กระเป๋า เสื้อยืด โดยเฉพาะคอลเลคชั่นใหม่รับปีขาล ซึ่งเป็นภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีให้เลือกซื้อหากันแล้ว รวมทั้งมุมที่ให้บริการอาหารว่าง เปิดทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น.

มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาฯยัง มีโครงการฝึกอบรมทำอาหาร-ขนมชาววัง และงานฝีมือ เช่น การประดิษฐ์ดอกไม้ งานพับผ้าเช็ดหน้าเป็นรูปสัตว์ และอื่นๆ อีกมากมาย รายได้ทั้งหมดสมทบทุนการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกา เจ้า และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

เข้าดูกิจกรรมและรายละเอียดเกี่ยวกับมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้ที่เว็บไซต์ www.queensavang.org

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook