อัลตร้าซาวนด์บ่อย…อันตรายกับเจ้าตัวน้อยหรือไม่?

อัลตร้าซาวนด์บ่อย…อันตรายกับเจ้าตัวน้อยหรือไม่?

อัลตร้าซาวนด์บ่อย…อันตรายกับเจ้าตัวน้อยหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าหากจะเปรียบให้เครื่องอัลตร้าซาวด์เป็นเครื่องทำนายสุขภาพก็คงจะไม่ผิดนัก ซึ่งการทำนายทายทักนั้นค่อนข้างแม่นยำ เพราะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำให้เห็นภาพอวัยวะต่างๆ ช่วยให้แพทย์มองเห็นถึงความปกติ หรือผิดปกติ ของอวัยวะทั้งหลาย จึงสามารถช่วยวินิจฉัยโรคได้ เมื่อมองเห็นถึงความผิดปกติ จึงสามารถช่วยวางแผนการรักษาในอนาคตได้อีกด้วย

อัลตร้าซาวด์ทำงานอย่างไร 

อัลตร้าซาวด์คือ คลื่นเสียงความถี่สูงที่ถูกส่งผ่านจากหัวตรวจไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ต้องการตรวจ จากนั้นเครื่องอัลตราซาวด์จะนำคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมานี้แปลงเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นความปกติหรือผิดปกติของอวัยวะนั้น จึงช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคได้ซึ่งการที่จะสะท้อนภาพให้ได้ชัดหรือไม่ อยู่ที่ข้อจำกัดของระยะห่างจากตัวเครื่องไปยังอวัยวะที่ต้องการตรวจ หากอวัยวะที่อยู่ตื้นๆ เช่น ตับ ไตหัวใจ หัวตรวจสามารถมองเห็นได้เลย แต่ถ้าเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกๆ ลงไป อย่างมดลูกหรือรังไข่ จะต้องใช้น้ำเป็นตัวนำ ถ้าคุณผู้หญิงท่านไหนที่เคยตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องเพื่อตรวจมดลูกหรือรังไข่มาแล้วจะทราบดีว่าก่อนจะทำอัลตร้าซาวด์ได้จะต้องรอให้ปวดปัสสาวะเสียก่อนเพื่อช่วยให้มองเห็นภาพได้ชัดเจน

อัลตร้าซาวด์ตรวจอะไรได้บ้าง

เครื่องอัลตร้าซาวด์สามารถนำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคได้หลากหลายสาขาเพราะเครื่อง

อัลตร้าซาวด์สามารถตรวจได้ทุกอวัยวะแต่ที่เราคุ้นเคยและเห็นใช้กันบ่อยๆ ได้แก่ การตรวจทางด้านหัวใจ การตรวจทางสูติวิทยา คือการตรวจคนท้องและทารกในครรภ์ และการตรวจทางนรีเวชวิทยา คือ การตรวจผู้หญิงทั่วไป

อัลตร้าซาวด์ เพื่อนคู่คิดคุณแม่และคุณลูก

สำหรับเครื่องอัลตร้าซาวด์ถือว่ามีประโยชน์มากกับการตรวจทางสูตินรีเวช โดยเฉพาะการตรวจทารกในครรภ์ เพราะสามารถช่วยคำนวณอายุครรภ์ที่แน่นอนเนื่องจากหลายครั้งที่คุณแม่มีประจำเดือนมาไม่ตรง หรือจำรอบเดือนไม่ได้ ทำให้อายุครรภ์คลาดเคลื่อนแต่เครื่องอัลตร้าซาวด์จะช่วยคำนวณอายุครรภ์ที่แน่นอนให้ ซึ่งคุณหมอแนะนำว่า การตรวจอายุครรภ์นี้ ยิ่งมาตรวจเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี หรืออย่างช้าไม่ควรเกิน3 เดือน เพราะจะช่วยติดตามดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้อย่างแม่นยำ สามารถคำนวณได้ว่าเด็กตัวเล็กหรือไม่ มีความผิดปกติจากการเติบโตหรือเปล่า เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 แพทย์จะใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ตรวจดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ ว่ามีอะไรผิดปกติหรือมีความพิการตรงไหนหรือไม่ ถ้ามีจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร  หลังคลอดออกมาแล้วต้องเตรียมตัวเพื่อการรักษาต่อไปอย่างไร เครื่องอัลตร้าซาวด์จึงเป็นเหมือนเครื่องทำนายสุขภาพทั้งคุณแม่และลูกน้อย เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้วางแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผลพลอยได้จากการตรวจอัลตร้าซาวน์ที่คุณพ่อคุณแม่ลุ้นกันนักหนา ก็คือ การได้รู้ว่าลูกของตัวเองเพศอะไร แต่คุณหมอแนะนำว่าถ้าอยากทราบเพศควรรอที่ประมาณเดือนที่ 5 ถึงจะเห็นเพศได้ชัดเจน

อัลตร้าซาวน์บ่อยๆ เป็นอันตรายหรือไม่

ตั้งแต่มีการนำเครื่องอัลตราซาวด์มาใช้ในการตรวจโรคทางการแพทย์ ยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงที่ เกิดจากการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ การทำบ่อยหรือไม่บ่อยแค่ไหน ไม่ได้มีอันตรายอะไร แต่อยู่ที่ความจำเป็นในการตรวจมากกว่าว่าควรทำบ่อยแค่ไหน ซึ่งแพทย์จะต้องดูว่าในการทำแต่ละครั้งแล้วคนไข้จะได้ประโยชน์อะไร ถ้าเป็นการตรวจครรภ์โดยทั่วไปมักตรวจกันเดือนละ 1 ครั้ง หรือถ้าเคสไหนที่ต้องดูแลใกล้ชิดก็อาจจะเป็น 2 สัปดาห์ครั้ง ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของคนไข้แต่ละรายไป แต่อย่างไรก็ดี ทุกอย่างมีข้อจำกัด โรคบางโรคก็ไม่สามารถตรวจได้ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ หรือบางครั้งท่าเด็กก็ไม่เอื้อให้การอัลตร้าซาวด์สามารถมองเห็นได้

อัลตร้าซาวด์4 มิติ

สมัยแรกเริ่ม เครื่องอัลตราซาวด์สามารถมองเห็นภาพทารกได้แบบ 2มิติ คือ ภาพที่มีความกว้างและความยาว มองเห็นได้ทีละระนาบในแต่ละครั้ง  แล้วก็พัฒนามาเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งมีความลึกของภาพ  ทำให้ภาพของทารกดูเหมือนจริงมากยิ่งขึ้น สำหรับการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ คือ การใช้เครื่องเทคโนโลยีรุ่นใหม่ มีซอฟแวร์ที่ทันสมัย ความละเอียดของภาพชัดเจนมากขึ้นโดยเครื่องจะทำการเก็บภาพ 3 มิติแต่ละภาพแล้วแสดงผลเรียงต่อกัน ทำให้เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับภาพยนตร์ จึงทำให้สามารถเห็นใบหน้าทารกได้ชัดเจน ตลอดจนเห็นกิริยาอาการที่ทารกกำลังทำอยู่ในขณะตรวจได้เช่น เคลื่อนไหวใบหน้าไปมา ยกแขน ยกขา ขยับนิ้ว อ้าปาก หาว เป็นต้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะตื่นเต้นมากเวลาที่เห็นอากัปกิริยาต่างๆ ของลูก

เครื่องอัลตร้าซาวด์จึงไม่แช่แค่เทคโนโลยีที่ช่วยคุณหมอทำนายสุขภาพของคนไข้เท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนเครื่องสร้างความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook