คุณแม่คนใหม่ ให้นมลูกแบบมืออาชีพ

คุณแม่คนใหม่ ให้นมลูกแบบมืออาชีพ

คุณแม่คนใหม่ ให้นมลูกแบบมืออาชีพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การให้นมลูก

ก่อนหน้านั้นคุณคิดว่าการให้นมลูกน่าจะเป็นเรื่องง่าย แค่เอาลูกแนบอก แล้วทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง การให้นมลูกกลับไม่ใช่เรื่องง่ายสักนิด เพราะเส้นทางเพื่อให้ลูกแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก

คุณปักใจว่าจะให้ลูกกินนมตัวเองแน่ๆ แต่ตัวลูกหรือแม้แต่ร่างกายของคุณเองกลับไม่ยอมลงแรง ส่งผลให้คุณกังวลเหลือหลายแถมยังเจ็บบริเวณหัวนมอีกด้วย เมื่อปัญหาถาโถมเข้ามาทำให้คุณอยากปรับเปลี่ยนความตั้งใจแรกแล้วหันไปพึ่งนมขวดเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป ครั้นพอคุณรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้สำเร็จลูกก็หันไปกินอาหารเสริมเสียแล้ว ถ้าฉากเหล่านี้ตรงกับสถานการณ์ของคุณในปัจจุบัน ก็ถึงเวลาต้องสลัดความรู้สึกผิดแล้วหันมารื่นรมย์กับการผจญภัยในการให้นมลูกแรกเกิดกันดีกว่า


คุณอาจอยู่ในระหว่างกำลังตัดสินใจว่าควรจะลองให้นมลูกดูอีกครั้งดีไหม หลังจากล้มเหลวในครั้งแรก โซฟีแมคฟาเดน ผู้เชี่ยวชาญการให้นมแม่ อธิบายถึงคุณประโยชน์ของนมแม่เอาไว้ดังนี้
ทำไมต้องให้ลูกกินนมแม่?
เป็นสิ่งที่ดีกับลูก
- นมแม่เต็มไปด้วยภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านมาจากแม่โดยตรง ทำให้ลูกได้รับการปกป้องจากอาการหูติดเชื้อและท้องเสีย นมแม่อุดมไปด้วยโภชนาการอาหาร 40 ชนิด ที่มีความสมดุลจากคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนสำหรับทารก
- นมแม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง เบาหวานและโรคภัยอื่นๆ การค้นคว้าพบว่าทารกที่กินนมแม่มักไม่มีภาวะน้ำหนักเกินพิกัดตอนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รวมถึงลดความเสี่ยงในการเป็นภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบ หรือปัญหาในเรื่องความผิดปกติของฟัน

เป็นสิ่งที่ดีกับแม่
- การให้นมลูกช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนออกซีโตซิน ซึ่งเร่งกระบวนการให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น อีกทั้งทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกหลงรักเบบี้ตัวน้อยซะไม่มี
- แม่ที่ให้นมลูกได้รับการปกป้องจากการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ก่อนวัยหมดประจำเดือน
- สะดวก รวดเร็ว แถมยังประหยัดเพราะไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ ไม่ต้องต้มฆ่าเชื้อ และแน่นอนว่าเป็นของฟรีด้วย

ให้นมลูกอย่างประสบความสำเร็จ
ให้นมตามความต้องการของลูก

การให้ลูกกินนมแม่ต่างจากการให้นมขวดเพราะเมื่อคุณให้นมลูกคุณไม่สามารถนับปริมาณน้ำนมเป็นลิตรได้ ดังนั้นขอแนะนำให้ดูจากลูกแล้วให้นมตามความต้องการเป็นหลักลูกจะเป็นผู้กำหนดปริมาณที่เพียงพอเอง คุณ
ไม่สามารถให้มากหรือน้อยเกินไป ที่สำคัญคือ  อย่ากดดันตัวเองกับการคาดหมายว่าต้องให้นมบ่อยและนานแค่ไหนเพราะทารกแต่ละคนแตกต่างกันไป ในสัปดาห์แรกลูกจะกินนมบ่อย เพื่อกระตุ้นร่างกายแม่ให้ผลิตน้ำนมมากขึ้น ถ้าคุณรู้สึกว่าลูกยังไม่อิ่มหรือคุณเจ็บหัวนมก็อย่าทน ให้ปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลเพื่อให้คำแนะนำช่วยเหลือต่อไป

สลับเต้านม
ตั้งเป้าหมายให้ลูกกินนมจนเกลี้ยงเต้าข้างหนึ่งซึ่งใช้เวลาราว 20 นาที แล้วค่อยเปลี่ยนข้าง จะทำให้ลูกได้รับน้ำนมสำหรับดับกระหายและตามด้วยน้ำนมที่มีไขมันมากขึ้นด้วย

ลองเปลี่ยนท่าเพื่อให้ได้ท่าที่เหมาะสม
ถ้าท่าหนึ่งใช้การไม่ได้ ให้ลองท่าอื่น และนอนตะแคงข้างบนเตียงถือเป็นท่าให้นมที่ดีสำหรับคุณแม่ผู้เหน็ดเหนื่อย แต่ระวังอย่าสบายเกินไปจนเผลอหลับ หรือลองท่า “อุ้มรักบี้” โดยให้ศีรษะลูกอยู่ข้างหน้า เท้าอยู่ข้างหลังใต้แขนแม่ประคองไว้
แต่ไม่ว่าจะเป็นท่าใดที่เหมาะสม สิ่งสำคัญคือลูกควรอมหัวนมแม่ให้ได้ลึกจนถึงลานนม ไม่ใช่อมอยู่แค่หัวนม เพราะนอกจากจะทำให้ลูกได้รับนมไม่เต็มที่แล้ว ยังอาจทำให้หัวนมแม่แตกปวดระบมจนอาจไม่สามารถให้นมลูกต่อได้

ดูแลตัวเอง
ขณะให้นมลูกคุณมักรู้สึกกระหายน้ำเป็นพิเศษ เพราะฮอร์โมนที่ช่วยสร้างน้ำนมทำให้คุณกระหายน้ำ ดังนั้นหาน้ำดื่มใส่แก้ววางไว้เวลาให้นมลูกด้วย ในระหว่างให้นมลูกคุณไม่ควรลดน้ำหนักแบบเต็มพิกัด แต่ให้กินอย่างมีสติและระมัดระวังปฏิกิริยาของลูกจากสิ่งที่คุณกินเข้าไปด้วย เพราะสิ่งที่แม่เลือกกิน ลูกก็ได้กินด้วยนั่นเอง

ปัญหาที่พบเจอบ่อยครั้ง
หากคุณเจอท่าให้นมที่เหมาะสม แต่ยังรู้สึกว่ายังต้องใช้ความพยายามอยู่ ให้อ่านต่อไป

ลูกยังแสดงท่าทีว่าหิวอยู่
นมแม่ผลิตตามหลักอุปสงค์และอุปทานถ้าลูกดูดนมเก่ง น้ำนมแม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของลูก

เจ็บเต้านม
อาการตอนเต้านมกำลังผลิตน้ำนมอาจรู้สึกชาซ่านไปทั่วเต้า แตกต่างจากอาการหัวนมแตกที่แสดงว่าลูกอมหัวนมแม่ไม่ถูกต้องซึ่งจะทำให้รู้สึกปวดแสบบริเวณหัวนมสามารถช่วยให้อาการบรรเทาลงได้ด้วยการให้ความชุ่มชื้นกับหัวนมและฝึกเทคนิคการอมหัวนมใหม่ให้กับลูก
ถ้ารู้สึกเจ็บมาก ให้กินพาราเซตามอลและลองทาครีมที่มีส่วนผสมของลาโนลินเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่หัวนม ถ้าปัญหาคือนมคัดการประคบด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำเย็นจะช่วยได้หรือเอาใบกะหล่ำเย็นๆ ประคบบริเวณเต้าจะช่วยบรรเทาปวดได้เช่นกัน

ต่อมน้ำนมตัน
หากคุณมีอาการต่อมน้ำนมตัน คุณจะคลำเจอก้อนแข็งที่เต้านม ให้สังเกตดูว่าลูกอมหัวนมเข้าปากได้มากพอขณะดูดหรือไม่ เพื่อลูกจะได้ดูดนมออกไปจนหมดเกลี้ยงเต้าเป็นประจำ หมั่นนวดก้อนแข็งวนไปทางหัวนมระหว่างให้นม ถ้าลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้าแล้ว แต่อาการยังอยู่ควรปรึกษาแพทย์

เต้านมอักเสบ
เป็นอาการอักเสบที่เต้านมซึ่งเป็นผลมาจากน้ำนมคัด เนื่องจากการอมหัวนมไม่ถูกวิธีหรือต่อมน้ำนมอุดตัน คุณอาจรู้สึกเจ็บบริเวณเต้านม และมีไข้ พยายามให้นมต่อไป ดื่มของเหลวมากๆ หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์

ความอ่อนล้า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการให้นมเป็นงานหนัก ดังนั้นหาคนช่วยทำอย่างอื่นเท่าที่จะทำได้ เช่นทำความสะอาดบ้าน ทำกับข้าว คุณจะได้มุ่งสมาธิที่การให้นมลูกอย่างเดียว นอนพักผ่อน  พร้อมลูกเวลาที่ลูกหลับ อย่ากังวลกับงานอย่างอื่น เพราะงานให้นมลูกสำคัญที่สุด

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook