5 คำถามสุดฮิตที่แม่ท้องอยากรู้

5 คำถามสุดฮิตที่แม่ท้องอยากรู้

5 คำถามสุดฮิตที่แม่ท้องอยากรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Q 1 : ตอนนี้ลูกในท้องอายุครรภ์เท่าไหร่แล้ว?

A : เรื่องของอายุครรภ์ ตามหลักการเราจะนับตั้งแต่ประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งจะแม่นยำในระดับหนึ่งสำหรับคนที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุก 28 วัน แต่ถ้าประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเราก็ต้องหาวิธีอื่นเพื่อที่จะดูว่าอายุครรภ์เท่าไหร่ สำหรับไตรมาสแรกๆ คุณหมอจะใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ซึ่งให้ผลค่อนข้างแม่นยำ ความคลาดเคลื่อนจะไม่เกิน 1 สัปดาห์ ถ้าสมมติว่าอายุครรภ์คุณแม่น้อยมากก็จะอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด เพื่อวัดขนาดถุงตั้งครรภ์ที่อยู่ในมดลูก แต่วิธีที่ดีกว่าคือรอให้เห็นตัวเด็กแล้วอัลตราซาวนด์ เพื่อวัดขนาดตัวเด็ก ซึ่งเราจะใช้ค่าความยาวของทารก อายุครรภ์จะแม่นยำแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเวลาด้วย สมมติว่าเราวัดความยาวตัวทารกในไตรมาสแรกก็จะแม่นยำกว่าการวัดในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 โดยในไตรมาสที่ 2 และ 3 เราจะใช้น้ำหนักตัวช่วยประมาณอายุครรภ์ โดยคำนวณจาก การวัดเส้นรอบวงศีรษะ เส้นรอบวงท้องและขา แล้วมาคำนวณหาน้ำหนักตัวเด็ก แล้วเทียบกับค่ามาตรฐานค่ะ

 

Q 2 : ลูกเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย?

A : หลังจากที่รู้อายุครรภ์แล้ว คำถามยอดฮิตต่อมาก็คือ “ลูกเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายคะคุณหมอ?” การอัลตร้าซาวนด์ดูลักษณะโครงสร้างเพศทารก ซึ่งโดยปกติจะเริ่มเห็นชัดเจนเมื่ออายุครรภ์ 14-16 สัปดาห์หรือเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 เริ่มจะสามารถพอแยกได้ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้นก็จะชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับท่าของเด็กด้วย ถ้าสมมติว่าเด็กกางขาให้เห็นชัดเจนก็สามารถรู้ได้เลยว่าเพศอะไร แต่ถ้าท่าทางของเด็กไปปิดบังอวัยวะเพศก็อาจทำให้คลาดเคลื่อนได้ หรือคุณแม่ที่หน้าท้องหน้ามากๆ ก็จะทำให้เห็นไม่ชัดเจน

สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะบ่งชี้ต้องทำการเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมก็จะรู้เพศได้โดยอัตโนมัติ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม สามารถรู้เพศได้อย่างแม่นยำ เกือบจะ 100% ยกเว้นแเด็กบางคนที่มีพันธุกรรมเป็นอย่างหนึ่งแต่เพศสภาพภายนอกเป็นอีกเพศ ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติบางอย่าง แต่กรณีนี้จะพบได้น้อยมาก

 

 

Q 3 : ขนาดท้องเล็กไปหรือใหญ่เกินไปไหม?

A : คำถามพวกนี้จะเจอในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 บ่อยๆ เพราะว่าส่วนใหญ่เวลาที่เราบอกใครไปว่าท้อง เขาก็จะเริ่มสังเกตแล้วว่าท้องเราโตไหม และเมื่อไม่ตรงกับที่คนรอบข้างคาดหวังไว้ ก็จะถูกทักแล้ว “ท้องเล็กไปนะ” “ท้องใหญ่ไปนะ”  อาจจะทำให้คุณแม่ก็อาจจะรู้สึกกังวล ซึ่งตามเกณฑ์ทั่วไป มดลูกจะเริ่มโตขึ้นพ้นหัวหน่าว เมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ถ้าตรวจทางหน้าท้องจะเริ่มคลำมดลูกได้ แล้วก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงสะดือ ประมาณ 20 สัปดาห์ หรือ 5 เดือน ถ้าบางคน 5 เดือนท้องยังไม่ออก ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลก แต่ความคาดหวังหรือความเข้าใจของคนทั่วไปคือท้อง 5 เดือนก็ควรใส่ชุดคลุมท้องแล้ว ท้องน่าจะโตแล้ว ซึ่งตรงนี้จะทำให้คุณแม่ยิ่งกังวลไปใหญ่

ส่วนน้ำหนักตัวของทารกในครรภ์ แต่ละครั้งที่คุณหมอนัด หมอจะคลำอยู่แล้ว ว่าเด็กโตตามเกณฑ์หรือเปล่า อีกข้อบ่งชี้ว่าเด็กจะมีน้ำหนักดีไหม ก็คือน้ำหนักของแม่ โดยทั่วไปน้ำหนักของคุณแม่ เราจะดูจากรูปร่างก่อนท้อง เช่น รูปร่างก่อนท้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ ในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรน้ำหนักขึ้น 11-16 กิโลกรัม หรือถ้าคุณแม่ตัวเล็ก BMI น้อยกว่า 18 เราก็ให้เพิ่มน้ำหนักได้มากกว่า 16 กก. แต่ถ้าคุณแม่น้ำหนักเยอะ เราก็จะให้น้ำหนักเพิ่มได้แค่ 6-11 กิโลกรัม

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่ไตรมาสแรกก็นน.ขึ้นเลย 16 กก. แล้วหลังจากนั้นไม่ต้องเพิ่ม แบบนี้ไม่ใช่ จริงๆน้ำหนักควรเพิ่มตามอายุครรภ์ ถ้าเราดูขนาดตัวเด็ก 14 สัปดาห์ อาจจะมีน้ำหนักตัวไม่มาก ดังนั้นถ้าน้ำหนักตัวคุณแม่ยังไม่ขึ้นในไตรมาสแรกก็ไม่ต้องกังวล บางคนบำรุงเต็มที่เลย ก็อาจจะทำให้น้ำหนักขึ้นมากกว่าเกณฑ์ หลังคลอดทำให้น้ำหนักเหลือค้างที่คุณแม่มากกว่าค่ะ

 

Q 4 : กินอะไรดี? ให้ลูกแข็งแรงและฉลาด

A : โดยทั่วไปที่หมอแนะนำคือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินอย่างสมดุล จริงๆ คนท้องไม่ได้ต้องการสารอาหารอะไรเพิ่มเป็นพิเศษ ยกเว้นเรื่องของโฟลิก ที่จะช่วยลดความพิการบางอย่างของทารกได้ ซึ่งปกติคุณหมอก็จะให้เป็นวิตามินเสริมอยู่แล้ว คำแนะนำก็คือ ถ้าเรามีการวางแผนว่าจะตั้งครรภ์ ก็ควรจะได้รับโฟลิกก่อนที่จะตั้งครรภ์ จนถึง 3 เดือนหลังจากที่ตั้งครรภ์ไปแล้ว หลายคนมักจะกังวลว่าถ้าได้รับมากไปจะสะสมหรือเปล่า ซึ่งความจริงส่วนเกินที่ได้จะถูกขับออกไปอยู่แล้ว ไม่สะสมค่ะ ข้อดีของโฟลิกมีอยู่เยอะ เช่น ช่วยในเรื่องระบบประสาท หรือภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งโฟลิกสามารถป้องกันได้

สารอาหารที่ต้องการเสริมอีกตัวหนึ่งก็คือธาตุเหล็ก แต่จะไม่ได้รับตั้งแต่ไตรมาสแรก เพราะว่าธาตุเหล็กบางรูปแบบจะทำให้คลื่นไส้ หมอจึงมักให้เสริมธาตุเหล็กในไตรมาสที่ 2 และ 3  เพราะในแม่ท้องทุกคน ปริมาณน้ำเลือดจะเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเลือดไม่ได้เพิ่มตาม ก็เลยต้องให้ธาตุเหล็กเพื่อบำรุงเม็ดเลือดให้ปริมาณเม็ดเลือดเพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการคลอดต่อไป

 

Q 5 : จะคลอดเมื่อไหร่? จะรู้ได้อย่างไรว่าจะคลอดแล้ว

A : จริงๆไม่มีใครรู้เลยว่าคุณแม่จะคลอดเมื่อไหร่ แต่จะแนะนำว่าคุณแม่ควรสังเกตอาการตัวเองว่าเรามีอาการอะไรผิดปกติบ้าง ทั่วๆ ไปคุณแม่จะรู้วันกำหนดคลอดของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งก็คือวันที่อายุครรภ์ครบ 40 สัปดาห์พอดี แต่ในความเป็นจริง เด็กจะครบกำหนดคลอดได้คือ ช่วงสัปดาห์ที่ 37-42 แต่การที่เรามีวันกำหนดคลอดก็เพื่อการดูแล สมมติคุณแม่จำวันกำหนดคลอดได้ เวลามีปัญหาเกิดเหตุฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาล ไม่ว่าจะที่ไหน ถ้าคุณแม่จำวันกำหนดคลอดได้ คุณหมอก็จะคำนวณได้ว่า ณ วันที่มีปัญหาอายุครรภ์คุณแม่เท่าไหร่แล้ว จะต้องดูแลอย่างไร นี่ก็คือประโยชน์ของวันกำหนดคลอด แต่ไม่ได้หมายถึงต้องคลอดในวันนั้น ส่วนอาการบ่งชี้ว่าจะคลอด คือ เจ็บครรภ์ มีมูกเลือด และน้ำเดิน อาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหรือเกิดขึ้นทีละอาการก็ได้ และไม่ว่าจะเกิดก่อนหรือหลัง 37 สัปดาห์  ให้รีบมาหมอดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูล : พญ.เมสิตา สุขสมานวงศ์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook