กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร Your Dream, We Drive

กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร Your Dream, We Drive

กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร Your Dream, We Drive
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร
Your Dream, We Drive

เคยสงสัยไหมว่าการที่ใครสักคน หรือกลุ่มคนสักกลุ่มหนึ่งอยากจะทำตามฝัน พวกเขามีความสามารถแต่ขาดเงินทุนสนับสนุน ถ้าพวกเขาไม่ยอมแพ้อยากสร้างมันฝันให้เป็นจริงจะต้องทำอย่างไร

หากเป็นเมื่อก่อนเราไม่แน่ใจ แต่ถ้าเป็นสมัยนี้สิ่งที่เรียกว่า ‘Crowdfunding’ อาจจะเป็นตัวเลือกที่ทำให้พวกเขาไปถึงเป้าหมายได้ ในต่างประเทศการระดมทุนสร้างฝันผ่านออนไลน์เกิดขึ้นนานแล้วอย่างเช่นใน kickstarter.com แล้วคนไทยที่มีความฝันเขาควรจะไปที่ไหน คำตอบคือ Asiola.com เพราะนี่เป็นเว็บไซต์ระดมทุนเพื่อคนไทยที่มีฝันโดยที่มี ‘กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร’ เป็นหนึ่งในผู้จัดการแคมเปญ

ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินชื่อของเธอ ในฐานะลูกสาวของเขียว คาราบาว (กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร) หรืออดีตศิลปินค่าย Dojo City กับ Smallroom แต่บางคนอาจไม่รู้ว่าเธอเป็นผู้ก่อตั้ง ‘HAVE YOU HEARD?’ คอนเสิร์ตโปรโมเตอร์ที่นำไลฟ์โชว์ศิลปินนอกกระแสจากต่างประเทศมาแสดงที่กรุงเทพฯ รวมไปถึงเคยทำงานเบื้องหลังในแวดวงโปรดัคชั่น เป็นนักเขียน นักแปล ดังนั้นการเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ดูแลสร้างฝันให้คนอื่นในฐานะผู้จัดการแคมเปญ จึงเป็นอีกความท้าทาย หากมองให้เห็นภาพกิรตรา คือผู้ที่สแกนความฝันว่าโครงการที่เสนอเธอจะช่วยเพิ่มโอกาสหรือผลักดันได้อย่างไรแล้วช่วยตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมีพื้นที่ของ Asiola เป็นที่สร้างโอกาสให้เกิดขึ้น

เมื่อก่อนเราทำงานหลากหลายด้านมาก เคยเป็นศิลปิน เคยทำงานด้านโปรดักชั่น ทำงานโฆษณาโดยอยู่เบื้องหลัง จัดคอนเสิร์ตเชิญศิลปินต่างประเทศนอกกระแสมาแสดง เป็นคอลัมน์นิสต์ เป็นนักแปล กระทั่งวันหนึ่งพี่เจ (มณฑล จิรา) ชวนเข้ามาทำงานที่ Asiola ในฐานะ Campaign Manager ตอนแรกพี่เจเสนอให้เราดูแลแคมเปญที่เกี่ยวกับดนตรี เพื่อช่วยให้ศิลปินได้สร้างผลงาน เราเข้าใจดีว่าเป็นศิลปินก็ต้องอยากมีผลงาน และแคมเปญนี้อาจช่วยให้ศิลปินแต่ละท่านได้ทำผลงานออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ เราเลยตกลงและส่วนตัวเราพอคุ้นเคยกับการระดุมทุนแบบ crowdfunding อยู่แล้ว เพราะเคยเข้าไปศึกษาที่ kickstarter มาก่อนพอรู้ว่าเมืองไทยกำลังจะมีในสิ่งที่เปิดโอกาสให้คนได้สร้างฝันคล้ายๆ กัน เรายิ่งสนใจอยากร่วมงานกับ Asiola

หน้าที่ของ Campaign Manager ค่อนข้างเยอะ แต่สนุก หน้าที่หลักคือ บริหารแคมเปญ เช่นมีคนส่งไอเดียเข้ามานำเสนอ เราก็จะให้คำแนะนำว่าควรทำอย่างไร บางคนไอเดียดี แต่การนำเสนอแคมเปญยังไม่น่าสนใจ เราก็จะช่วยคอมเมนต์กลับไปให้เข้าปรับ หรือให้คำแนะนำว่าควรจะเน้นจุดไหนเพื่อดึงดูดความสนใจของคนอื่นๆ ได้มากขึ้น รวมไปถึงแนะนำเรื่องเงินทุนหรือ funding goal ว่ามันสูงไปไหม ต่ำไปหรือเปล่า ระยะเวลาแคมเปญควรจะนานเท่าไหร่ ผลตอบแทนในแคมเปญต่อผู้ร่วมลงทุนหลากหลายพอไหม รวมไปถึงแคมเปญวีดีโอดีพอสำหรับนำไปใช้ขึ้นบนเว็บหรือยัง โดยรวมเราช่วยดูแลทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ ช่วยปรับพัฒนาทุกอย่าง ซึ่ง Asiola ให้เราดูแลทุกขั้นตอน แต่หากเป็น Kickstarter ต้องดูแลจัดการกันเอง แต่ทาง Asiola จะช่วยดูแลเรื่องเงินระดมทุนเพื่อปกป้องผู้สนับสนุนด้วย จะได้ไม่เกิดกรณีระดมทุนแล้วโดนเชิดเงินหนี เพราะเคยมีกรณีระดมทุนจนได้เงินถึงเป้าใน kickstarter แต่สุดท้ายเจ้าของโครงการหนีหายไปเลยผู้สนับสนุนไปแล้วเรียกร้องอะไรไม่ได้เลย

Campaign Manager เป็นตำแหน่งหน้าที่ที่แปลกใหม่ มันกึ่งๆ Editor แต่ก็ยังมีความ Production อยู่ แรกๆ เราไปช่วยออกกอง ไปช่วยถ่ายวีดีโอ มีส่วนช่วยดูในเรื่องของ Art Direction ดูกราฟฟิกบ้าง เราสนุกที่ได้ทำหลากหลายก็เลยคิดว่ามันน่าสนใจ โชคดีที่ทำงานมาหลายอย่างมีทักษะหลายด้าน เลยปรับตัวกับหน้าที่ใหม่ไม่ยาก แต่สิ่งที่เราคิดว่าท้าทายมากที่สุดน่าจะเป็นการสื่อสารให้คนไทยเข้าใจ คอนเซ็ปต์ของ Crowdfunding ก็เป็นอะไรที่ใหม่มากดังนั้นจะทำยังไงให้แคมเปญออกมาแล้ว คนเข้าใจได้

การทำให้คนรับรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ Asiola ทำอาจเปลี่ยนคำนิดหน่อยก็เข้าใจง่ายขึ้น หากเป็น มิวสิคแคมเปญ เราจะอาจจะไม่นำเสนอว่าเป็นการ crowdfunding แต่ใช้คำว่า pre-order แทน เพราะว่าคนไทยเข้าใจคำนี้มากกว่า ในความหมายของพรีออร์เดอร์ก็คือสั่งจองไปก่อน แต่ยังไม่ได้ของ ซึ่งในคอนเซ็ปต์นี้ คนไทยจะคุ้นเคย แต่กลับกันหากบอกว่า “มาร่วมกับ crowdfunding สำหรับศิลปินคนนี้กัน” คนก็จะงงๆ ว่าอะไร (หัวเราะ) อย่างล่าสุด ศิลปินวง Monomania ที่มาร่วมแคมเปญกับ Asiola ลองประกาศว่าอัลบั้มจะออกอีก 3 เดือน แต่ยังขาดเงินทุนอยู่ หากอยากสนับสนุน Monomania ก็ให้เข้ามาไปที่เว็บไซต์ Asiola เพื่อเข้ามา pre-order อัลบั้ม ถ้ามีคนจองมากพอ Monomania ก็จะได้ทำอัลบั้มให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งปรากฎว่าคนเข้าใจและมีผลตอบรับที่ดี

หน้าที่เราคือต้องมองถึงความเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ตัวอย่างเช่นหากเจ้าของแคมเปญเป็นนักดนตรีหรือศิลปิน เราจะต้องพิจารณาก่อนฝีมือ และฐานแฟนเพลงก่อน ด้วยความที่ crowdfunding มันใหม่มากๆ ถ้ามาเจอวงดนตรีที่ใหม่เกินไปก็อาจจะยากมากๆ ดังนั้นก็อาจจะต้องทำเพลงมาสักพักนึงจนมีฐานแฟนๆ มาบ้าง หรือถ้าเป็นไอเดียอื่นๆ เราก็จะดูว่า มันส่งผลดีต่อคนอื่นไหม เพราะการสร้างแรงจูงใจให้คนสนใจแคมเปญเป็นเรื่องสำคัญ

ลองคิดสลับกันสมมุติว่าคุณเจอแคมเปญสองแคมเปญที่คล้ายกัน แคมเปญแรกของนาย ก. อยากเปิดร้านขายของชำ แต่เป็นร้านขายของชำที่ร้านไหนๆ ก็มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเราอาจจะมองว่าไม่เห็นน่าสนใจเลยไม่สนับสนุน ส่วนแคมเปญนาย ข.บอกว่า เป็นร้านขายของชำที่จำหน่ายสินค้าจากชาวเขาเป็นการช่วยส่งเสริมสร้างรายได้ให้ชาวเขา สินค้าหาซื้อที่ไหนไม่ได้ และรายได้ส่วนหนึ่งจะเอาไปบริจาคต่อยอดให้เกิดการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน แบบนี้เราก็อยากจะสนับสนุน อยากที่จะช่วย

เราอยู่กับ Asiola ตั้งแต่เริ่มต้นวันนี้พอมองเห็นแล้วว่ามีการเติบโต เริ่มมีอีเมลมาเยอะขึ้นเพื่อนำเสนอแคมเปญ แต่ก็ยังมีอีเมลส่งเข้ามาประมาณว่า “ผมอยากได้เงิน 300,000 บาท เพื่อเปิดร้านขายของชำครับ” มันอาจจะผิดเพราะเราไม่ใช่ธนาคาร (หัวเราะ) หรือบางคนส่งไอเดียเข้ามาดีมากอยากทำทัวร์พาไปเที่ยวเมืองไทยที่ Inside มากๆ อยากพานักท่องเที่ยวไปดูวิถีชีวิตชาวบ้านที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีคำถามว่าคนที่เข้ามาสนับสนุนได้อะไร

กรณีนี้ผู้เสนอไอเดียอาจจตีโจทย์ยังไม่แตก เราก็จะช่วยแนะนำให้เขาแก้ปรับไป จนถ้ามันเกิดขึ้นได้จริงระดมจนจนถึงเป้าตั้งก็สร้างฝันได้ ส่วนของ Asiola คิดค่าคอมมิชชั่น 10% ของจำนวนเงินที่ระดมทุนได้ทั้งหมดเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนแคมเปญเช่นทำการตลาด ทำโปรโมท บริหารจัดการด้านต่างๆ ถ้าแคมเปญไม่เกิดก็ไม่ต้องเสียอะไรเลยทั้งเจ้าของโปรเจค และผู้ร่วมลงทุน

เป้าหมายสูงสุดคืออยากให้ Asiola ประสบความสำเร็จ แม้สิ่งนี้จะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่เรามั่นใจว่านี่จะเป็นหนึ่งในช่องทางที่ช่วยให้หลายๆ คนที่มีความสามารถ มีไอเดียดีๆ ได้ทำไอเดียเหล่านั้นให้เกิดขึ้นจริงได้ในทุกวงการไม่ว่าจะวงการเพลง ศิลปะ หรือวงการอื่นๆถ้า Asiola มีส่วนช่วยในการผลักดันเราก็ยินดี

Her Profile

อาชีพ : Campaign Manager
การศึกษา : ปริญญาตรี : Southern New Hampshire University, Faculty of Business ประเทศอเมริกา

Degree Achieved : Bachelor’s of Science in Marketing

After Work

เราพยายามออกกำลังกายอยู่ และพยายามออกไปเจอเพื่อนๆ จริงๆ เพราะช่วงที่ทำงานหนักๆ เลิกงานก็อยากกลับบ้าน ไม่อยากไปไหน (หัวเราะ) ชีวิตเหมือนกับตื่นเช้าทำงานเข้าออฟฟิศ เลิกงานตอนเย็นกลับบ้าน พอผ่านไปหลายๆ เดือน รู้สึกเหมือนหมดพลัง แต่ถึงจะเหนื่อย แต่ก็ต้องออกไปเจอเพื่อนๆ บ้าง หรือไปออกกำลังกายสักหน่อย เป็นการทำให้ตัวเองสดชื่น

ติดตามคอลัมน์อื่นๆ เพิ่มเติม ดาวน์โหลดนิตยสารในเครือจีเอ็มได้แล้วที่   

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook