มาเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัย 1 - 3 ขวบ กันเถอะ

มาเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัย 1 - 3 ขวบ กันเถอะ

มาเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัย 1 - 3 ขวบ กันเถอะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัย 1 - 3 ขวบ กันเถอะ (Toddler development)

เด็กวัย 1 – 3 ขวบ วัยนี้เป็นวัยที่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องภาษาและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ด้านอื่นๆก็มีการพัฒนาเช่นกัน ได้แก่ กล้ามเนื้อ ร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา ดังตาราง

พัฒนาการด้านอารมณ์
“ฉันเป็นฉันเอง”(Autonomy/ independence)
เนื่องจากเด็กสามารถไปไหนมาไหนได้เองมากขึ้น ทำให้มีอิสระ อยากทำอะไรเอง ดังนั้นพฤติกรรม ไม่เอา ไม่ทำ เกิดขึ้นแทบจะทุกวัน เช่น ไม่ยอมให้พ่อแม่ป้อน จะกินเอง จะทำอะไรเองทุกอย่าง เมื่อพ่อแม่ไม่ยอมก็เกิดพฤติกรรมร้องดิ้น อาละวาด นั่นเอง

“หยุดไม่อยู่! อยากได้ อยากทำ” (Impulse control)
ส่วนใหญ่เมื่อถึงวัย 3 ปี เด็กสามารถคุมตนเองได้ระดับหนึ่ง เพราะสามารถรอได้บ้าง หากเคยมีประสบการณ์ว่าบางครั้งต้องรอถึงจะได้รางวัล ซึ่งความสามารถในการคุมตนเองนำไปสู่ การช่วยเหลือตนเองและการฝึกขับถ่าย โดยจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ เด็กลุกนั่งได้คล่องแคล่วและเต็มใจที่จะเข้าห้องน้ำ ส่วนใหญ่กว่าจะทำได้จริงจังก็อายุ 3 ขวบไปแล้ว ส่วนการถอดผ้าอ้อมสำเร็จรูปได้ เด็กส่วนใหญ่มักทำได้ที่อายุ 2.5 ปี

“ความผูกพันแน่นแฟ้นขึ้น” (Attachment)
ความผูกพันที่สร้างขึ้นระหว่างเด็กกับผู้เลี้ยงดู ยังสำคัญ การมีความผูกพันมั่นคง เป็นเรื่องที่จำเป็นต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของเด็กเมื่อโตขึ้น แม้ดูเหมือนเด็กต้องการอิสระและปฏิเสธความช่วยเหลือจากพ่อแม่ แต่เด็กก็ยังต้องการให้พ่อแม่อยู่ใกล้ๆ ถ้าเขาไม่เห็นก็จะหงุดหงิดได้

“หนูเป็นคนแบบนี้” (Temperament)
การที่เด็กมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เผชิญอย่างไร เรียกว่า พื้นอารมณ์ โดยมีเรื่องของพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องบางส่วน Chess and Thomas ได้ติดตามเด็กจำนวนมากกว่า 100 คนและพบ 9 ลักษณะของพื้นอารมณ์ ได้แก่ การปรับตัว, ความ active, อารมณ์, สมาธิ ฯลฯ ได้แบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ เด็กเลี้ยงง่าย(40%) เลี้ยงยาก(10%) แบบผสม และ แบบปรับตัวช้า (15%) ปัญหาการเลี้ยงดู มักเกิดจากการที่ มีความไม่ลงตัวระหว่างพื้นอารมณ์ของเด็ก กับความคาดหวังและบุคลิกภาพของผู้ปกครอง ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรคิดว่าเป็นจากการเลี้ยงที่ไม่ดีเพราะพื้นอารมณ์เป็นเรื่องที่มาจากภายในตัวเด็กเอง ดังนั้นการที่เด็กดื้อไม่เท่ากัน อธิบายจากเรื่องของพื้นอารมณ์ โดยเฉพาะเด็กที่ปรับตัวยากและอารมณ์เสียง่าย ก็มักดื้อมาก

พัฒนาการด้านสติปัญญา
เด็กวัย 1-3 ปีเป็นวัยที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการเรียนรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว เช่น จับ ดู ฟัง มาเป็น การคิดเป็นรูปธรรม มีการลองผิดลองถูก พัฒนามากในช่วงอายุ 18-24 เดือน เริ่มมีการเล่นสมมติ เช่น เอากาละมังมาเป็นหมวก หรือมีการเลียนแบบเหตุการณ์ในอดีต

อายุ 3 ขวบเด็กเริ่มเล่นแบบมีจินตนาการ แต่ก็ยังมีความสามารถทางสติปัญญาจำกัด เช่น คิดไม่ได้ว่าคนอื่นรู้สึกยังไง ยังคงมองโลกแบบตนเองเป็นศูนย์กลางและคิดว่าทุกคนจะรู้สึกเหมือนที่ตนเองรู้สึก มองปัญหาแบบมุมเดียว

ตัวอย่างความสามารถทางเชาว์ปัญญาง่ายๆ (Intellectual abilities)
18 เดือน: ชี้อวัยวะได้ถูกต้อง, เข้าใจเหตุและผลง่ายๆ
24 เดือน: เริ่มคิดเป็นรูปธรรมได้, แก้ปัญหาโดยการลองผิดลองถูก
36 เดือน: ถาม “ทำไม”, ชอบวันพิเศษต่างๆ เช่น วันเกิด, ร้องเพลงง่ายๆได้, พูดทวนเลข 3 ตัวได้

ตัวอย่างความสามารถทางภาษา
18 เดือน: เริ่มดูภาพในหนังสือ, พูดได้ 10-20 คำ, ชี้รูปภาพได้ถูกต้อง, ทำตามคำสั่ง 2 ขั้นตอนต่อเนื่อง
2 ปี: เริ่มพูดได้มากขึ้น ความเข้าใจภาษาจะดีกว่าการใช้ภาษา โดยการพัฒนาภาษาของเด็กวัยนี้เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู หากพ่อแม่ได้มีเวลาอ่านนิทานกับลูกทุกวันมักทำให้พัฒนาได้ดีขึ้น
36 เดือน: พูดเป็นประโยค 4-5 คำได้, เล่าเรื่อง

พัฒนาการด้านร่างกาย

“หนูโตเร็วแค่ไหนนะ”
เริ่มมีอัตราการเจริญเติบโตช้าลง หลังอายุ 2 ปี น้ำหนักเพิ่มขึ้น 2-2.5 กิโลกรัม/ปี สูงขึ้น 6-7 เซนติเมตร/ปี รอบหัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.5 เซนติเมตรในช่วงอายุ 2-12 ปี อย่างไรก็ตามเด็กวัยนี้ ไม่ควรมีน้ำหนักเท่าเดิมนานเป็นสัปดาห์ ส่วนความสูงที่เพิ่มขึ้นในเด็กปฐมวัยมักเกิดจากการยืดของช่วงล่างมากกว่าช่วงกลางลำตัว มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น และมวลไขมันลดลง ทำให้เด็กวัยนี้ดูเหมือนตัวยืดขึ้น

“การเคลื่อนไหวของหนู”
18 เดือน: เดินได้เร็วขึ้น ไม่ค่อยล้ม, วิ่งแบบแข็งๆ, เดินขึ้นบันได มือเดียวจับ, ปีนขึ้นเก้าอี้
24 เดือน: วิ่งเร็วขึ้น, เดินขึ้นลงบันไดตามลำพัง, เตะบอลลูกใหญ่
36 เดือน: เดินขึ้นบันไดสลับเท้า, ขี่รถสามล้อ, ยืนขาเดียวได้ช่วงสั้นๆ

“กล้ามเนื้อมัดเล็กหนูเป็นยังไง”

18 เดือน: ต่อก้อนไม้ 4 ชั้น, ใส่ก้อนไม้ลงถ้วย, ขีดเขียนยุกยิก
24 เดือน: ต่อก้อนไม้ 5-6 ชั้น, ขีดเส้นตรงได้, ใส่รูปทรงถูกต้อง
36 เดือน: ต่อก้อนไม้ 9-10 ชั้น, ลอกรูปวงกลม

 

(อ้างอิงบางส่วนจากวารสาร Pediatrics in Review)
พญ.สินดี จำเริญนุสิต
กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม
โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook