โรคจิตจากเอฟีดรีน

โรคจิตจากเอฟีดรีน

โรคจิตจากเอฟีดรีน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โดย นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ประธานวิชาการ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และ นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย โรคจิตคืออะไร โรคจิตเป็นคำที่ใช้กับโรคทางจิตเวชหลายโรคที่มีอาการหลงผิด (เช่น หวาดระแวงว่าคนอื่นจะมาทำร้าย เชื่อว่าตนเองมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์) และประสาทหลอน (เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน) เป็นอาการหลัก โรคจิตที่มีการกล่าวถึงบ่อย คือ โรคจิตเภท เพราะโรคนี้นอกจากจะรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในสังคมแล้วยังมีแนวโน้มที่จะป่วยแบบเรื้อรังด้วย ในปัจจุบันเรามักแบ่งโรคจิตออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ไม่ได้เกิดจากโรคทางกายและไม่ได้เกิดจากการใช้สารใดๆ เช่น โรคจิตเภท และกลุ่มที่เกิดจากโรคทางกายหรือการใช้สารต่างๆ โรคจิตเกิดขึ้นได้อย่างไร ในปัจจุบัน เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคจิตที่ไม่ได้เกิดจากโรคทางกายและการใช้สาร แต่ผลการศึกษาส่วนใหญ่สนับสนุนว่ากรรมพันธุ์มีส่วนอย่างมากในการทำให้ป่วยเป็นโรคจิตเภท สำหรับโรคจิตที่เกิดจากโรคทางกายอาจเกิดจากโรคของสมองหรือโรคทางกายที่มีผลต่อสมอง ซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดปกติด้านโครงสร้างหรือการทำงานของสมอง เช่น โรคลมชัก ส่วนโรคจิตที่เกิดจากการใช้สาร อาจเกิดจากการใช้ยารักษาโรคหรือยาเสพติดบางชนิด ซึ่งทำให้สมองทำงานผิดปกติ หรือในกรณีที่ใช้สารที่เป็นพิษรุนแรงและต่อเนื่อง เช่น สารระเหย สมองบางส่วนอาจถูกทำลายอย่างถาวรได้ โรคจิตจากการใช้สาร ไม่ว่าโรคจิตจะเกิดจากสาเหตุใด อาการโรคจิตที่เกิดขึ้นมักไม่แตกต่างกัน แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยจึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะหาสาเหตุจากโรคทางกายและการใช้สารเป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งหากไม่พบก็มักสรุปว่าผู้ป่วยป่วยเป็นโรคจิตชนิดที่ไม่ได้เกิดจากโรคทางกายหรือการใช้สาร ซึ่งในกรณีนี้ หากป่วยเรื้อรังเกิน 6 เดือน ผู้ป่วยรายนั้นก็เข้าได้กับโรคจิตเภท แต่หากแพทย์สามารถตรวจพบโรคทางกายหรือสารที่น่าจะเป็นสาเหตุของอาการโรคจิต ผู้ป่วยรายนั้นก็จะได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคจิตจากสาเหตุทางกายหรือโรคจิตจากการใช้สาร สารอะไรบ้างที่อาจทำให้เกิดอาการโรคจิต ดังกล่าวแล้วว่า ยารักษาโรคและยาเสพติดบางชนิดสามารถก่อให้เกิดอาการโรคจิตได้ แม้ว่าสุราก็สามารถทำให้เกิดอาการโรคจิตได้ (ส่วนใหญ่ในระยะถอนสุรา) แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ยาเสพติดที่พบบ่อยว่าทำให้เกิดอาการโรคจิต คือ ยากระตุ้นประสาทชนิดต่างๆ เช่น แอมเฟตามีน (หรือยาบ้า) ซึ่งมีฤทธิ์ค่อนข้างแรงจึงทำให้เกิดอาการโรคจิตได้เร็วและง่าย แม้ว่าจะเสพไม่มากหรือไม่นาน สำหรับยากระตุ้นประสาทอื่นๆ เช่น ยาอี ก็สามารถทำให้เกิดอาการโรคจิตได้เช่นกัน นอกจากนี้ผู้ที่ใช้ยาลดความอ้วน โดยเฉพาะเฟนเตอร์มีน ก็อาจมีอาการโรคจิตได้ เอฟีดรีนคืออะไร เอฟีดรีนเป็นสารที่มีโครงสร้างและออกฤทธิ์คล้ายแอมเฟตามีน ในขณะที่แอมเฟตามีนออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางมากกว่าระบบประสาทส่วนปลาย เอฟีดรีนออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนปลายมากกว่าระบบประสาทส่วนกลาง เอฟีดรีนจึงมีฤทธิ์ในการเพิ่มความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจมากกว่าฤทธิ์ที่ออกต่อจิตประสาท ในอดีตเอฟีดรีนเป็นยาตัวหนึ่งที่สามารถใช้รักษาโรคหอบหืดได้ แต่ในปัจจุบันยารักษาโรคหอบหืดที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงมีเพิ่มมากขึ้น การใช้เอฟีดรีนเพื่อรักษาโรคหอบหืดจึงไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ขณะนี้เอฟีดรีนจึงยังคงมีการใช้อยู่บ้างในรูปของยาหยดใส่จมูกเพื่อลดอาการคัดจมูก สำหรับในรูปของยาฉีดนั้น วิสัญญีแพทย์เกือบจะเป็นแพทย์กลุ่มเดียวที่ยังคงใช้เอฟีดรีนชนิดฉีดอยู่ โดยใช้เพื่อเพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำจากการได้รับยาชาทางไขสันหลัง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยได้จัดให้เอฟีดรีนเป็นสารในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 เช่นเดียวกับยากระตุ้นประสาทอื่นๆ เช่น เฟนเตอร์มีนที่เป็นยาลดความอ้วน และเมทธิลฟินิเดทที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น ซึ่งลักษณะสำคัญของสารในกลุ่มนี้ คือ เป็นสารที่จำเป็นสำหรับการรักษาผู้ป่วย แต่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อจิตประสาทและถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ ยากลุ่มนี้จึงถูกควบคุมพิเศษ ผู้ใช้ยาไม่สามารถสั่งซื้อยาจากผู้ผลิตได้โดยตรง แต่หากต้องการสั่งซื้อจะต้องขึ้นทะเบียนและทำการสั่งซื้อยาผ่านทาง อย.เท่านั้น นอกจากเอฟีดรีนในรูปของยาแล้ว สารนี้ยังพบได้ในสมุนไพรต่างๆ (เช่น Ma Huang ซึ่งเป็นสมุนไพรจีนที่ใช้กันมานานกว่า 5,000 ปีแล้ว) และอาหารเสริมบางชนิดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีรายงานการเสียชีวิตและผลเสียทางสุขภาพหลายราย องค์การอาหารและยาในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาจึงได้สั่งห้ามจำหน่ายอาหารเสริมที่มีเอฟีดรีนเป็นส่วนประกอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากสารนี้ยังเป็นที่ต้องการสำหรับผู้ที่ประสงค์จะลดน้ำหนักและใช้เป็นยาโด๊ป การแอบจำหน่ายสารนี้อย่างผิดกฎหมายจึงยังคงมีอยู่ในหลายประเทศ เอฟีดรีนสามารถทำให้เกิดอาการโรคจิตได้หรือไม่ ภาวะแทรกซ้อนทางจิตเวชที่สำคัญของการใช้เอฟีดรีน คือ อาการโรคจิตและอารมณ์แปรปรวน ซึ่งในประเทศไทยเท่าที่ทราบ ยังไม่มีผู้ใดได้รายงานเรื่องโรคจิตจากเอฟีดรีนลงในวารสารทางการแพทย์มาก่อน แต่ในต่างประเทศได้มีรายงานในเรื่องนี้อยู่บ้าง เช่น Herridge และ A"Brook ได้รายงานผู้ป่วยโรคจิตจากเอฟีดรีนเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1968 จากนั้นก็มีรายงานเพิ่มเติมอีก 2 รายงานในปี ค.ศ.1977 และ 2004 ส่วนผู้ป่วยที่ได้สารเอฟีดรีนแล้วมีอาการเด่นในแง่ของอารมณ์แปรปรวนนั้นก็มีผู้รายงานไว้เมื่อปี ค.ศ.2002 และ 2004 เช่นกัน โดยมีอาการคล้ายคลึงกับผู้ป่วยแมเนีย (mania) คือ มีอารมณ์ครื้นเครงหรือหงุดหงิด ร่วมไปกับมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง, พูดมาก, นอนน้อย และใช้จ่ายเงินมากผิดปกติ ซึ่งอาจแสดงออกในลักษณะของการใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือย, การแจก หรือการบริจาคก็ได้ เนื่องจากเอฟีดรีนเป็นสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางที่ไม่รุนแรงเหมือนแอมเฟตามีน โอกาสที่จะก่อให้เกิดอาการโรคจิตจึงมีน้อยมาก อาการโรคจิตจากเอฟีดรีนที่เกิดขึ้นจึงมักเกิดในกรณีที่ใช้ยาในขนาดสูง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย (เช่น เส้นเลือดแตกในสมอง) ก่อนที่จะเกิดอาการทางจิตประสาท นอกจากนี้การใช้เอฟีดรีนในทางที่ผิด เช่น ใช้เป็นยาเสพติด ก็พบได้น้อยมาก จากเหตุผลดังกล่าวจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมโรคจิตจากเอฟีดรีนจึงเป็นปัญหาที่พบได้น้อยมาก ในระยะยาวผู้ป่วยโรคจิตจากเอฟีดรีนจะเป็นอย่างไร เนื่องจากโรคจิตจากเอฟีดรีนพบได้น้อยมาก องค์ความรู้ในเรื่องนี้จึงมีอยู่น้อยมากไปด้วยเช่นกัน การรักษาและการพยากรณ์โรคของโรคจิตจากเอฟีดรีนจึงอาจต้องใช้องค์ความรู้ที่ใกล้เคียงมาเป็นแนวทาง โดยเหตุที่เอฟีดรีนมีฤทธิ์คล้ายแอมเฟตามีนและเฟนเตอร์มีน (แม้ว่าจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางน้อยกว่า) โรคจิตจากเอฟีดรีนจึงน่าจะคล้ายคลึงกับโรคจิตจากแอมเฟตามีน แต่รุนแรงน้อยกว่า และเนื่องจากโรคจิตที่เกิดจากสารจะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่เกิดการเป็นพิษ (intoxication) หรือการถอนยา (withdrawal) ดังนั้นอาการโรคจิตของผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงน่าจะหายไปอย่างสิ้นเชิงภายใน 4 สัปดาห์หลังการหยุดใช้เอฟีดริน อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องควรทราบด้วยว่าในทางการแพทย์ไม่มีอะไรแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้สารบางรายจึงอาจมีอาการโรคจิตต่อเนื่องหลังหยุดการใช้สารแล้วเกิน 4 สัปดาห์ก็ได้ บทสรุป โรคจิตจากเอฟีดรีนน่าจะถือว่าใกล้เคียงกับโรคจิตจากยาลดความอ้วน ผู้ป่วยมีโอกาสสูงมากที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องและสังคมจึงควรให้การประคับประคองผู้ป่วยเพื่อให้สามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้โดยไม่เกิดปัญหาด้านการปรับตัวต่อสังคมเมื่อหายป่วยแล้ว

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ โรคจิตจากเอฟีดรีน

โรคจิตจากเอฟีดรีน
โรคจิตจากเอฟีดรีน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook