เชื้อรามรณะPseudallescheria boydii

เชื้อรามรณะPseudallescheria boydii

เชื้อรามรณะPseudallescheria boydii
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากข่าวในสื่อต่างๆ ที่กำลังได้รับความสนใจ และความห่วงใยของกลุ่มวัยรุ่นต่ออาการของ บิ๊ก ดีทูบี ในขณะนี้ กรณีการเกิดอุบัติเหตุรถจมน้ำแต่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จากหน่วยกู้ภัยและคณะแพทย์จนอาการดีขึ้นนั้น แต่ท้ายที่สุดอาการของ บิ๊ก ดีทูบี ก็เลวร้ายลงและอยู่ในขั้นโคม่าอีก ครั้งจากสาเหตุ การติดเชื้อรามรณะในสมอง หลังจากนั้น ทางคณะแพทย์ผู้รักษาได้ทำการตรวจสมอง (Computed Tomogarphy) พบว่ามีฝีเกิดขึ้นและมีการขยายลุกลามเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนหลายจุดในวันถัดมา การผ่าตัดเพื่อกำจัดฝีที่เกิดขึ้นออกจากสมองพบว่ามีเส้นใยของเชื้อราปนเปื้อนอยู่ด้วย ดังนั้นจึงได้มีการเพาะเชื้อราเพื่อการจำแนกถึงชนิด ทั้งนี้เนื่องจากจุลินทรีย์ในกลุ่มรานั้นมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ซึ่งการใช้ยารักษาเชื้อราแต่ละชนิดก็จะมีความแตกต่างกันไป ดังนั้นการจำแนกถึงชนิดของราและการใช้ยาให้ถูกชนิด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด และผลจากการตรวจสอบพบว่า เชื้อรามรณะชนิดนี้ คือ Pseudallescheria boydii เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นที่สะเทือนใจต่อครอบครัวและผู้ที่ชื่นชอบ บิ๊ก ดีทูบี เป็นอย่างมาก จากจำนวนของวัยรุ่นที่มาให้กำลังใจ จำนวนของนกกระเรียนกระดาษที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างเป็นตัวบ่งชี้ถึงกำลังใจที่มีให้ต่อ บิ๊ก ดีทูบี ทุกคนต่างหวังให้เกิดปาฏิหาริย์ว่าอาการของบิ๊กจะดีขึ้น และหายเป็นปกติในที่สุด ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนในด้านต่างๆ มากมายที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของเชื้อรามรณะชนิดนี้ที่กำลังถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ห้องปฏิบัติการราวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ภายใต้ทุนการสนับสนุนการวิจัยจากโครงการ BRT (สนับสนุนงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและไบโอเทค) เรื่องการศึกษาความหลากหลายของราในประเทศไทย จึงอยากจะขอร่วมอธิบายถึงรายละเอียดทางวิชาการ เพื่อเป็นความรู้และความเข้าใจของเชื้อราชนิดนี้แก่ผู้ที่สนใจ ตลอดจนเพื่อการป้องกันและหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคตไม่ว่ากับผู้ใดก็ตาม เชื้อรา Pseudallescheria boydii (Shear) McGinnis ถูกรายงานครั้งแรกในโลกในชื่อของ Allescheria boydii Shear ในปี 1922 โดยทำการแยกเชื้อราได้จากผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อชนิดนี้ และต่อมาในปี 1943 ได้มีการแยกเชื้อราชนิดนี้จากการติดเชื้อในคนเช่นเดียวกัน แต่มีการตั้งชื่อเป็นราในสกุลใหม่ว่า Pseudallescheria shearii อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่า ราทั้งสองชนิดนั้นเป็น ราชนิดเดียวกัน จึงตั้งชื่อเชื้อราตัวนี้ใหม่ว่า Pseudallescheria boydii และมีการใช้ชื่อนี้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน เชื้อราจัดเป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิต ที่มีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตในกลุ่มอื่น ตรงที่ราหนึ่งชนิดจะมีได้สองรูปแบบที่แตกต่างกันจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ เช่นเดียวกับเชื้อรา Pseudallescheria boydii ที่เป็นราที่อยู่ในระยะที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (Sexual stage) จัดอยู่ในกลุ่ม Ascomycetes มีการสร้างถุงที่ห่อหุ้มสปอร์ แบบ Cleistothecia ในขณะที่รูปแบบของเชื้อราชนิดนี้มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (Asexual stage) จะมีลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นมาคือมีสองรูปแบบที่ต่างกันไป โดยชนิดแรกจัดอยู่ใน Genus Garphium (ดังที่เราเห็นจากภาพตัวอย่างของเชื้อราที่ลงในสื่อต่างๆของบิ๊ก) และอีกชนิดหนึ่งคือ Scedosporium apiospermum ในธรรมชาติ P. boydii ทำหน้าที่ในการย่อยสลายอินทรียวัตถุ (Saprophyte) และไม่ถูกจัดว่าเป็นเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคโดยตรง แต่จัดเป็นเชื้อราชนิดที่ฉวยโอกาสในการก่อให้เกิดโรค (opportunistic fungus) โดยมีรายงานการพบเชื้อราชนิดนี้จากทั่วโลกในแหล่งต่างๆ ตามธรรมชาติมากมายโดยเฉพาะในแหล่งที่มีการสะสมของสารอาหารและการเน่าเปื่อยของอินทรียวัตถุ เช่น เศษซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ ตลอดจนสิ่งโสโครกและมลพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในดินและในแหล่งน้ำที่มีการถ่ายเทของออกซิเจนน้อย เช่น ในน้ำครำ หรือน้ำเน่าเสียในแหล่งมลภาวะต่างๆ เหมือนกับสถานที่เกิดอุบัติเหตุของ บิ๊ก ดีทูบี ที่รถจมลงในบริเวณของน้ำเน่าเสีย ซึ่งคาดว่าร่างกายอาจจะได้รับเชื้อ เช่นเดียวกับรายงานของผู้ที่ติดเชื้อในต่างประเทศส่วนใหญ่ ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่คาดว่าจะพบเชื้อราชนิดนี้ โดยการได้รับเชื้อจากทางบาดแผลหรือรายงานของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นหลังจากการจมน้ำ ราชนิดนี้มีรายงานการทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผิวหนัง เนื้อเยื่อ และอวัยวะในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต สมอง และตา โดยเฉพาะในคนที่อยู่ในภาวะที่มีภูมิต้านทานของร่างกายต่ำและมีความอ่อนแอ เช่น คนที่เป็น AIDS และจากการที่เชื้อราชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 30-37 ํC กอปรกับส่วนต่างๆ ภายในร่างกายเป็นแหล่งอาหารที่ประกอบไปด้วยโปรตีนและไขมันมากมาย ทำให้ราชนิดนี้สามารถเจริญและดูดซึมอวัยวะและเนื้อเยื่อ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ในกรณีรายงานของเชื้อราชนิดนี้เข้าทำลายสมองมีน้อยมากในโลก โดยมีจำนวนของผู้ป่วยที่ถูกเชื้อราชนิดนี้ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System : CNS) เพียง 25 ราย ตั้งแต่ปี 1953 โดยในจำนวนนี้เสียชีวิต 18 คน ผู้ป่วยอีก 6 คนรอดชีวิต และอีก 1 คน ขาดการติดต่อ ซึ่งเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จในการรักษาเชื้อราชนิดนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกันคือ ภูมิต้านทานของผู้ป่วยเอง การวินิจฉัยสาเหตุของโรคที่ทันท่วงที เนื่องจากลักษณะอาการของคนที่ติดเชื้อราชนิดนี้ (Pseudallescheriasis) จะมีความคล้ายคลึงกับเชื้อราที่เกิดจากเชื้อ Aspergillus (Aspergillosis) ดังนั้นจึงทำให้การรักษาไม่ได้ผล จากการดื้อยา amphotericin B ที่ไม่สามารถใช้กับ P.boydii ได้เหมือนกับยาที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราทั่วๆ ไปได้ อีกทั้งการจำแนกลักษณะของเส้นใยของราชนิดนี้ในเนื้อเยื่อมีความคล้ายคลึงกับราที่สร้างเส้นใยชนิดอื่น ทำให้การวินิจฉัยผิดพลาด ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้การวิเคราะห์ผลไม่ทันท่วงทีและทำให้เปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของผู้ป่วยลดลง เนื่องจากเชื้อรามีการทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายไปมากแล้ว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ในหลายๆ ด้านถึงสิ่งต่างๆ ที่ต้องแก้ไขและพัฒนาในบ้านเรา ตั้งแต่การรักษาและการจัดการสภาพแวดล้อมให้มีความสะอาด ปราศจากการสะสมของแหล่งจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะจุลินทรีย์ในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มของราที่มีอยู่อย่างมากมายในประเทศของเรา แต่เรายังไม่รู้จักอีกเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับเหรียญที่มีสองด้าน เชื้อราบางชนิดก่อให้เกิดโรคและอาจทำให้ถึงตายได้ ในขณะที่ยังมีราอีกหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล ถ้าเราศึกษาสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านเราเป็นอย่างดีแล้ว นอกจากจะสามารถช่วยในการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว ยังสามารถนำมาศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ให้เกิดแก่ประเทศชาติของเราต่อไปได้ในอนาคต

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ เชื้อรามรณะPseudallescheria boydii

เชื้อรามรณะPseudallescheria boydii
เชื้อรามรณะPseudallescheria boydii
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook