“โรงหนังสกาลา” สถาปัตยกรรมโมเดิร์นนิสต์ อีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญกลางกรุง
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/wo/0/ud/44/221621/221621-thumbnail.jpg“โรงหนังสกาลา” สถาปัตยกรรมโมเดิร์นนิสต์ อีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญกลางกรุง

    “โรงหนังสกาลา” สถาปัตยกรรมโมเดิร์นนิสต์ อีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญกลางกรุง

    2020-07-03T13:00:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    เป็นที่แน่นอนแล้วว่าโรงภาพยนตร์สกาลา หรือโรงหนังสกาลาจะปิดตัวลง โดยในระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2563 นี้จะมีงาน “LA SCALA ลาสกาลา” กับการร่ำลาโรงหนังที่เปิดให้บริการมากว่า 50 ปีอย่างเป็นทางการ โดยในวันที่ 3 โรงภาพยนตร์สกาลาจะเปิดไฟทุกดวงเพื่อให้ทุกคนได้มาเก็บภาพความทรงจำเป็นครั้งสุดท้าย นอกจากนั้น หอภาพยนตร์ยังคัดสรรภาพยนตร์มาฉายส่งท้ายในวันที่ 4 และ 5 อีกด้วย

    ไม่เพียงแค่โรงหนังสกาลาจะเป็นโรงภาพยนตร์สแตนอะโลนที่ฉายภาพยนตร์หลากหลายเท่านั้น แต่ด้วยตัวอาคารของสกาลาเองก็ออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์โดดเด่น จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2555 โรงภาพยนตร์สกาลาได้รับรางวัล “อนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555” จากสมาคมสถาปนิกในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องจากตัวอาคารได้รับการดูแลเป็นอย่างดี สวยงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มายาวนานกว่า 50 ปี

    โรงหนังสกาลาเป็นหนึ่งในโรงภาพยนตร์เครือ  APEX  (ตั้งชื่อตามโรงอุปรากร ลาสกาลา (Teatro alla Scala) ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ย่านสยามสแควร์ ประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์สยามซึ่งขณะนี้ปิดตัวไปแล้ว โรงภาพยนตร์ลิโด ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น LIDO CONNECT และโรงภาพยนตร์สกาลา

    สำหรับการออกแบบโรงภาพยนตร์สกาลานั้นได้รับการออกแบบโดย พอ.(พิเศษ) จิระ ศิลป์กนก สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากโรงภาพยนตร์สกาลาแล้วพอ.(พิเศษ) จิระ ศิลป์กนกยังเป็นผู้ออกแบบตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล โรงแรมอินทรา โรงแรมรินคำ จังหวัดเชียงใหม่ โดยโรงภาพยนตร์นั้นสร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2512

    ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโรงภาพยนตร์สกาลานั้นอยู่ในรูปแบบ Late Modernist ผสมกับการประดับลวดลายแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ด้านหน้าอาคารยกพื้นขึ้นสูงเปิดเป็นทางเข้า โดยใช้ลักษณะของซุ้มโค้ง ภายในชั้นบนบริเวณทางเข้าชมภาพยนตร์มีลักษณะโครงสร้างทรงโค้งมีเสารองรับตามจุดต่างๆ เพดานระหว่างเสาประดับเป็นรูปคล้ายเฟือง ขนาดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นลักษณะเฉพาะของโรงภาพยนตร์สกาลา นอกจากนั้นยังมีโคมไฟระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้นขนาดยักษ์ที่สั่งตรงจากอิตาลี บริเวณหน้าทางเข้าโรงหนังมีปูนปั้นลอยตัวที่แสดงถึงความบันเทิงของเอเชีย ซึ่งมีทั้งบาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไทย รวมอยู่บนผนัง

    จากอดีตมาจนถึงปัจจุบันโรงหนังสกาลาผ่านการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมาแล้วหลายรอบเช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์อื่นๆ ในเครือเดียวกัน แต่ปัจจุบันโรงหนังสกาลาก็ยังคงอยู่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของสยามสแควร์ ซึ่งทำให้ในปี พ.ศ. 2555 โรงภาพยนตร์สกาลาได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม นอกจากนั้นความสวยงามของสถาปัตยกรรมของโรงหนังสกาลายังได้รับการกล่าวถึงมาจนปัจจุบัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าโรงหนังสกาลาเป็นโรงภาพยนตร์สแตนอ์อะโลนสไตล์โมเดิร์นนิสต์แห่งสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย

     

     

    อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ “โรงหนังสกาลา” สถาปัตยกรรมโมเดิร์นนิสต์ อีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญกลางกรุง

    ขอขอบคุณ

    ข้อมูล :asaconservationaward,wikipedia