ปลอดภัยรับเปิดเทอม แนะ 7 จุดเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องเช็กให้ชัวร์ก่อนใช้

ปลอดภัยรับเปิดเทอม แนะ 7 จุดเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องเช็กให้ชัวร์ก่อนใช้

ปลอดภัยรับเปิดเทอม  แนะ 7 จุดเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องเช็กให้ชัวร์ก่อนใช้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ก็ได้เปิดรั้วโรงเรียนต้อนรับน้อง ๆ นักเรียนเข้ามาเรียนกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วในรูปแบบ New Normal โดยจะสังเกตุเห็นว่าในทุก ๆ ส่วนของโรงเรียน ได้ทำการปรับปรุงและทำความสะอาดอย่างหมดจด มีระยะห่างทางสังคมในทุกส่วน อีกทั้งมีมุมตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างความประทับใจ สร้างสุขภาวะที่ดี และต้อนรับเด็กนักเรียนทุกระดับชั้นอย่างประทับใจและอบอุ่น นั่นเป็นเพราะสำหรับน้องนักเรียนบางคน อาจจะเป็นวันแรกของการเริ่มต้นชีวิตวัยเรียนก็เป็นได้

แต่ทั้งนี้ นอกเหนือจากการทำความสะอาดห้องเรียน ห้องสมุด ชั้นหนังสือต่าง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่คณะคุณครู รวมถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ต้องหมั่นตรวจเช็กเป็นระยะ ๆ นั่นคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะในบางอุปกรณ์ไฟฟ้าก็มีอายุการใช้งานและต้องดูแลบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนที่อยู่ในโรงเรียน ซึ่งในวันนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการแชร์ไอเดียการดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในโรงเรียนอย่างง่าย ดังนี้

  • ตู้ทำน้ำเย็น ถือเป็นจุดแรก ๆ ที่เสี่ยงต่อการเป็นอันตรายกับน้อง ๆ นักเรียนได้ หากเกิดไฟรั่วหรือช็อต ระหว่างกดน้ำดื่ม ฉะนั้น จึงต้องหมั่นตรวจเช็คความเสื่อมสภาพของสายไฟ การติดตั้งสายดินที่เหมาะสม ตรวจเช็กไฟรั่วด้วย “ปากกาวัดไฟ” ทุกสัปดาห์ อีกทั้งหมั่นทำความสะอาดตู้ทำน้ำเย็นอยู่เสมอ เพราะเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่สะสมเชื้อโรคและแบคทีเรียจำนวนมาก

 

  • พัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้าที่หลายคนอาจละเลยการทำความสะอาด เนื่องจากพัดลมมักได้รับการติดตั้งบริเวณเพดาน และผนังห้องเรียน โดยเมื่อพัดลมผ่านการใช้งานหนัก ๆ อย่างต่อเนื่อง อาจจะเป็นแหล่งสะสมฝุ่นหรือสิ่งสกปรกได้ ดังนั้น เพื่อให้อากาศภายในห้องเรียนเกิดการถ่ายเทและสะอาด จึงควรหมั่นทำความสะอาดใบพัดหรือตะแกรงครอบพัดลมทุกเดือน รวมถึงต้องเช็กพัดลมที่ไม่มีตะแกรงครอบให้มีครบทุกตัว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

 

  • ปลั๊กไฟ อีกหนึ่งจุดที่เสี่ยงอันตรายหากมีน้อง ๆ นักเรียนเผลอเอานิ้วไปจิ้มหรือแหย่ ด้วยความอยากรู้อยากลอง หรืออุบัติเหตุ ดังนั้น ในทุก ๆ จุดของปลั๊กไฟควรมีฝาครอบปลั๊ก ขณะเดียวกัน คุณครูควรให้ความรู้เรื่องการถอด-เสียบปลั๊กไฟ ในลักษณะการจับเต้ารับและเต้าเสียบให้มั่นคง ก่อนเสียบเข้าและถอดออกทุกครั้ง เพื่อป้องกันปลั๊ก/สายไฟ ชำรุดหรือฉีกขาด รวมถึงตรวจสอบปลั๊กไฟเดือนละ 1 ครั้ง

 

  • หลอดไฟ ทุกห้องเรียนควรเปลี่ยนหลอดไฟ เป็นหลอดไฟ LED เนื่องจากหลอด LED ให้ค่าความสว่างที่เทียบเท่ากับหลอดไฟชนิดอื่น แต่ใช้กำลังไฟต่ำ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 50,000 ชั่วโมง ซึ่งช่วยโรงเรียนประหยัดค่าไฟได้อีกด้วย

 

  • ตู้อินเทอร์เน็ต เครื่องมือสำคัญในยุคนี้ ที่เชื่อมต่อห้องเรียนสู่โลกของการเรียนรู้ ในกรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ให้ติดฉนวนกันไฟไว้โดยรอบ และติดตั้งสายดินเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไฟรั่ว พร้อมการกั้นอาณาเขตอันตรายไว้

 

  • เครื่องเสียง คุณครูควรมีอุปกรณ์ช่วยสอนอย่าง ไมค์และลำโพงไร้สาย เป็นของส่วนตัวแต่ละบุคคล โดยควรตรวจสอบอุปกรณ์ให้มีความพร้อมก่อนการใช้งาน เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า

 

  • อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เพราะอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บางชนิด อาจจะมีกำลังไฟที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไฟกระตุก จึงควรมีเครื่องสำรองไฟ (UPS) ภายในห้องวิทยาศาสตร์ รวมถึงปรับรูปแบบการเสียบสายไฟจากปลั๊กพ่วงเป็นสายตรง

นอกเหนือจากคุณครูที่โรงเรียนแล้ว ผู้ปกครองควรสอนให้เด็ก ๆ สังเกตอุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้าที่บ้านว่า ลักษณะแบบไหนคือ ชำรุด/เสื่อมสภาพ หรือไม่ควรเข้าใกล้และต้องแจ้งผู้ใหญ่ทันที

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook