ขั้นตอนการขอทะเบียนบ้านสำหรับมือใหม่

ขั้นตอนการขอทะเบียนบ้านสำหรับมือใหม่

ขั้นตอนการขอทะเบียนบ้านสำหรับมือใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากผ่านขั้นตอนการสร้างบ้านเสร็จหรือมีบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไปที่เจ้าของบ้านจะต้องทำก็คือ ขั้นตอนของการขอเลขที่บ้านหรือขอทะเบียนบ้านนั่นเอง

ทะเบียนบ้าน คือ ทะเบียนประจำบ้านของบ้านแต่ละหลัง มีเลขที่ประจำบ้านกำกับอยู่ รวมถึงรายชื่อของบุคคลทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในบ้าน โดยทะเบียนบ้านแยกออกเป็น 5 ประเภท ด้วยกัน ดังนี้

1. ทะเบียนบ้านชั่วคราว

เป็นทะเบียนบ้านที่ออกโดนสำนักบริหารการทะเบียน ซึ่งทะเบียนบ้านชั่วคราวนั้นจะถูกเพื่อใช้ในกรณีที่บ้านไม่ได้ขออนุญาตปลูกสร้างบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือเป็นบ้านที่ปลูกสร้างอยู่ในบริเวณพื้นที่สาธารณะ เขตพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ป่าบุกรุกโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการก่อสร้าง

ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องได้รับการออกทะเบียนบ้านชั่วคราวก่อน และหลังจากมีการพิสูจน์หรือดำเนินการตรวจสอบเป็นที่แล้วเสร็จแล้วจึงจะได้รับเอกสารทะเบียนบ้านฉบับปกติ

2. ทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน

เป็นทะเบียนบ้านที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการลงรายการชื่อของบุคคลต่าง ๆ ที่ทำการขอแจ้งย้ายทะเบียนบ้านจากที่อยู่เดิมไปยังบ้านเลขที่ใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ทำการย้ายออก

3. ทะเบียนบ้าน (ท.ร.13)

เป็นทะเบียนบ้านที่ใช้ลงรายการชื่อบุคคลของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4. ทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)

เป็นทะเบียนบ้านที่ใช้ลงรายการชื่อบุคคลที่มีสัญชาติไทยและบุคคลต่างด้าวที่มีใบประจำตัวคนต่างด้าว

5. ทะเบียนบ้านกลาง

เป็นเอกสารที่ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน จะใช้ลงรายการชื่อบุคคลในกรณีที่บุคคลนั้นไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน

ข้อควรรู้ในการขอทะเบียนบ้าน

โดยข้อควรรู้ในการขอทะเบียนบ้านนั้น เจ้าของบ้านจะต้องทำการดำเนินการยื่นเอกสารขอทะเบียนบ้านภายในระยะเวลา 15 วัน หลังการก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ (ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2534) ซึ่งหากเจ้าของบ้านไม่ดำเนินการขอทะเบียนบ้านภายใน 15 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ก่อสร้างบ้านเสร็จสมบูรณ์แล้วนั้น จะถือว่ามีความผิด และมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

เอกสารที่ใช้ในการติดต่อขอทะเบียนบ้าน

1. เอกสาร ท.ร.9 หรือใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน ออกโดยหน่วยงานท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน/อบต.)

2. ใบอนุญาตก่อสร้างหรือหนังสือรับรองสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือหนังสือสัญญาซื้อขายบ้าน (ถ้ามี)

3. โฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์แสดงการครอบครองที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้าง

4. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของบ้าน

5. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งขอทะเบียนบ้านหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

6. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

หนังสือมอบอำนาจ จะใช้ในกรณีที่เจ้าของบ้านไม่สามารถติดต่อยื่นเรื่องขอเลขที่บ้านหรือทะเบียนบ้านด้วยตัวเอง และมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการยื่นเรื่องขอทะเบียนบ้านแทนตน

โดยจะมีเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของบ้าน พร้อมลงกำกับสำเนาถูกต้องในเอกสารสำคัญอย่างละ 1 ชุด ซึ่งใช้ประกอบในหนังสือมอบอำนาจ

รายละเอียดในเอกสารหนังสือมอบอำนาจ จะต้องมีพยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงชื่อรับทราบ เพื่อเป็นพยานในการมอบอำนาจ)

7. รูปถ่ายสิ่งปลูกสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกอบไปด้วย 4 ด้าน คือ ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านซ้าย และด้านขวาของตัวบ้าน

 ขั้นตอนในการขอทะเบียนบ้าน

หลังจากจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการขอทะเบียนบ้าน ดังนี้

1. ยื่นเรื่องติดต่อขอเลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้าน ณ สำนักทะเบียนในพื้นที่ปลูกสร้าง

2. นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง

3. ออกเลขที่ประจำบ้าน รวมถึงจัดทำสมุดทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน

4. ส่งมอบทะเบียนบ้านให้แก่เจ้าของบ้านหรือผู้ได้รับมอบอำนาจ

 ระยะเวลาในการดำเนินการยื่นขอทะเบียนบ้าน

หลังจากทำการยื่นเอกสารคำร้องขอทะเบียนบ้านภายใน 15 วัน หลังก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเอกสารและความถูกต้องของข้อมูลว่ามีลักษณะถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดหรือไม่

หากเป็นไปตามข้อกำหนด เจ้าหน้าที่จะกำหนดเลขที่ประจำบ้านและสมุดทะเบียนบ้านให้แก่ผู้แจ้งภายใน 7 วัน ในกรณีปลูกสร้างบ้านในเขตเทศบาล ไปจนถึงระยะเวลา 30 วัน ในกรณีปลูกสร้างบ้านนอกเขตเทศบาล

ค่าใช้จ่ายในการขอทะเบียนบ้าน

สามารถสอบถามได้ที่สำนักทะเบียนท้องที่ หรือ Call Center 1548

จะเห็นได้ว่าการขอทะเบียนบ้านนั้นจะอยู่ในขั้นตอนท้าย ๆ ของการก่อสร้างบ้าน ซึ่งหลังจากที่ได้เลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าบ้านจะต้องนำเลขที่บ้านที่ได้ไปใช้ในการขอใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาในลำดับต่อไป

เกร็ดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเป็นเจ้าบ้านและหน้าที่ของเจ้าบ้าน

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนในการขอทะเบียนบ้านนั้นไม่ได้มีอะไรที่ยุ่งยากเลย และเมื่อได้เป็นเจ้าของบ้านที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมายแล้ว จะมีหน้าที่อะไรที่เจ้าของบ้านจะต้องดูแลและรับผิดชอบบ้าง ตามไปดูเกร็ดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าบ้านและหน้าที่ของเจ้าบ้านกันเลย

1. เจ้าบ้าน คือ ผู้ที่อยู่ในฐานะเจ้าของบ้าน หรือผู้เช่าที่ทำหน้าที่แทนในกรณีเจ้าของบ้านตาย หายสาบสูญ หรือไม่สามารถทำหน้าที่เจ้าบ้านได้ โดยให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่ดูแลบ้าน ณ ขณะนั้น เป็นเจ้าบ้าน

2. เจ้าบ้าน มีหน้าที่ในการแจ้งเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับบุคคลต่าง ๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเกิด แจ้งตาย หรือย้ายที่อยู่อาศัย รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบ้านที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

3. กรณีเจ้าบ้านไม่อยู่ หรือไปต่างประเทศ สามารถมอบอำนาจการจัดการเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้านให้กับผู้ใดผู้หนึ่งที่มีรายการชื่อบุคคลอาศัยอยู่ในสมุดทะเบียนบ้านดำเนินการทำหน้าที่แทนเจ้าบ้านได้ตามอำนาจ

โดยเจ้าบ้านจะต้องแจ้งเรื่องไปยังนายทะเบียนบ้าน ซึ่งนายทะเบียนบ้านจะทำการบันทึกถ้อยคำต่าง ๆ ที่เจ้าบ้านมอบอำนาจดูแลการจัดการต่าง ๆ ภายในบ้านไว้ให้ทราบเป็นข้อเท็จจริงว่าบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจดังกล่าวมีหน้าที่ในการดูแลจัดการแทนเจ้าของบ้านในช่วงเวลาที่ระบุไว้

ทั้งนี้ เอกสารที่ใช้ในการติดต่อมอบอำนาจในการดูแลและจัดการเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้าน กรณีเจ้าบ้านไม่อยู่ ได้แก่ 

- หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าบ้าน โดยมีเนื้อความระบุชัดเจนว่ามอบอำนาจการจัดการให้ใคร จัดการแทนในเรื่องอะไรภายในบ้านบ้าง เป็นช่วงเวลาเท่าไหร่ พร้อมทั้งลงชื่อมอบอำนาจ จำนวน 1 ฉบับ

- สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน

- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ

ขั้นตอนในการดำเนินการมอบอำนาจ มีดังนี้ 

- ติดต่อยื่นเรื่อง ณ สำนักทะเบียน

- นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารและดำเนินการตามคำร้องตามประสงค์จนแล้วเสร็จ

- คืนหลักฐานที่ใช้ในการดำเนินการแก่ผู้ยื่นคำร้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook