ไมโครซอฟท์ จัดเวทีเสวนา “บทบาทสตรีผู้นำและศตวรรษใหม่ของอาเชียน”

ไมโครซอฟท์ จัดเวทีเสวนา “บทบาทสตรีผู้นำและศตวรรษใหม่ของอาเชียน”

ไมโครซอฟท์ จัดเวทีเสวนา “บทบาทสตรีผู้นำและศตวรรษใหม่ของอาเชียน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะ ลี กวน ยู แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ องค์การอ๊อกแฟม และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้จัดงานเสวนา“Women Leaders and the New Asian Century Forum (บทบาทสตรีผู้นำและศตวรรษใหม่ของอาเชียน)” ณ โรงแรมอนันตรา สาทร เพื่อเฉลิมฉลองและสร้างความตระหนักในเรื่องความหลากหลายและการประสานความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน รวมถึงการผลักดันสตรีในการเติบโตและก้าวสู่การเป็นผู้นำในทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เมื่อทวีปเอเชียก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21

แนวคิดด้านความหลากหลายและการมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในสังคม (Diversity & Inclusion) นับเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าและนวัตกรรมให้กับสังคม การเสวนาครั้งนี้จึงถือเป็นเวทีระดับภูมิภาคในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และแนวปฏิบัติในการร่วมผลักดันแนวคิดดังกล่าว รวมถึงร่วมผลักดันบทบาทสตรีทั่วเอเชียในการก้าวสู่การเป็นผู้นำ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนทวีปเอเชียสู่อนาคต

ไมโครซอฟท์ นับเป็นหนึ่งในองค์กรด้านเทคโนโลยีระดับต้นๆ ของโลก ที่ให้ความสำคัญในการสร้างความหลากหลายและการรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน (Diversity and Inclusion) ภายในองค์กร โดยในระดับบอร์ดผู้บริหารของไมโครซอฟท์ระดับโลก มีผู้บริหารสตรีถึง 4 คน จากผู้บริหารทั้งสิ้น 14 คน โดยสัดส่วนของพนักงานที่เป็นสตรีในไมโครซอฟท์แต่ละแห่งทั่วโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสำหรับ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ยังเป็นองค์กรที่มีอัตราส่วนพนักงานที่เป็นสตรีสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของอุตสาหกรรมไอที ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ชายมีบทบาทอย่างเด่นชัด

ฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความหลากหลายและการรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน (Diversity and Inclusion) เป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์ ยึดถือและให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะเราเชื่อว่าสองสิ่งนี้ เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืนของทุกสังคม นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ยังสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เพศหญิงขึ้นมาเป็นผู้นำมาโดยตลอด โดยเรามีอัตราส่วนของพนักงานที่เป็นสตรี 44% ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมไอทีที่มี 39% และมีสัดส่วนทีมผู้บริหารของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เป็นสตรีถึง 55% เราต่อสู้เพื่อความหลากหลายในทุกๆ ระดับของตำแหน่งหน้าที่ในบริษัท ตั้งแต่ระดับตำแหน่งเริ่มต้น จนถึงระดับตำแหน่งอาวุโส และเราเชื่อว่าการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การวางนโยบายการับคนเข้าทำงาน ที่ต้องมีสัดส่วนชายหญิงเท่าเทียมกัน หรือการปรับเลื่อนขั้นก็ต้องมีการพิจารณาพนักงานทั้งสองเพศอย่างเท่าเทียมกัน”

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ ยังส่งเสริมการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและครอบครัวซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะพนักงานที่เป็นผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัวและทำงานไปพร้อมๆ กัน ผ่านเทคโนโลยีทีทันสมัย อย่าง ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 365 (Microsoft Office 365) ซึ่งช่วยให้พนักงานเลือกที่จะทำงานหรือติดต่อประสานงานกับเพื่อนร่วมงานจากที่ใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่ทำงาน และการประเมินผลงานก็ขึ้นอยู่กับผลงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนชั่วโมงที่พวกเขาอยู่ที่ทำงาน

ดร. แอสทริด ทูมิเนซ นักเขียน นักรณรงค์บทบาทผู้นำสตรี และผู้อำนวยการระดับภูมิภาคฝ่ายกฎหมายและองค์กรสัมพันธ์ ไมโครซอฟท์ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “จากการที่ภูมิภาคเอเชียได้เข้ามามีอิทธิพลและมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นบนเวทีโลก โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นของบทบาทสตรีในหลายๆด้าน อย่างไรก็ดี เรายังคงเห็นสตรีที่ก้าวสู่ระดับผู้นำในหลายภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทย รวมถึงในเอเชียและประชาคมโลก เป็นจำนวนน้อย ไมโครซอฟท์ ในฐานะองค์กรระดับโลกด้านไอที จึงได้ให้ความสำคัญในเรื่องความหลากหลายทางเพศและการมีส่วนร่วม รวมถึงพยายามผลักดันแนวทางขององค์กรอย่างมุ่งมั่นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ การลงมือทำ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา”

การเสวนาครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้นำสตรีแถวแนวหน้าจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มาร่วมแสดงทัศนะในเรื่องความหลากหลายและการแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างหญิงชายในสถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในประเทศไทย เนื่องด้วยสัดส่วนสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้นำในภาครัฐบาล และภาคธุรกิจของประเทศไทย ยังคงมีจำนวนน้อยอยู่อย่างเห็นได้ชัด

ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ที่ปรึกษา และอดีตอธิการบดี รองประธาน และประธานของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ปัจจุบัน สตรีไทยในตำแหน่งผู้นำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ คณะกรรมการบริหารของบริษัทต่างๆ จะมีสมาชิกเพศหญิงร่วมอยู่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เหตุที่สตรีส่วนใหญ่ไม่สามารถก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งระดับสูงในองค์กรที่ตนทำงานอยู่ได้เทียบเท่ากับผู้ชายเนื่องจากลำดับความสำคัญในชีวิตเริ่มเปลี่ยนไปจากการแต่งงานหรือมีครอบครัว สตรีเริ่มให้ความสำคัญกับครอบครัว หรือลูกหลานมากขึ้น แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมจากองค์กรที่ตนเองทำงานอยู่ ส่งผลให้สตรีไม่สามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้มากเท่าผู้ชาย”

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานต่างๆจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ได้พยายามอย่างยิ่งยวดในการร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด ความเข้าใจเก่าๆ และค่านิยมเก่าที่คนส่วนใหญ่มองว่าตำแหน่งผู้มีอำนาจและผู้นำในสังคมควรเป็นของผู้ชาย ไม่ใช่สตรี ผ่านการพยายามเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในประเทศไทย โดยเปลี่ยนวิธีการสอน การให้ความรู้แก่เด็กๆ เพื่อให้เด็กๆมีมุมมองต่อเพศตรงข้ามในด้านที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา เพื่อสร้างค่านิยมใหม่ที่มีต่อสตรีในสังคมไทยปัจจุบัน ให้ดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ ไมโครซอฟท์ จัดเวทีเสวนา “บทบาทสตรีผู้นำและศตวรรษใหม่ของอาเชียน”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook