“บิว ณัฏฐา” นางงามสิทธิมนุษยชนกับแคมเปญเพื่อสิทธิพื้นฐานของทุกคน

“บิว ณัฏฐา” นางงามสิทธิมนุษยชนกับแคมเปญเพื่อสิทธิพื้นฐานของทุกคน

“บิว ณัฏฐา” นางงามสิทธิมนุษยชนกับแคมเปญเพื่อสิทธิพื้นฐานของทุกคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • บิว ณัฏฐา ทองแก้ว อดีตผู้เข้าประกวด Miss Universe Thailand 2020 ได้นำเสนอโครงการพูดคุยกับนักโทษในเรือนจำ และได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวด Miss Face Of Humanity 2021 ที่แคนาดา
  • บิวทำแคมเปญ “ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แบ่งปันอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ทางภาคใต้ และเรือนจำ 7 แห่ง
  • บิวได้จัดตั้งแคมเปญระดมรายชื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลดูและกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ทาง Change.org/SaveManiPeople

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันนี้ ภาพลักษณ์ของนางงามเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต จากความงามในฐานะ “ดอกไม้ของชาติ” เปลี่ยนเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่มีทั้งความสวย สติปัญญา และทำหน้าที่ส่งต่อแรงบันดาลใจไปยังผู้หญิงคนอื่นๆ ทว่าสำหรับ “บิว – ณัฏฐา ทองแก้ว” Miss Face Of Humanity Thailand 2021 การเป็นนางงามของเธอกลับเป็นพื้นที่สำหรับการทำงานเพื่อกลุ่มคนที่ถูกหลงลืมจากสังคมส่วนใหญ่ พร้อมทั้งส่งต่อกำลังใจไปสู่กลุ่มคนเหล่านี้

บิว ณัฏฐา ทองแก้วบิว ณัฏฐา ทองแก้ว

เมื่อปัญหามาเคาะประตูบ้าน

ก่อนที่บิวจะเป็น “นางงามสายสิทธิมนุษยชน” อย่างทุกวันนี้ เธอเล่าว่าเธอก็เป็นเพียงคนทั่วไป ที่ติดตามข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ จนกระทั่งเมื่อราว 2 ปีก่อน “ปัญหาสังคม” ได้มาเคาะประตูบ้านของเธอ และทำให้มุมมองต่อสังคมและการเมืองของเธอเปลี่ยนไปตลอดกาล

“วันนั้นจำได้ เป็นวันที่ 14 เมษายน น้องชายเราโดนคนเมาขับรถชน กระดูกช่วงต้นขาชิ้นที่ใหญ่ที่สุดหักเป็นสองท่อนเลย คนที่พาน้องเราไปโรงพยาบาลเป็นอาสาสมัคร พาน้องไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ก็คือโรงพยาบาลประจำอำเภอ แต่โรงพยาบาลไม่มีหมอและพยาบาลเลยสักคน ตอนนั้นน่าจะดึกแล้ว เราก็ถามว่าทำไมถึงไม่มี เขาก็บอกว่ามันเป็นช่วงเทศกาล เราก็เลยคิดว่า ตลอดชีวิตที่เราทำงาน เราเสียภาษีกัน มันได้ย้อนกลับมาให้เราได้ใช้ตรงนั้นกันบ้างไหม เพราะแม้กระทั่งโรงพยาบาลยังไม่มีหมอ”

หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น บิวหันมาศึกษาประเด็นทางสังคมและการเมืองมากขึ้น รวมทั้งพยายามมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง หนึ่งในนั้นคือการตอบรับคำเชิญของทีมงานภาคี Saveบางกลอย ในการเดินทางไปให้กำลังใจชาวกะเหรี่ยงที่มาชุมนุมใกล้ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลายเป็นภาพของนางงามอีกคนหนึ่งที่ขึ้นเวทีปราศรัย ให้กำลังใจชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อถิ่นฐานบ้านเกิด

นางงามกับนักโทษ

หลังจากการขึ้นเวทีปราศรัยในกิจกรรม #Saveบางกลอย บิวได้เริ่มต้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมของตัวเอง โดยมีแหล่งข้อมูลส่วนตัว คือคุณพ่อ ที่ทำงานอยู่ในเรือนจำเป็นเวลาเกือบ 30 ปี บิวเล่าว่า ตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อจะเล่าเรื่องการทำงานในเรือนจำแต่ละวันให้ฟัง รวมทั้งประสบการณ์แปลกๆ ที่คุณพ่อได้พบเห็นจากการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องราวของอดีตนักโทษคนหนึ่ง ที่พ้นโทษไปแล้ว แต่พยายามกลับเข้ามาอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง เนื่องจากความยากลำบากหลังพ้นโทษ

“เหตุการณ์นี้มันสะกิดต่อมตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทั้งตัวบุคคลหรือระบบโครงสร้าง หรือกระบวนการยุติธรรม มันยังมีส่วนไหนที่ต้องแก้ไขอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า มันก็ทำให้บิวคิดว่า ถ้าเราโตขึ้น ก็อยากจะขออนุญาตคุณพ่อ หรือเพื่อนๆ คุณพ่อที่เขาทำงานในเรือนจำหลายๆ ที่ ให้เราได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับนักโทษ อย่างน้อยๆ ก็เป็นการไปสร้างกำลังใจ แล้วก็ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว เขาผ่านอะไรมาบ้าง และเขาต้องการอะไรจริงๆ ในชีวิต”

โครงการพูดคุยกับนักโทษในเรือนจำของบิว เกิดขึ้นเมื่อกว่า 1 ปีก่อน โดยเธอเล่าว่า ครั้งแรกของการเข้าไปในเรือนจำ ที่มีนักโทษชายล้วนประมาณ 900 คน บรรยากาศเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและประหม่า ทว่าบิวได้เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของเธอ ในฐานะนางงามที่ผ่านการถูกเหยียดรูปร่าง และแบกรับแรงกดดันจากสังคมมากมาย ซึ่งนั่นหมายความว่า ชีวิตของเธอก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบแต่อย่างใด

“หลังจากที่บิวเริ่มเล่าไป เขาก็รู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขามากขึ้น จากสายตาที่เขาดูตื่นเต้น ประหม่า เขาก็อ่อนโยนลง นิ่งมากขึ้น ซึ่งก็ดูเหมือนเขาก็แค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องการการรับฟังจริงๆ บิวไม่ได้พยายามโรแมนติไซส์หรือพยายามสร้างภาพสวยงามให้คนที่เขาทำผิดมานะคะ แต่ ณ วันที่เรามาเจอกันในวันที่เขาอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมแล้ว เราจะมีวิธีอะไรบ้างที่เราจะพูดคุยกัน ปรับความเข้าใจกัน หรือทำให้เขาเห็นว่า ตัวเขาสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้

บิวเล่าว่า จากการพูดคุย นักโทษหลายคนเติบโตมาจากครอบครัวที่แตกแยก และขาดที่ปรึกษาในชีวิต การตัดสินใจต่างๆ จึงมาจากการฟังเพื่อนหรือเสพสื่อเอง นำไปสู่การตัดสินใจที่คลาดเคลื่อน และทำให้เส้นทางของพวกเขาจบลงที่เรือนจำ

“เราก็เลยรู้สึกว่า การที่ได้ไปพูดคุยกับเขา ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวบุคคลแล้ว แต่มันทำให้เรานึกถึงสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นภาพใหญ่ๆ ในประเทศไทยเรา แล้วพอได้ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ชำนาญการที่เขาอยู่ข้างในมาหลายสิบปี ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า จริงๆ แล้ว ระบบการดำเนินชีวิตในบ้านเรามันยากที่คนจะประสบความสำเร็จหรือมีโอกาสเท่าๆ กัน หรือบางทีคนทำผิด โอกาสในชีวิตเขาก็หายไป 50% เลย มันก็ย้อนมาในจุดที่คนทุกคนต้องการปัจจัยในชีวิตคล้ายๆ กัน และมันโยงไปถึงระบบโครงสร้างทางสังคม ที่เป็นปัญหา เป็นแกนกลางหลักๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา” บิวกล่าว

Miss Face Of Humanity

ในแวดวงนางงาม ชื่อของบิว ณัฏฐา ถือเป็นที่รู้จักคุ้นเคยสำหรับแฟนนางงาม เพราะเธอเองก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าประกวด Miss Universe Thailand 2020 ซึ่งก็เป็นเวทีที่ทำให้เธอได้นำเสนอโครงการพูดคุยกับนักโทษให้คนทั่วไปได้รับทราบ

“เราคิดว่า ถ้าเราสามารถใช้โมเมนต์หนึ่งในชีวิตของผู้หญิง บนเวทีที่ใหญ่ระดับประเทศได้ เราก็จะใช้พื้นที่สื่อตรงนี้แหละเป็นสปอตไลต์ให้เขาได้รู้จักชีวิตจริงๆ ที่มันเกิดขึ้นข้างในเรือนจำและนอกเรือนจำที่มันเอื้อต่อการกระทำความผิดอย่างไรได้บ้าง แล้วเวลาที่เราประกวด ช่วงเก็บตัวก็จะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนค่อนข้างเยอะ ก็เลยมีโอกาสได้นำโครงการเกี่ยวกับเรือนจำเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ แฟนนางงามหรือคนดูก็เซอร์ไพรส์ แล้วก็ไม่คิดว่าจะมีนางงามคนไหนมาพูดเรื่องเรือนจำ ก็เลยรู้สึกว่ามันก็ได้ประโยชน์กับทุกๆ คน” บิวเล่า

และด้วยผลงานจากโครงการดังกล่าว ก็ทำให้บิวได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปประกวดบนเวที Miss Face Of Humanity ที่จัดขึ้นที่ประเทศแคนาดาในช่วงปลายปีนี้

“เวที Miss Face Of Humanity เป็นเวทีใหม่มาก เขามีสโลแกนว่า Beyond beautiful, beyond powerful ก็คือ เขาอยากรวบรวมผู้หญิงที่เป็นตัวแทนแต่ละประเทศมานำเสนอโครงการของตัวเอง หรือแม้กระทั่งมาทำให้แพลตฟอร์มเหล่านั้นมันเป็นระดับโลกให้มากขึ้น โดยไม่มีรอบประกวดชุดว่ายน้ำหรือชุดประจำชาติ แต่เราจะเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของแต่ละคนไปนำเสนอ แล้วบอกเขาว่าเราทำอะไรแล้วบ้าง แล้วเราจะทำให้มันเกิดแรงกระเพื่อมระดับโลกได้อย่างไร”

บิวกับแคมเปญ Amnesty International Thailandบิวกับแคมเปญ

ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย

นอกจากโครงการพูดคุยกับนักโทษในเรือนจำแล้ว บิวได้ต่อยอดการช่วยเหลือกลุ่มคนที่ถูกละเลยจากสังคมส่วนใหญ่ ออกมาเป็นแคมเปญ “ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” โดยร่วมมือกับองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในการรณรงค์เพื่อแบ่งปันอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ เจลแอลกอฮอล์ และเครื่องวัดอุณหภูมิ ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิ ใน จ.สตูล จ.พัทลุง และ จ.ตรัง และเรือนจำอีก 7 แห่ง พร้อมทั้งตั้งแคมเปญลงชื่อเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐบาลดูแลช่วยเหลือชาวมานิ ในเว็บไซต์ Change.org/SaveManiPeople

บิวกล่าวว่า ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ระบาดทั่วประเทศ หากกลุ่มชาติพันธุ์มานิซึ่งอาศัยอยู่ในป่า ติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับความลำบากมากกว่าคนที่อยู่ในเมือง ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้มีเพียงชาวบ้านที่ดูแลช่วยเหลือกันเอง ออกเงินค่าเดินทางในการออกมาโรงพยาบาลเอง และการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกก็ยากลำบาก เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือ ทั้งยังไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ นอกจากนี้ กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่มีเอกสารหรือบัตรยืนยันตัวตนในการเข้ารับการรักษาพยาบาล จึงทำให้การดำเนินชีวิตในช่วงโรคระบาดยากมาก

“เราอยากจะให้คนทั่วไปรู้สึกว่า สิ่งที่เรากำลังทำมันเป็นพื้นฐานของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนหลายๆ คน มันคือการสร้างวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันในหลายเชื้อชาติ หลายชาติพันธุ์ได้” บิวกล่าวถึงความตั้งใจในการทำแคมเปญ

สำหรับนักโทษในเรือนจำ บิวอธิบายว่า ที่ผ่านมาเธอเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จากเรือนจำเป็นจำนวนมาก ทว่าที่ผ่านมา เรือนจำหลายแห่งขาดแคลนหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ ประกอบกับชีวิตความเป็นอยู่ที่แออัดภายในเรือนจำ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ อีกทั้งผู้ที่ติดเชื้อยังไม่สามารถแยกออกมากักตัวในพื้นที่ภายนอกได้ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในเรือนจำก็ยังมีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อออกมาสู่ภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจไม่น้อย บิวจึงยืนยันว่า “หากทุกคนในเรือนจำยังไม่ปลอดภัย ก็จะไม่มีใครปลอดภัยเลย”

“ตอนที่บิวเริ่มทำโครงการ เราก็คิดเหมือนกันว่าเราจะสื่อสารออกไปอย่างไร ให้คนไม่รู้สึกว่าเราพยายามทำให้ชีวิตในเรือนจำหรือหลังกำแพงคุกเป็นเรื่องสวยหวาน เพราะว่าก็มีหลายคนเดือดร้อนจากการกระทำของพวกเขาเหมือนกัน เราก็เลยคิดว่า ณ วันนี้ เรามาเจอเขา ในวันที่เขาได้รับโทษในกระบวนการยุติธรรม มันก็เป็นก้อนที่เขาสมควรได้รับแล้วก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในแง่ของสิทธิมนุษยชน ยิ่งในภาวะวิกฤตโรคระบาดแบบนี้ ถ้าเราเอาทุกเรื่องมารวมกัน และเราหลงลืมว่าคนที่เราต้องดูแล ไม่ให้มากระทบกับคนภายนอก มันสำคัญอย่างไร มันก็จะกลายเป็นว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างถูกจุดได้” บิวอธิบาย

หน้าที่ของรัฐคือการดูแลประชาชน

ใจความตอนหนึ่งในโปสเตอร์รับบริจาคอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 ของแอมเนสตี้ ระบุว่าจะรับบริจาคสิ่งของเหล่านี้ “จนกว่าจะมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลอย่างทั่วถึง” ราวกับว่า แคมเปญนี้กำลังส่งเสียงเรียกร้องไปยังภาครัฐให้เข้ามาทำหน้าที่ดูแลประชาชน ซึ่งบิวยืนยันว่าใช่ เธอกำลังส่งเสียงไปยังรัฐบาลอยู่

รัฐธรรมนูญปี 60 ระบุไว้ชัดเจนว่า ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงสาธารณสุข โดยที่การดูแลจะเท่ากับเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐต้องไม่ทิ้งคนพวกนี้ไว้ข้างหลัง และทำให้เขารู้สึกว่าเขามีตัวตนอยู่จริงในประเทศ”

สำหรับบิว รัฐควรจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่อาสาสมัครและบุคลากรทางการแพทย์ให้เข้าไปให้ความรู้ในการดูแลและป้องกันตัวเองแก่ชาวมานิ รวมทั้งฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ขณะเดียวกัน ภายในเรือนจำต้องมีนโยบายลดความแออัด รวมทั้งส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสมให้แก่นักโทษ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค

“พอทุกอย่างมันอยู่ในคำว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ มันจะไม่มีคำว่าคนนั้นควรได้ คนนี้ไม่ควรได้ มันคือการที่เราเห็นคนทุกคน เป็นคนเหมือนกันกับเรา เพราะมันไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกๆ คนจะปลอดภัย” บิวปิดท้าย

สำหรับการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์มานิและเรือนจำ สามารถจัดส่งอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 มาได้ที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 139/21 ซอยลาดพร้าว 5 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือร่วมสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ ด้วยการโอนเข้าบัญชีสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 047- 2-42617-5

อัลบั้มภาพ 29 ภาพ

อัลบั้มภาพ 29 ภาพ ของ “บิว ณัฏฐา” นางงามสิทธิมนุษยชนกับแคมเปญเพื่อสิทธิพื้นฐานของทุกคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook