5 มะเร็งร้าย กับวัยที่เปลี่ยนแปลง

5 มะเร็งร้าย กับวัยที่เปลี่ยนแปลง

5 มะเร็งร้าย กับวัยที่เปลี่ยนแปลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พอเริ่มอายุมากขึ้นปัญหาสุขภาพต่างๆ ก็ตามมาถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใครใช้ร่างกายอย่างทะนุถนอม หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ดีก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง แต่หากใครละเลยแถมยังมีปัจจัยเสี่ยงเป็นของแถมคงต้องหาทางแก้ไขตั้งแต่วันนี้ เพราะบางทีอาจจะยังไม่สายจนเกินไปคอลัมน์ รู้ทันโรคมะเร็ง

เราๆ ท่านๆ คงทราบดีแล้วว่า ปัญหา "มะเร็ง" นั้น มีมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่านวัตกรรมการรักษาจะดีเพียงใด แต่หากเราไม่ดูแลร่างกาย ไม่ป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค ก็ไม่มีใครสามารถมาการันตีว่าถึงเวลานั้นคุณจะหายขาดได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะแย่ป้องกันดีกว่า

ที่ผ่านมาว่า มะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ภายในปี 2542-2554 นั้นมีคนสียชีวิตจากโรคนี้ไปแล้ว 61,082 คน โดยพบว่าคนไทยนั้นเป็นโรคมะเร็งประมาณ 150 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

ขณะที่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี 2563 หรือประมาณ 7 ปีข้างหน้า เราจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เกือบ 1.5 แสนราย และนี 2573 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า เราจะมีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 1.7 แสนราย

นี่เป็นเพียงการคาดการณ์ แต่ของจริงที่จะเกิดในอนาคตเชื่อว่าต้องมากกว่านี้แน่ๆ (?)

ลองไปดูว่า มะเร็งที่ต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษในช่วงที่เราอายุมากขึ้นนั้นมีอะไรกันบ้าง

1) มะเร็งตับ ปัจจุบันพบว่า มะเร็งชนิดนี้ พบมากอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ไวรัสตับอักเสบ ร้อยละ 75 - 80 โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบีและซี มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูงกว่าคนที่ไม่มีพาหะ 100-400 เท่า รู้แบบนี้ ต้องเลี่ยงสารก่อมะเร็งที่มีพิษต่อตับนั่นคือ สารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเกิดจากเชื้อราบางชนิดพบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง เป็นต้น รวมทั้งตรวจว่าเรามีไวรัสตับอักเสบหรือไม่เพื่อจะได้รู้และป้องกันอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ หากเบื่ออาหาร แน่นท้อง ท้องผูก รู้สึกอ่อนเพลีย น้ำหนักลดลง มีอาการปวดชายโครงด้านขวาต้องไปพบแพทย์

2) มะเร็งปอด พบในเพศชายและเพศหญิงเกือบเท่ากัน แต่เพศชายจะพบมากกว่า ต้องขอเตือนไว้ว่า มะเร็งชนิดนี้ตรวจพบในระยะแรกได้ยาก ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือสิงห์อมควัน สารพิษจากแอสเบสตอส (แร่ใยหิน) ซึ่งยังใช้อยู่ในอุตสาหกรรมหลายชนิด ซึ่งสารชนิดนี้ไม่ได้ทำให้เราเป็นมะเร็งในระยะเวลาชั่วข้ามคืนแต่จะค่อยๆ สะสมจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด จากสถิติที่สำคัญคนที่สูบบุหรี่และทำงานกับฝุ่นแร่ใยหิน (เช่น ฝ้าเพดาน กระเบื้องมุงหลังคาที่ยังมีแร่ใยหิน ผ้าเบรก คลัช เหมืองแร่ ฯลฯ) จะเสี่ยงต่อมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติ 90 เท่า หากไอ เสมหะมีเลือด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อย่านิ่งนอนใจ

3) มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่พบมากที่สุดในหญิงไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่มีเพศสัมพันธ์กับชายหลายคน มีกิ๊ก มีคู่นอนหลายคน รวมทั้ง การมีเพศสัมพันธ์ในตอนที่อายุน้อย ปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้เสี่ยงต่อเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก เชื้อ HPV นี้ ยังสามารถเกิดกับคนที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้เช่นกัน แนวทางสำคัญ จึงอยู่ที่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ อย่าอาย เพราะเมื่อไม่ไปตรวจถ้าเป็นอาจสายเกินแก้

4) มะเร็งเต้านม แม้จะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ 80-90% หากตรวจพบและทำการรักษาในระยะเริ่มแรก แต่เราก็ยังเห็นผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมมากขึ้น เหตุนี้ จึงขอเน้นย้ำให้ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปไปตรวจเต้านม

ด้วยการทำแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้ง ป้องกันด้วยการเลี่ยงทานอาหารที่มีไขมันสูง การตรวจเต้านมด้วยตัวเองเดือนละ 1 ครั้ง เป็นประจำหลังหมดประเดือน ที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการออกกำลังกายสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายมีภูมิป้องกันมะเร็งทุกชนิด รวมทั้งลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้ถึง 37%

5) มะเร็งลำไส้และทวารหนัก จากอาหารที่ห่างไกลธรรมชาติ วิถีการกินในรูปแบบที่เปลี่ยนไปของคนในปัจจุบันโดยเฉพาะไขมันสูง ทำให้อัตราการเกิดมะเร็งลำไส้และทวารหนักมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จึงมีความจำเป็นโดยควรเริ่มตั้งแต่อายุ 50 - 75 ปี นอกจากนี้ ผู้ที่บิดา-มารดาหรือพี่น้องท้องเดียวกันมีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะขณะที่มีอายุน้อย ผู้ที่มีประวัติมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์อาจต้องเริ่มตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 50 ปี วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เชื่อถือได้และวงการแพทย์แนะนำ คือ การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (fecal occult blood testing) และการส่องกล้องทางทวารหนักและลำไส้ใหญ่ (sigmoidoscopy หรือ colonoscopy)

การหมั่นสังเกตตัวเอง การตรวจคัดกรองก่อนการเกิดโรค รวมทั้งการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เราหายขาดและไม่เสียชีวิตจากโรคนี้... ป้องกัน ดีกว่ารักษาแน่ๆ

ที่มา : หน้าพิเศษ Hospital Healthcare นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook