ข้อคิด 10 ข้อในการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ข้อคิด 10 ข้อในการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ข้อคิด 10 ข้อในการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” เพราะสถาบันครอบครัวคือสถาบันแรกและสถาบันที่อยู่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด เป็นกรอบในการกำหนดรากฐานของคนคนหนึ่งเลยทีเดียว ครอบครัวจึงต้องให้ความรัก ให้การอบรมสั่งสอนเพื่อให้เด็กสามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมที่ต้องอยู่ท่ามกลางคนร้อยพ่อพันแม่ได้

ในเมื่อสถาบันครอบครัวนั้นสำคัญและเป็นรากฐานของมนุษย์คนหนึ่งของสังคม และตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่กำหนดคุณภาพของเด็กคนหนึ่งได้ ก็คือพ่อแม่และผู้ปกครอง ถ้าอยากให้เด็กๆ ในความปกครองเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ  จึงจำเป็นอย่างมากที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรู้วิธีดูแลให้ลูกหลานให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งก็คือ 10 ข้อนี้


1. จับเข่าคุยให้เข้าใจดีกว่าด่าทอ
จิตใจของเด็ก ๆ เปราะบางมาก ถ้าคุณใช้คำพูดในเชิงต่อว่า ด่าทออย่างรุนแรง คุณกำลังทำร้ายจิตใจลูกมากกว่าอบรมสั่งสอน คำพูดเหล่านั้นจะกัดกินหัวใจของเขาไปตลอดชีวิต เพราะที่คุณพูดออกไปนั้นเดี๋ยวคุณก็ลืม แต่เด็กจะจำ เขาจะคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก ดังนั้น ถ้าเขาทำผิด จับเข่าพูดคุยกันให้เข้าใจ พูดกันดี ๆ คุยกันด้วยเหตุผล ภายใต้สถานการณ์ที่จริงจัง เป็นการปลูกฝังให้เด็กเป็นคนมีเหตุผลและไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา


2. ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
การใช้อารมณ์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย การพูดคุยกันดี ๆ ใช้เหตุผลต่างหากที่ช่วยได้ อะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรไม่ดี พ่อแม่ควรจะชี้แจงให้เด็กรู้ตามหลักตรรกะมากกว่าข่มขู่ให้รู้สึกกลัว เพราะถ้าเด็กรู้ที่มาที่ไป เขาก็จะรู้ว่าทำแล้วได้ผลลัพธ์แบบไหน เขาสงสัยอะไรก็อธิบายไป การใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล จะทำให้เด็กติดการใช้คำพูดรุนแรง ไม่มีเหตุผล เหนือสิ่งอื่นใดยังทำร้ายจิตใจเด็กด้วย


3. สอนด้วยตัวอย่าง
เด็กจะซึมซับพฤติกรรมจากตัวอย่างที่เขาเห็นเป็นประจำ ฉะนั้น พฤติกรรมของคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็กจึงมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของเด็ก อย่างพ่อแม่หรือผู้ปกครอง คือคนที่เด็กใกล้ชิดที่สุด เด็กจะเรียนรู้และเลียนแบบในสิ่งที่คุณทำ เพราะคิดว่าเขาทำได้ ไม่ผิด (เพราะคุณก็ทำ) ดังนั้น ถ้าคุณอยากให้ลูกเป็นคนอย่างไร คุณต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง อย่าให้เด็กย้อนถามเวลาที่คุณดุเขาว่า “ทีพ่อ/แม่ยังทำได้เลย”


4. รักด้วยใจ ไม่ใช่ตามใจ
พ่อแม่บางคนคิดว่าการตามใจลูก อยากได้อะไรก็หามาให้ ไม่เคยขัดใจเลยสักครั้ง เป็นความรักที่ลูกต้องการ แต่ไม่ใช่เลย เขารู้สึกได้ว่าคุณเลี้ยงเขาด้วยวัตถุไม่ใช่จิตใจ จริงอยู่ที่เด็กจะอยากได้นู่นได้นี่เป็นรางวัลเมื่อตนเองทำดี แต่คุณไม่ควรละเลยสิ่งเล็ก ๆ อย่างคำชื่นชม และสีหน้าภาคภูมิใจ ยินดี เมื่อเขาทำสำเร็จ รางวัลก็ให้บ้างในโอกาสสำคัญ ๆ และเพื่อที่เด็กจะได้ไม่ติดนิสัยเอาแต่ใจ ไม่รู้จักอดทน ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมไม่ได้


5. สอนให้เดินได้ ไม่ใช่เดินแทน
พ่อแม่จะต้องถ่ายทอดทักษะในชีวิตประจำวันให้กับลูกตามพัฒนาการที่เหมาะสมของช่วงวัย เพื่อให้เป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ๆ ในสังคม ให้เขาได้คิดเอง ตัดสินใจเอง และลงมือทำเอง อย่าทำให้เขาทุกอย่างจนเคยตัว ทำอะไรเองไม่เป็น คุณต้องคำนึงว่าคุณไม่สามารถอยู่กับเขาได้ชั่วชีวิต ดังนั้นในวันที่คุณไม่อยู่ ลูกคุณจะต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่จะหวังพึ่งคนอื่นไปตลอด


6. อย่าทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว
ความสัมพันธ์ในครอบครัว คือการไว้เนื้อเชื่อใจและไม่ทิ้งให้ใครต้องโดดเดี่ยว คุณควรทำให้ลูกเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่จะยังอยู่ข้าง ๆ เสมอ คุณอาจจะช่วยอะไรเขาไม่ได้มาก แต่เขาก็ยังได้กำลังใจจากคุณ ในฐานะพ่อแม่หรือผู้ปกครอง คุณควรสนับสนุน ช่วยเหลือตามที่คุณช่วยได้ เป็นที่ปรึกษาที่ดี ให้เขาพูดคุยกับคุณได้ทุกเรื่อง ช่องว่างระหว่างคุณกับลูกจะห่างกันน้อยลง เข้าอกเข้าใจกันได้มากขึ้น


7. เชื่อใจลูกตัวเองก่อนเชื่อคนอื่น
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่าด่วนตัดสินว่าลูกตัวเองว่าเป็นคนผิดในทันที ก่อนจะได้สอบถามความจริง คุณควรจะเชื่อใจลูกตัวเองก่อน ฟังเขาอธิบาย ถ้าผิดจริงก็ว่าไปตามผิด อบรมสั่งสอน ลงโทษตามเห็นสมควร เพราะถ้าคุณเชื่อคนอื่นมากกว่าลูกตัวเอง เด็กจะคิดว่าคุณไม่ไว้ใจ ไม่รัก เห็นคนอื่นดีกว่า เขาก็จะไม่ไว้ใจคุณเช่นกัน ในเมื่อพ่อแม่ยังไม่เชื่อใจ เด็กก็คงไม่หวังจะพึ่งพ่อแม่อีกต่อไปแล้ว


8. อย่าเอาลูกตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
ไม่ว่าจะใครก็แล้วแต่ ไม่มีใครชอบการถูกเปรียบเทียบว่าคนอื่นดีกว่าตัวเองหรอก โดยเฉพาะคนเป็นพ่อเป็นแม่ การเอาลูกตัวเองไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น หรือแม้บางบ้านยังเปรียบเทียบพี่น้องกันเองด้วยซ้ำ เพื่อหวังให้เขาคิดได้และปรับปรุงตัว แต่เด็กไม่ได้คิดลึกซึ้งขนาดนั้น เขาคิดแค่ว่าพ่อแม่ไม่รัก หรือรักลูกไม่เท่ากัน ทำให้เด็กบางคนทำตัวประชดพ่อแม่ จนเตลิดเสียผู้เสียคนไปเลยก็มี


9. เอาใจใส่ หมั่นสังเกตพฤติกรรม
เด็กบางคนมีพฤติกรรมที่บ้านทำอย่างแต่ที่โรงเรียนทำอีกอย่าง นั่นแปลว่าเขามีบางสิ่งบางอย่างที่เขาทำไม่ได้ที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็คือพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่อาจจะเข้มงวดกับเขามากเกินไป เขากลัวถูกดุ กลัวถูกตี กลัวทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เลยทำลับหลังพ่อแม่ นานวันเข้าเด็กจะติดนิสัยโกหก พ่อแม่จึงต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกบ้างว่ามีพฤติกรรมที่บ้าน ที่โรงเรียนเป็นอย่างไร ถ้าเห็นว่าไม่ถูกไม่ควรจะได้ชี้แนะกันได้ทัน


10. ให้กำลังใจไม่ใช่ซ้ำเติม
ขึ้นชื่อว่าเด็ก เขาไร้เดียงสา รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่ได้คิดรอบคอบซับซ้อนเท่าผู้ใหญ่ ถ้าเขาทำผิด เขาพลาด คุณจะต้องยืนข้าง ๆ เขา ให้กำลังใจ ปลอบใจ เพื่อให้เขารู้ว่าคุณไม่ได้ผิดหวังในตัวเขา จะช่วยให้เขากล้าที่จะเผชิญกับปัญหา กล้าที่จะเสี่ยงกับการใช้ชีวิต และช่วยให้เขาแข็งแกร่งขึ้นได้ด้วยตัวของเขาเอง บางครั้งเขาอาจไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ แต่เขาต้องการแค่แรงสนับสนุนจากพ่อแม่ก็เท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook