10 เคล็ดลับ "ช้อปออนไลน์" อย่างไรไม่ถูกหลอก

10 เคล็ดลับ "ช้อปออนไลน์" อย่างไรไม่ถูกหลอก

10 เคล็ดลับ "ช้อปออนไลน์" อย่างไรไม่ถูกหลอก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้การ “ช้อปออนไลน์” กำลังได้รับความนิยมมาก เนื่องจากสะดวก ไม่ต้องออกไปตามหาให้ยุ่งยาก เพียงกดสั่ง จ่ายเงิน รอของมาส่ง ก็จบง่าย ๆ ไม่กี่ขั้นตอน อีกทั้งยังมีของบางอย่างที่หาไม่ได้ตามท้องตลาดก็ต้องหาสั่งในออนไลน์ จึงกลายเป็นโอกาสทองสำหรับมิจฉาชีพที่จะงัดกลโกงต่างๆ มาหลอกเหยื่อที่ชอบช้อปออนไลน์ ดังนั้น Tonkit360 จึงได้รวบรวม 10 เคล็ดลับในการซื้อของออนไลน์มาฝากกัน


1. เช็กความน่าเชื่อถือของร้าน
หากเป็นร้านค้าที่ขายสุจริต มักจะมีข้อมูลในการติดต่อครบถ้วน ทั้งชื่อร้าน ที่อยู่ร้าน เบอร์ติดต่อ วิธีการสั่งซื้อ รวมถึงมีแอคเคาท์ที่เป็นของร้าน จัดสินค้าเป็นหมวดหมู่ชัดเจน ทั้งนี้สามารถนำชื่อร้าน ชื่อผู้ขาย หรือเลขที่บัญชีไปลองค้นหาใน Google หรือที่ blacklistseller.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางในการตรวจสอบผู้ขายที่ทุจริต เพื่อดูว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ โดยผู้ที่มีประสบการณ์จะเข้ามารายงานข้อเท็จพร้อมหลักฐานประกอบ เพื่อเตือนภัยคนอื่น ๆ

แต่ถ้าเป็นผู้ขายที่เป็นบุคคล ที่จะพบได้ตามเพจขายของ ก็ต้องเช็กชื่อให้ดี ๆ โดยชื่อที่ใช้ควรเป็นชื่อที่เป็นทางการ ไม่ใช่ชื่อแบบตั้งเล่น ๆ และควรเข้าไปดูที่หน้าโปรไฟล์สักนิดว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน จะช่วยได้มากทีเดียว และยังนำชื่อ หรือเลขที่บัญชีไปเช็กได้เช่นเดียวกันกับการเช็กร้านค้า


2. อ่านรีวิวและฟีดแบ็ก
รีวิวและฟีดแบ็กร้านทุกวันนี้มีทั้งของจริงจากลูกค้าที่มารีวิว และก็ยังมีรีวิวจากหน้าม้าที่ร้านจ้างมา อีกทั้งยังมีทั้งคอมเมนต์ที่มีสาระและหาสาระไม่ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การอ่านคอมเมนต์ที่รีวิวและฟีดแบ็กต่าง ๆ จึงต้องใช้วิจารณญาณให้มาก หากเป็นคอมเมนต์ที่มีภาพประกอบเป็นตัวสินค้าจริง ๆ ที่ลูกค้าถ่ายเอง ก็เชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งตามปกติควรจะมีคอมเมนต์คละกันระหว่างพอใจและไม่พอใจ หากมีอวยในแง่ดีอย่างเดียวก็เริ่มน่าสงสัยแล้ว


3. เก็บหลักฐานการซื้อขาย
หากต้องจ่ายเงินก่อนให้เก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ให้ครบถ้วน ทางที่ดีควรจะแคปภาพหน้าจอการสนทนาระหว่างการซื้อขายไว้ด้วย เพื่อป้องกันการปิดบัญชีหนีหรือลบข้อความ หรือขอสำเนาบัตรประชาชนของผู้ขายมาเลย ซึ่งก็ยังเสี่ยงที่จะเป็นบัตรประชาชนสวมรอยได้อีก แต่หากเป็นการชำระเงินปลายทาง ถ้าเป็นไปได้ควรเปิดตรวจสอบสินค้าด้านในก่อนว่าครบถ้วนและตรงปกตามที่สั่งหรือไม่ เพราะหากมีปัญหาก็ยังสามารถปฏิเสธที่จะไม่รับและไม่จ่ายเงินได้


4. อย่าเสี่ยงซื้อของชำรุดง่าย
พยายามหลีกเลี่ยงของที่แตกหักง่าย บูดเสียง่าย หรือของที่ต้องนำมาประกอบ เพราะบางครั้งของอาจไม่ได้เสียหายมาจากทางร้านแต่เสียหายในระหว่างขนส่ง อาจจะมีการวางทับ ขนส่งล่าช้า โยนของระหว่างนำขึ้นรถ ทำให้ข้าวของชำรุด อุปกรณ์ไม่ครบ หรือไม่ทันวันหมดอายุได้

หรือหากของเสียหายมาจากร้านค้า ไม่ว่าจะของไม่ครบหรือมีตำหนิเกินรับได้ก็ทำให้เสียอารมณ์ เสียเวลาทักไปขอเปลี่ยน เสียเวลาส่ง ดีไม่ดีก็จะเสียเงินค่าส่งเพิ่มอีก หรือแม้แต่ทางร้านอาจจะโทษว่าเป็นความผิดของบริษัทขนส่งหรือความผิดเรา เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบก็ได้ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็น อย่าเสี่ยงซื้อของชำรุดง่ายทางออนไลน์


5. อย่าเสี่ยงซื้อของแพง
เป็นกรณีที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เสี่ยงได้ของปลอม เสี่ยงได้ของชำรุด เสี่ยงได้ของไม่ตรงปก เสี่ยงได้ของด้อยคุณภาพ รวมถึงเสี่ยงที่จะเสียเงินฟรีแล้วไม่ได้ของด้วย หากเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ควรสั่งจากร้านที่เป็นร้าน official ของสินค้า ร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่าย มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือร้านที่มีเครื่องหมาย Verified ว่าเป็นบัญชีผู้ใช้จริง มีข้อมูลติดต่อต่าง ๆ มีรายละเอียดสินค้า และมีวิธีในการสั่งของชัดเจน ก็จะลดความเสี่ยงลงได้มาก


6. แอดช่องทางโซเชียลส่วนตัว มั่นใจไว้ก่อนว่าโกง
ร้านค้าที่ขายของอย่างสุจริต จะไม่ให้ลูกค้าแอดช่องทางติดต่อที่เป็นแอคเคาท์ส่วนตัว แต่บางร้านอาจให้แอดช่องทางโซเชียลแต่เป็นของร้าน ก็ต้องดูให้ดี ๆ ตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนกดจ่ายเงินทุกครั้ง ยกเว้นผู้ขายที่เป็นบุคคล หากจะให้แอดหรือติดต่อช่องทางโซเชียลส่วนตัวก็ไม่แปลก ก็ต้องหาทางตรวจสอบดี ๆ


7. ของฟรีไม่มีในโลก
กลยุทธ์ในการจูงใจลูกค้าให้ซื้อ คือ การตั้งราคาให้ถูกกว่าท้องตลาดแบบเกินจริง มิจฉาชีพบางคนไม่ได้มีของขายจริง แต่ไปขโมยรูปจากที่อื่นมา แล้วนำภาพมาตั้งขายราคาถูก ซึ่งไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แต่ราคาที่แสนถูกนั้น หากมีคนโดนหลอกหลายคน มิจฉาชีพก็ได้ไปหลายเงินเหมือนกัน และกว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอก มิจฉาชีพก็ปิดแอคเคานต์หนีไปเสียแล้ว


8. ดูความเคลื่อนไหวของร้านกับลูกค้า
ร้านที่มีจำนวนคนติดตามน้อย ๆ หรือเพิ่งสร้างแอคเคานต์มาใหม่ ๆ แน่นอนว่าคงไม่น่าเชื่อถือเท่ากับร้านที่คนตามเยอะ และร้านอยู่มานาน เนื่องจากร้านเป็นที่รู้จักจนได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเป็นจำนวนมากแล้ว อย่างไรก็ดีก็ต้องระวังการติดตามแบบหน้าม้าไว้ด้วย และควรสังเกตร้านที่แทบไม่มีความเคลื่อนไหว ไม่มีการโต้ตอบระหว่างร้านกับลูกค้าเลย ว่าการซื้อขายนั้นอาจไม่ปลอดภัย


9. ระวังสินค้า pre-order ของจากต่างประเทศ
ด้วยข้อจำกัดของสินค้า pre-order ที่ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องจ่ายเงินก่อน อาจจะจ่ายเต็มจำนวน หรือจ่ายแบบมัดจำ ซึ่งแม้จะเป็นการจ่ายแบบมัดจำ แต่ถ้ามีผู้หลงเชื่อหลายคน มิจฉาชีพก็ได้เงินไปไม่น้อย รวมถึงของ pre-order ต้องใช้ระยะเวลาในการรอ เร็วที่สุดก็ประมาณ 15-20 วัน ดังนั้นก็มีโอกาสที่จะโดนหลอกได้ง่าย จึงต้องตรวจสอบให้ดีว่าเชื่อถือได้แค่ไหน ของชิ้นนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ รวมถึงราคาเกินจริงจากท้องตลาดไปมากหรือไม่ ก่อนจะเสี่ยงสั่งซื้อ


10. มีสติ
การซื้อของออนไลน์ไม่ว่าจะราคาถูกหรือแพง ก็ไม่ควรจะถูกหลอกทั้งนั้น ถึงจะไม่เสียดายเงิน แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เจ็บใจหรือเสียความรู้สึก ดังนั้น ก่อนกดโอนเงินต้องตั้งสติให้ดี อย่ารีบร้อน เพราะกลโกงมีหลายรูปแบบ เราอาจจะระวังแบบนี้ แต่ก็คาดไม่ถึงว่าจะโดนอีกแบบก็ได้ และหากโดนหลอกเข้าจริง ๆ ก็ต้องตั้งสติอีกเช่นกัน อย่าให้คนโกงลอยนวล ต้องหาวิธีดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อรับผิดกับสิ่งที่ทำ และเพื่อไม่ให้คนอื่น ๆ ต้องโดนหลอกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook