“ตุ๊กตา พนิดา” บทบาทคุณแม่ ความท้าทายภายในโลกโควิด-19 ที่ยังมองไม่เห็นภาพ

“ตุ๊กตา พนิดา” บทบาทคุณแม่ ความท้าทายภายในโลกโควิด-19 ที่ยังมองไม่เห็นภาพ

“ตุ๊กตา พนิดา” บทบาทคุณแม่ ความท้าทายภายในโลกโควิด-19 ที่ยังมองไม่เห็นภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา อีกหนึ่งความน่ายินดีคือครอบครัวของ “คุณตุ๊กตา-พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล” เจ้าของเพจเที่ยวรอบลูก, smileplease.mom บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Yayee และ “คุณบอย-ตรัย ภูมิรัตน” ศิลปิน นักแต่งเพลงชื่อดังได้ต้อนรับ “น้องขุนเขา” ลูกคนที่สองซึ่งเป็นน้องชายของ “น้องชื่นใจ” ลูกสาวคนโตวัยใกล้ 7 ขวบ

หากแต่ช่วงเวลาตั้งแต่คุณตุ๊กตาตั้งครรภ์กระทั่งคลอด กลับเป็นเวลาเดียวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยายวงกว้างขึ้น แม้คุณตุ๊กตาไม่ได้วิตกกับสถานการณ์มากนัก แต่สิ่งที่ชวนให้เธอครุ่นคิดและหาคำตอบในบทบาทคุณแม่แรกคลอด ที่ยังต้องดูแลลูกทั้งสองไปพร้อมกันคือก้าวต่อไปบนเส้นทางที่เธอยอมรับว่ามองไม่เห็นภาพ  ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องจัดสมดุลชีวิต และเตรียมรับมือกับอนาคตที่ยังจินตนาการไม่ออก

ตอนท้องเป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก คุณมีความรู้สึกกังวลมากน้อยแค่ไหน

มีบ้างในระดับหนึ่ง แต่เป็นความกังวลที่เราจินตนาการไม่ออก เราไม่รู้เส้นทางและปลายทาง เราต้องเตรียมตัวแค่ไหน จึงรับมือด้วยการอยู่กับปัจจุบัน คือระวังตัว ปรับชีวิตประจำวัน ไม่ออกไปไหนเลย อยู่บ้านเป็นหลัก สั่งซื้อของออนไลน์  ไปซูเปอร์มาร์เก็ตบ้างประมาณ 2 อาทิตย์ครั้ง

โดยปกติเราทำงานที่บ้านอยู่แล้วจึงไม่ได้รู้สึกทรมานกับการทำงานที่บ้าน แต่ภาวะแบบนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ เพราะเราเคยมีอิสระกว่านี้ เมื่อก่อนหากเบื่อๆ อยากออกไปนั่งเขียนงานในคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือห้องสมุดก็ทำได้ ชีวิตได้ “ดังใจ” กว่านี้ ขนาดชื่นใจลูกสาวเขาเป็นเด็กติดบ้าน เพราะเขารู้สึกว่าบ้านคืออาณาจักรของเขา แต่พออยู่บ้านนานๆ เขายังเริ่มถามว่าทำไมเราไม่ไปไหนกันเลย ดังนั้นไม่ว่าจะชอบอยู่บ้านแค่ไหน ก็รู้สึก เพราะชีวิตมันไม่เหมือนเดิม ในเวลาแบบนี้เราควบคุมชีวิตของเราไม่ได้ขนาดนั้น

ขณะที่ท้องน้องขุนเขา และต้องดูแลน้องชื่นใจไปด้วย คุณปรับตัวอย่างไรบ้าง

ในสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่เราคนเดียวที่ต้องปรับตัว คนอื่นก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ลงตัวกันได้ ซึ่งทำให้เรารู้เลยว่าตัวเองแข็งแกร่งมากกว่าที่คิด เพราะตอนท้อง น้องชื่นใจที่ปกติติดแม่มาก เขาอยากให้เราเล่นกับเขาตลอด เมื่อก่อนเล่นได้ แต่พอท้องแก่บางทีนั่งเล่นกับพื้นไม่ถนัด แต่เราก็ต้องพยายาม เพราะไม่อยากให้เขารู้สึกว่าการที่เขาจะมีน้องแล้วเขาต้องสูญเสียอะไรไป

คุณต้องทำอย่างไรให้น้องชื่นใจเข้าในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดแบบนี้

เราต้องทำให้เขาเข้าใจอย่างมาก แต่เขาโตพอที่จะเข้าใจเหตุการณ์ และเราก็สามารถอธิบายให้เขาฟังได้ เราจะดูรายงานข่าวประจำวัน หรือข่าววิเคราะห์ไปพร้อมกัน แล้วเขาจะค่อยๆ ซึมซับไปเองจนเข้าใจ

ทางโรงเรียนตั้งแต่ตอนที่ยังเรียกโรคนี้ว่าไวรัสอู่ฮั่นก็มีส่วนช่วยให้เด็กๆ เข้าใจ ปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยทั้งใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเขาเข้าใจเรื่องนี้ก็คือตอนที่มาเล่นกับเรา เหมือนความเข้าใจแฝงอยู่ในการเล่นของเขา

อะไรเป็นความท้าทายในการที่ดูแลลูกในท้องไปพร้อมกับน้องชื่นใจ

ความท้าทายคือเราจะยังมีชีวิตของตัวเองที่สมดุลได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะอยู่เอง เป็นโสดแล้วมาแต่งงานมันคือการทำให้ชีวิตสมดุล แต่พอมีลูก ทุกอย่างคือการเพิ่มสมาชิก เพิ่มกิจกรรมเข้าไป สิ่งนี้เป็นเรื่องยาก จะทำอย่างไรให้เราบาลานซ์ตัวเองกับสิ่งที่เราต้องทำทั้งหมดได้ในเวลาที่เรามีอยู่ไปพร้อมกับการไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง

ถ้าเรารู้สึกสูญเสียตัวเอง เราจะทำทุกอย่างได้ไม่ดี ทุกอย่างจะพังหมด เราต้องบาลานซ์ตัวเองให้ได้ก่อน การบาลานซ์ตัวเองในที่นี้คือบางครั้งเรามีเรื่องที่อยากทำ เช่นจัดโต๊ะเขียนหนังสือ ทำอาหาร มีงานที่ต้องเคลียร์ นี่คือเรื่องส่วนตัวที่ยังจำเป็นต้องทำ เราไม่สามารถอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อทุกคนที่อยู่รอบตัวได้ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเราจะรู้สึกเสียสมดุล ถ้าใน 1 วันมีเรื่องที่เราอยากทำ แล้วเราได้ทำ เราจะมีแรงไปทำเรื่องอื่นได้มากกว่าเดิม

อะไรคือวิธีจัดสมดุลให้ชีวิตลงตัวในแบบของคุณ

แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เราจะพยายามจัดสรร อย่างหนึ่งคือเราจัดตารางเวลากับชื่นใจเพราะว่าเขาเป็นตัวแปรที่ต้องการเวลาจากเราเยอะมาก ส่วนขุนเขานั้นเราจะเริ่มปรับ พยายามเรียนรู้วิธีการกิน นอน กับขุนเขาเราควบคุมอะไรไม่ได้อยู่แล้ว เราจะทำทุกอย่างไปตามเวลาของเขา แต่สิ่งที่เราต้องจัดการมากที่สุดคือเวลาของตัวเองกับชื่นใจ ส่วนของพี่บอยเขาก็มีเวลาของเขา เขาต้องออกไปทำงาน เขาก็ต้องบาลานซ์ชีวิตของเขาเหมือนกัน

เราจึงทำตารางเวลาใน 1วันว่าเราจะทำอะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นนอน พอจัดตารางเวลามันจะดีมาก พอทำไปสัก 2-3 วัน ชื่นใจจะเริ่มรู้แล้วว่าเดี๋ยวทานข้าวเสร็จเราจะทำอะไรกัน เวลาไหนที่เขาจะเป็นอิสระ แต่จริงๆ ที่เล่นอิสระ เขาก็อยากให้เราเล่นด้วย แต่บางทีเราก็ขอเวลาไปทำงานซึ่งเป็นเวลาส่วนตัวของเรา เป็นการทำตารางร่วมกัน ซึ่งผลของมันดีมาก ทำให้เรารู้ตัวเอง และลูกก็รู้ว่าเขาจะทำอะไรได้ถึงเมื่อไร เราแค่คอยกำกับเวลา และในช่วงเวลาเหล่านี้ ขุนเขาจะตื่นหรืออะไรก็ค่อยว่ากันไปตามนั้น

วันคลอดน้องขุนเขา คุณมีความรู้สึกกังวลไหม และจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร

ท้องที่สองมันเป็นความรู้สึกคนละแบบกับท้องแรก เพราะท้องแรกเราตื่นเต้นเนื่องจากเป็นโลกที่เราไม่เคยเห็น ต่อให้อ่านหนังสือมามากแค่ไหน แต่ภาพในหัวมันก็ไม่ชัด เพราะมันไม่เคยสัมผัส แต่ท้องสองเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เราเริ่มรู้แล้วว่าเดี๋ยวตรงนี้มันจะเป็นแบบนี้ แล้วจะเจ็บแบบนี้ จากประสบการณ์ครั้งแรกที่เรากลัว มันก็จะยิ่งกลัวเข้าไปอีกก็มี ใจจริงอยากคลอดอีกสัปดาห์หนึ่งเพราะงานไม่เสร็จ เลยขอนัดคลอดสัปดาห์ถัดไป แต่ว่าหมออยากให้คลอดในสัปดาห์ที่ขุนเขาคลอดนี่แหละ เพราะหมอเริ่มรู้สึกว่าช่วงนั้นโควิด-19 เริ่มระบาดหนัก มันเป็นช่วงที่คลอดได้และปลอดภัย

ส่วนเรื่องโควิด-19 เราไม่ได้กังวลเพราะทีมคุณหมอดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างดี แต่จริงๆ เราต้องตรวจโควิด-19 ก่อนวันคลอด แต่ปรากฏว่าวันที่เราจะไปตรวจกลับเป็นอีกสัปดาห์หนึ่งซึ่งไม่ทันเพราะเราเจ็บท้องและคลอดก่อน

ตอนนี้สถานการณ์บ้านเราดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่ปกติ ในบทบาทคุณแม่วางแผนชีวิตไว้อย่างไรบ้าง

ยังไม่รู้เลยค่ะ ทุกวันนี้จะออกไปทานข้าวนอกบ้าน ก็ไม่รู้จะไปดีไหม อย่างวันก่อนไปโรงพยาบาลแล้วไปทานข้าวกลางวันก็ต้องนั่งแยกโต๊ะกัน แม้จะมาด้วยกัน ชื่นใจก็ต้องนั่งแยกโต๊ะกับเรา ถ้าเป็นแบบนี้มันก็ลำบาก

แต่ตอนนี้เรื่องที่กังวลที่สุด และต้องรอไปอีกคือเรื่องเปิดเรียน เพราะว่าโรงเรียนยังเป็นจุดเสี่ยงและควบคุมไม่ได้ แม้จะบอกว่าเปิดเทอม 1 กรกฎาคม แต่สุดท้ายก็ต้องดูต่อไปอีกว่าสามารถเปิดได้ไหม เพราะอย่างในต่างประเทศเปิดโรงเรียนแล้วก็กลับมาปิดโรงเรียนอีกทีเพราะมีการแพร่ของโรค ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่เรารอ และพยายามหาว่าสิ่งที่เหมาะกับชื่นใจเป็นอย่างไร เพราะแต่ละครอบครัวมีลูกอายุไม่เท่ากัน แต่ถ้าให้เรียนออนไลน์เรารู้สึกว่าไม่เหมาะกับวัยของเขา ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายมากทั้งกับครอบครัว โรงเรียน ครู และนักเรียน

ชีวิตที่จะเปลี่ยนไปเป็น New Normal คุณเตรียมรับมือไว้อย่างไรบ้าง

มันยากมากเพราะเรายังไม่รู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแค่ไหน ยังคิดอยู่ทุกวัน เราจะทำอย่างไรในสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นใหม่และเปลี่ยนไปตลอดกาล วันนี้รับมือแบบอยู่กับปัจจุบันจริงๆ  อย่างห้างเปิดแล้วก็จริง ร้านหนังสือก็เปิดแล้ว ปกติทุกวันศุกร์จะไปร้านหนังสือกับชื่นใจแล้วซื้อหนังสือให้ชื่นใจ 1 เล่ม ตอนนี้ก็ไปไม่ได้ เพราะไม่รู้จะไปดีไหม เวลาคิดจะไปไหน มันจะมีความคิดที่สองตามมาเสมอ มันจะต้องรู้สึก “เอ๊ะ” กับตัวเองตลอด

มีครั้งหนึ่งไปคาเฟ่ ตอนนั้นดีใจมาก แต่พอไปถึงคนเยอะมาก กลับทำให้เรากังวล นั่งในร้านด้วยความไม่สบายใจ ดังนั้นมันไม่ใช่แค่ทุกอย่างเปลี่ยนไป แต่ตัวเราก็เปลี่ยนไปด้วย ทำให้เราไม่มีความสุข มีคนที่ใช้ชีวิตปกติ หรือเป็นที่ตัวเราเอง และนี่คือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเสียบาลานซ์ แล้วเราจะทำตัวเองให้อยู่ในรูปแบบไหน ยังหาสมดุลตรงนี้ไม่เจอ

แต่ถ้าอยู่ในที่ๆ เราชอบ และทุกคนรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะสบายใจมาก เพราะในสังคมมีทั้งคนที่เข้าใจและทำตาม และคนที่ไม่ทำ ดังนั้นถ้าเราอยู่ในจุดที่มีคนไม่ปฏิบัติจะทำให้เรากังวล แต่ถ้าไปอยู่ในที่ที่ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ตรงกันเราจะไม่ค่อยกังวล เพราะเรารู้สึกว่าทุกคนต้องช่วยดูแลกันและกัน

คำแนะนำสำหรับคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ จะดูแลตัวเองและลูกอย่างไรในช่วงเวลานี้

ดูแลตัวเองให้แข็งแรงถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะโควิด-19 ถ้าร่างกายแข็งแรงเราจะสู้กับมันได้ ถ้าร่างกายแข็งแรง จิตใจก็จะดีไปด้วย อย่างตัวเองช่วงคลอดอาการภูมิแพ้กลับเป็นขึ้นมาอีกทั้งๆ ที่พยายามรักษามาตลอด ตอนนั้นทั้งไอ จาม คุณหมอก็กังวลเรื่องผ่าตัดแล้วจะทำให้เจ็บแผลมาก ต้องรีบหาย แต่ก็ไม่หาย ซึ่งทรมานมาก ไอ จามเจ็บแผลจนร้องไห้ทุกวัน ดังนั้นถ้าร่างกายเราแข็งแรงจะดีกว่าซึ่งก็สัมพันธ์กับเรื่องการทานอาหารที่ดี เป็นอาหารที่รู้ที่มาที่ไป รวมไปถึงการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี

 

 

 

 

 

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ “ตุ๊กตา พนิดา” บทบาทคุณแม่ ความท้าทายภายในโลกโควิด-19 ที่ยังมองไม่เห็นภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook