วิธีที่คนญี่ปุ่นใช้เก็บและถนอมผักให้อยู่ได้นานโดยคงคุณค่าสารอาหารไว้

วิธีที่คนญี่ปุ่นใช้เก็บและถนอมผักให้อยู่ได้นานโดยคงคุณค่าสารอาหารไว้

วิธีที่คนญี่ปุ่นใช้เก็บและถนอมผักให้อยู่ได้นานโดยคงคุณค่าสารอาหารไว้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยามที่ต้องกักตุนอาหารไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน การเก็บอาหารแห้งนั้นไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ผักต่าง ๆ ที่ต้องรับประทานเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายนั้นหากเก็บไว้หลายวันก็จะสูญเสียคุณค่าทางอาหารหรือเน่าเสียได้ วันนี้จะมาแนะนำวิธีการเก็บผักให้อยู่ได้นานและคงคุณค่าสารอาหารไว้ตามคำแนะนำของคนญี่ปุ่นนะคะ

วิธีการเก็บผักและถนอมผักให้อยู่ได้นาน

ถั่วงอก

ถั่วงอกที่บรรจุถุงหากเก็บไว้ในตู้เย็นจะทำให้เน่าภายใน 2-3 วัน วิธีการยืดอายุถั่วงอกนั้นทำได้โดยใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มถุงถั่วงอกให้เป็นรูเล็ก ๆ เพื่อให้อากาศเข้าไปได้ เพราะถั่วงอกเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการอากาศนั่นเอง

ผักกาดกว้างตุ้ง

ผักกาดกวางตุ้งเป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินซี การวางผักไว้ที่อุณหภูมิห้องเพียง 4 วันจะทำให้วิตามินซีลดลงเหลือเพียงประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับการเก็บในตู้เย็นเพียง 2 วันจะทำให้วิตามินซีหายไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่การแช่แข็งจะช่วยคงวิตามินได้นาน 2-3 สัปดาห์

วิธีการนำมาแช่แข็งทำได้โดยการล้างผักให้สะอาด หั่นให้ได้ขนาดตามชอบ ใส่ถุงและนำแช่ช่องแข็ง ซึ่งจะสามารถเก็บได้โดยไม่สูญเสียคุณค่าอาหารประมาณ 2-3 สัปดาห์ ตอนนำมารับประทานก็นำมาวางไว้ที่อุณหภูมิห้องให้น้ำแข็งละลายก่อนนำมาปรุงอาหาร หรือจะปรุงทั้งที่ผักยังแข็งเลยก็ได้

บร็อคโคลี่

บร็อคโคลี่เป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินบี วิตามินเค เส้นใยอาหาร แคโรทีนที่ช่วยบำรุงสุขภาพของดวงตาและผิวพรรณ นอกจากนี้บร็อคโคลี่ยังมีสารประกอบสำคัญคือ ซัลโฟราเฟน แคมพ์เฟอรอล และเควอซิทิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยยับยั้งการเกิดโรคหัวใจ ลดการอักเสบ และลดความดันโลหิต เป็นต้น

วิธีการถนอมบร็อคโคลี่นั้นทำได้โดยนำบร็อคโคลี่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ มาต้มในน้ำเดือดผสมเกลือ 1 ช้อนชา เป็นเวลา 2-3 นาที จากนั้นนำมาล้างในน้ำเย็น วางให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำใส่ถุงและแช่แข็งเก็บไว้ได้โดยไม่สูญเสียคุณค่าอาหารประมาณ 1 เดือน เวลานำมารับประทาน หากจะใช้เป็นสลัดหรือผักจิ้มก็นำมาวางให้น้ำแข็งละลายที่อุณหภูมิห้อง หากจะนำมาปรุงอาหาร เช่น ผัดหรือต้มก็สามารถใช้ทั้งที่ยังแข็งอยู่ได้เลย

หอมใหญ่

หอมใหญ่อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ชื่อ เควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งเป็นหนึ่งในสารพฤกษเคมีหรือไฟโตนิวเทรียนท์ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็ง โรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวัน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคภูมิแพ้ เป็นต้น โดยปกติเควอซิตินจะมีมากที่เปลือกหอม แต่การนำเปลือกหอมมารับประทานนั้นมีวิธีการที่ยุ่งยาก

การนำหอมปอกเปลือกมาตากแดดไว้ประมาณ 1 อาทิตย์จะทำให้ปริมาณเควอซิทินเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เวลานำมารับประทานก็นำมาต้มหรือผัดให้สามารถรับประทานน้ำซุปจากหอมใหญ่ได้ทั้งหมด

เห็ดต่าง ๆ

เห็ดต่าง ๆ อุดมไปด้วยบีต้ากลูแคน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพและช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรง

การเก็บถนอมเห็ดเพื่อให้คงคุณค่าและมีรสชาติอร่อยขึ้นทำได้โดยการนำเห็ดมาเช็ดให้สะอาดด้วยกระดาษชำระสำหรับงานครัวหรือผ้าสะอาดชุบน้ำบิดหมาด แบ่งใส่ถุงขนาดพอใช้แต่ละครั้ง แล้วนำแช่แข็ง การแช่แข็งจะทำให้เซลล์เห็ดแตกและปล่อยเอนไซม์ที่ย่อยสลาย RNA ให้สารที่ให้รสชาติอร่อย ได้แก่ กรดกัวนิลิก (Guanylic acid) กรดกลูตามิก (Glutamic acid) และกรดแอสพาร์ติก (Aspartic acid) ออกมาประมาณ 2-3 เท่า ทำให้เห็ดมีรสชาติหอมอร่อยยิ่งขึ้น เวลานำมารับประทานก็นำออกมาจากช่องแข็งแล้วผัดหรือต้มได้เลย ไม่ควรนำเห็ดแช่น้ำเพื่อละลายน้ำแข็งเพราะนอกจากจะทำให้รสชาติของเห็ดหายไปแล้วน้ำยังดึงเอารสขมของเห็ดออกมาด้วย

มันฝรั่ง

มันฝรั่งไม่ควรเก็บในที่อุณหภูมิห้องเพราะนอกจากจะมีตางอกออกมาแล้วก็ทำให้มันฝรั่งแห้งด้วย วิธีการเก็บมันฝรั่งที่ดีคือ การนำมาห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์และใส่ถุงเก็บไว้ในตู้เย็น พบว่าการแช่ในตู้เย็นประมาณ 2 อาทิตย์จะทำให้แป้งในมันฝรั่งเปลี่ยนเป็นน้ำตาล ส่งผลให้มันฝรั่งหวานกว่าเดิมถึง 2 เท่า

วิธีการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการเก็บถนอมผักเพื่อให้คงคุณค่าและสารอาหารไว้ให้ได้มากที่สุด ช่วงนี้เป็นช่วงที่ชีวิตต้องการผักและผลไม้เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงไม่ป่วยง่าย สู้ ๆ นะคะ เราจะผ่านวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกันค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก その調理、9割の栄養捨ててます!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook