"ครึ่งหนึ่งของวัยผู้ใหญ่" กิจกรรมเสริมสร้างการรู้จักตัวตนและความพยายามของเด็กวัย 10 ขวบ

"ครึ่งหนึ่งของวัยผู้ใหญ่" กิจกรรมเสริมสร้างการรู้จักตัวตนและความพยายามของเด็กวัย 10 ขวบ

"ครึ่งหนึ่งของวัยผู้ใหญ่" กิจกรรมเสริมสร้างการรู้จักตัวตนและความพยายามของเด็กวัย 10 ขวบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าทุกวันจันทร์ที่ 2 มกราคมของทุกปีนั้นเป็นวันสำคัญที่ได้รับการยกให้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ของญี่ปุ่น คือ วันฉลองบรรลุนิติภาวะ (成人の日 หรือ Seijin no hi หรือ Coming of Age day ซึ่งแปลตามตัวก็คือ วันผู้ใหญ่ หรือวันสำคัญของการก้าวย่างสู่ความเป็นผู้ใหญ่ของหนุ่มสาวญี่ปุ่น ในวันฉลองบรรลุนิติภาวะนี้ทางเมืองต่างๆ จะจัดพิธีมอบประกาศนียบัตร ให้โอวาทและให้กำลังใจแก่กลุ่มบุคคลที่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่รุ่นใหม่อันเป็นวัยที่สามารถรับผิดชอบตนเองได้แล้ว ในปัจจุบันนี้โรงเรียนประถมศึกษาส่วนใหญ่ได้จัดกิจกรรมครึ่งหนึ่งของวัยผู้ใหญ่ เรียกว่า นิ บุง โนะ อิชิ โนะ เซอิจิน ชิกิ (Ni bun no Ichi no Seijin shiki หรือ 2分の1成人式) มารู้จักกิจกรรมสำคัญกิจกรรมหนึ่งสำหรับเด็กๆกันนะคะ

ความสำคัญของเด็กสิบขวบ
ในญี่ปุ่นเด็กวัยสิบขวบหรือประถมศึกษาปีที่สี่เป็นวัยที่ได้รับความวางใจจากผู้ใหญ่ว่าสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยเหลืองานบ้านแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้ด้วย ศูนย์รับดูแลเด็กหลังเลิกเรียนหรือโรงเรียนที่รับดูแลเด็กประถมหลังเลิกเรียนในเด็กที่พ่อแม่ทำงานจะไม่รับดูแลเด็กวัยสิบขวบอีกแล้วเพราะเชื่อว่าเด็กๆสามารถช่วยเหลือตนเองได้แล้ว ในปัจจุบันโรงเรียนจำนวนมากได้จัดกิจกรรมครึ่งหนึ่งของวัยผู้ใหญ่เพื่อให้ผู้ปกครองได้เห็นความสามารถและทัศนคติของเด็กที่จะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหนึ่ง

กิจกรรมและความสำคัญของครึ่งหนึ่งของวัยผู้ใหญ่


กิจกรรมครึ่งหนึ่งของวัยผู้ใหญ่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นให้แก่เด็กประถมศึกษาปีที่สี่ในโรงเรียนส่วนใหญ่ของญี่ปุ่น ที่คุณครูจัดให้เด็กได้มองหาสิ่งดีๆที่มีอยู่ในตัวตนและสอบถามความคิดเพื่อนฝูงและพ่อแม่ในสิ่งดีๆที่ตนมี ตลอดจนให้เด็กได้ตระหนักถึงความสามารถพิเศษของตนเองเพื่อจัดเตรียมหรือจัดซ้อมให้ผู้ปกครองได้ชมในวันกิจกรรม

กิจกรรมครึ่งหนึ่งของวัยผู้ใหญ่จะถูกจัดขึ้นในวันที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองไปดูลูกเรียนหนังสือเพื่อให้ผู้ปกครองได้รู้จักลูกของตนเองมากขึ้นจากการร่วมกิจกรรม แต่ละโรงเรียนจะมีรายละเอียดของงานที่แตกต่างกัน โรงเรียนส่วนใหญ่จะเน้นให้เด็กเขียนจดหมายบอกข้อความในใจถึงพ่อแม่ จัดให้เด็กทุกคนได้แสดงความถนัดต่างๆ เช่น ดนตรี งานศิลปะ การอ่านบทโคลงกลอนและกีฬาต่างๆ ได้แก่ฟุตบอล วอลเลย์บอล แบดมินตัน ว่ายน้ำ กระโดด เชือก ลูกข่างและเบสบอล เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนกล่าวข้อความถึงพ่อแม่ ซึ่งรวมถึงการกล่าวขอบคุณพ่อแม่ ความหวังและความไฝ่ฝันในอนาคตของตนเอง กิจกรรมจบลงด้วยความภูมิใจและความปลื้มใจของพ่อแม่ที่ได้รู้ว่าลูกน้อยวัยสิบขวบของตนจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าของสังคม

สิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบในระบบโรงเรียนรัฐบาลญี่ปุ่นคือ ความพยายามอย่างเต็มที่ของคุณครูและบุคลากรในโรงเรียนเพื่อปูพื้นฐานให้เด็กมีระเบียบวินัยและมีคุณค่าในตัวเองจากการส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้ค้นเจอความสามารถของแต่ละคน ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตรง แม้ว่าด้านวิชาการจะไม่แน่นเหมือนเด็กโรงเรียนเอกชน แต่ผู้เขียนคิดว่าคนเราหากค้นเจอในสิ่งที่ตนเองชอบแล้วจะมีความพยายามเรียนในด้านวิชาการในที่สุด และการเริ่มต้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ โดยที่เข้าใจตัวตนเองมากขึ้นน่าจะทำให้เด็กๆเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook