รู้ทัน "โรค"...หน้าร้อน Food poisoning...Diarrhea

รู้ทัน "โรค"...หน้าร้อน Food poisoning...Diarrhea

รู้ทัน "โรค"...หน้าร้อน Food poisoning...Diarrhea
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อต้นเดือนเมษายน ผู้เขียนมีโอกาสขึ้นเหนือเยือนจังหวัดเชียงราย ในรายการของกองสุขศึกษา ซึ่งมี คุณเบญจมาศ สุรมิตรไมตรี เป็นโต้โผจัดอบรมนักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ มีท่านรองอธิบดีกรมสนับสนุน บริการสุขภาพ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย เป็นเจ้าภาพใหญ่ของงาน?

ก่อนขึ้นเครื่องบินที่กรุงเทพฯ ก็รู้สึกว่าร้อนแล้ว พอมาถึงสนามบินเชียงรายผู้เขียนได้ยินผู้โดยสารเกือบทุกคน บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าร้อนมาก ก่อนหน้านี้มีร้อนไหม? ฝุ่นละอองมากไหม? หายใจสะดวกไหม? เสียงสนทนาจากคนรอบข้าง ล้วนอยู่ในประเด็น ร้อน ร้อน ร้อน แล้วก็ร้อน?




ตัวผู้เขียนเรื่องความร้อนนั้นไม่ต่างจากคนอื่นๆ แต่ที่เพิ่มเติมและมากกว่า คือ ขณะที่นั่งบนเครื่องรู้สึกอึดอัดท้อง ประมาณว่าท้องเสีย ผะอืดผะอม บอกไม่ถูก พานคิดเรื่อยเปื่อย นั่งเครื่องบินมาหลายเพลา จะมาเสียท่าเมาเครื่องบินหรือนี่กระไร?ใช้เวลาสังเกตอาการตัวเองสักระยะ ด้วยวิชาชีพหมอจึงวินิจฉัยได้ว่า น่าจะเป็นอาการของคนท้องเสีย จากอาหารเป็นพิษแน่แท้?เมื่ออาการและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นชัดเจน ชัดเจนจนต้องขออนุญาตข้ามฉากสำคัญที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไปนะครับ (ฮา)

เจอเหตุการณ์กับตัวเองเช่นนี้ ทำให้นึกถึงเรื่องโรคที่เกิดบ่อยๆ ในหน้าร้อน เลยขอหยิบเรื่องนี้มาเตือนให้เพื่อนๆ ผู้อ่าน ได้รู้ทันโรคหน้าร้อนกันดีกว่า เพื่อจะได้ป้องกันดูแลสุขภาพอนามัย ก่อนที่จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บน่าจะดี

ในสภาวะปัจจุบันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ประสบปัญหาเหมือนๆ กันคือ "โลกร้อน" และในหน้าร้อน ฤดูร้อนเช่นนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างสูง ในที่นี้จะกล่าวถึงเรื่องอาหารและน้ำเป็นหลัก เพราะเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งในชีวิตประจำวัน เนื่องจากในหน้าร้อนและแล้งอย่างนี้จะช่วยเสริมความรุนแรงและมีอาการเริ่มอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากมี "แบคทีเรีย" หรือ "สารพิษ" ต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในน้ำ อาหาร และอากาศ

แบคทีเรียหรือสารพิษเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรค "อาหารเป็นพิษ" และหรือ "ท้องร่วง" ซึ่งเป็นอันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ถ้าไม่รีบไปพบแพทย์

สาเหตุที่สำคัญนอกจากอาหารที่ปรุงดิบๆ สุกๆ จากเนื้อสัตว์ อาหารกระป๋อง อาหารทะเล นมที่ปนเปื้อนเชื้อหรือหมดอายุ อาหารค้างคืน ไม่ได้แช่เย็น ถ้าไม่อุ่นให้เดือดทั่วถึงก่อนรับประทาน ก็อาจจะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ ข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จากการเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 10 มีนาคม 2556 พบผู้ป่วย 191,515 ราย จาก 77 จังหวัด เสียชีวิต 1 ราย โดยพบผู้ป่วยมากในผู้สูงอายุเกิน 65 ปี และเด็กอายุ 1 ปี เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ นอกจากนี้ พบผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารและน้ำมากในกลุ่มอายุ 15-24 ปี..อันแสดงให้เห็นแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้จะมีผู้เสียชีวิตเพียง 1 ราย แต่ก็มีนัยสำคัญทางสถิติ?ต้องบอกว่าอาหารเป็นพิษมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เลือกเพศ วัย สถานะ และอาชีพ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านเป็นผู้หนึ่งที่รักสุขภาพ และดูแลสุขภาพร่างกายเป็นอย่างดี ยังต้องเจ็บป่วยด้วยอาหารเป็นพิษ?

ดังนั้น เราๆ ท่านๆ จึงต้องระมัดระวังอย่างที่สุดในเรื่องอาหารการกิน

อาการสำคัญท่านต้องระวังตัวเองคือ หลังกินอาหารปนเปื้อนจะเกิดอาการตั้งแต่ 1 ชั่วโมง จนถึง 8 วัน มักจะพบว่าพวกกินเป็นหมู่ เช่น กลุ่มเด็กนักเรียนทั้งโรงเรียน กลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มปฏิบัติธรรม มีอาการพร้อมๆ กันหลายคน อาการมีมากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่ละบุคคลและปริมาณที่กิน อาการที่พบ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ตามด้วยมีไข้ เบื่ออาหาร อุจจาระร่วง บางรายปวดบริเวณท้องรอบสะดือ ใต้ลิ้นปี่ ท้องน้อยด้านซ้าย มีตั้งแต่อาการน้อยจนรุนแรง อาจถ่ายมีมูกเลือดปนได้ ? ดังนั้น อาหารที่พบบ่อย ซึ่งเราต้องหมั่นสังเกตและป้องกันตนเองจากอาหารที่เป็นต้นเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ แยกเป็น 6 ชนิด คือ

อาหารพวกแป้ง เช่น ข้าวผัด ขนมจีน ขนมปัง ขนมเอแคร์ ฯลฯ เป็นต้น ที่ปรุงไว้นานหรือหมดอายุอาจมีสารพิษจากเชื้อแสตปฟิลโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และแบซิลลัส (Bacillus cereus) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ

การป้องกัน ในขนมจีน ควรนึ่งก่อนรับประทาน ขนมปัง เอแคร์ ควรเลือกทานใหม่ๆ ไม่หมดอายุ ไม่มีรา อาหารที่ยังไม่รับประทานควรไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ข้าวกล่อง หรืออาหารที่เตรียมสำหรับคนจำนวนมากๆ ไม่ควรเตรียมไว้นาน ควรเน้นความสะอาดเวลาปรุง และเลือกอาหารที่ไม่บูดง่าย

อาหารทะเล เช่น ปลาหมึก กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เตรียมไม่สะอาด ปรุงไม่สุกหรือปรุงสุกไม่ทั่วถึง อาจจะมีเชื้อแบคทีเรียก่อให้เกิดโรค เช่น เชื้อวิบริโอ พาราเฮโมโลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ

การป้องกัน ควรเลือกซื้ออาหารที่สดและสะอาด รับประทานอาหารทะเลที่มั่นใจว่าปรุงสุกแล้ว ถ้าเป็นพวกหอยแมลงภู่ควรดึงเส้นใยดำๆ ออกก่อนรับประทาน ส่วนพวกปูเค็ม ปูดอง และหอยแครง ควรทำให้สุกก่อนกิน ไม่ควรวางอาหารที่ปรุงสุกปะปนกับอาหารดิบ

อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา กุ้ง เครื่องในสัตว์ รวมทั้งนมและไข่ ซึ่งมักปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ก่อให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น Vibrio cholera, Salmonella, Entero pathogenic E. coli, Campylobacter

การป้องกัน ควรแยกเขียงที่ใช้กับอาหารดิบและอาหารสุก เลือกซื้อเนื้อ นม ไข่ ที่สดและสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสอาหารโดยตรง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อลงในอาหาร ทั้งนี้ รวมทั้งผู้จำหน่าย ผู้ปรุง และผู้บริโภค ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ควรให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดมีด เขียง ที่วางเนื้อสัตว์จำหน่ายปลอดจากแมลงวันตอม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทเนื้อที่สุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย

น้ำดื่ม "น้ำ" เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต หากดื่มน้ำไม่สะอาดและปลอดภัยเพียงพอ อาจทำให้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงจากแบคทีเรียก่อโรคที่ปนเปื้อนได้

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ดื่มน้ำต้มสุก ควรดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เลือกรับประทานน้ำแข็งที่สะอาด ไม่ควรดื่มน้ำจากแม่น้ำลำคลอง หนองบึงที่ยังไม่ผ่านการบำบัด

ผักและผลไม้ อาจมีสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างอยู่ หรืออาจมีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคและหรือไข่พยาธิปนอยู่ ทานเข้าไปอาจเกิดอาหารเป็นพิษได้ นอกจากนี้ ยังมี "เห็ดพิษ" ที่บริโภคไม่ได้

การป้องกัน ก็ต้องเลือกซื้อผัก ผลไม้ที่สด สะอาด ปลอดสารเคมีและยาฆ่าแมลง ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนนำมากิน โดยการเด็ดใบ คลี่ใบ ล้างผ่านน้ำสะอาดหลายครั้ง หลีกเลี่ยงทานผักดิบ เลือกซื้อเห็ดที่ไม่มีพิษหรือเห็ดที่รู้จักจริงๆ เท่านั้น

อาหารกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง ผักกระป๋อง แกงกระป๋อง ผลไม้กระป๋องที่เก็บไว้นานๆ จนเป็นสนิม หรือกระป๋องบวม หากนำมาปรุงรับประทาน อาจทำให้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษได้ เนื่องจากสารพิษจากเชื้อ Clostridium perfringens และ Clostridium botulinum

การป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงการกินอาหารกระป๋องที่หมดอายุ หรือกระป๋องที่เป็นสนิม บุบ บวมหรือโป่งพอง เลือกซื้ออาหารที่บรรจุในกระป๋องที่สภาพดี ควรดูวันหมดอายุทุกครั้งก่อนรับประทาน อุ่นอาหารให้เดือดที่ 100 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที เพื่อทำลายสารพิษ หรือที่ 120 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที เพื่อทำลายสปอร์ของเชื้อ

อีก 1 โรคที่พบบ่อยคู่กันเสมอคือ "โรคอุจจาระร่วง" อาการที่ชัดเจนคือ ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือมีมูก มูกปนเลือด อย่างน้อย 1 ครั้ง สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อจากการกินอาหาร และดื่มน้ำไม่สะอาดเช่นกัน การไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนการเตรียมปรุงอาหาร และภาชนะสกปรกมีเชื้อโรคอันตราย คนท้องเสียมากๆ ร่างกายจะขาดน้ำและเกลือแร่ไปพร้อมกับอุจจาระจำนวนมาก จนอาจทำให้ช็อกหมดสติ ถึงแก่ความตายได้โดยเฉพาะในเด็ก

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ อนามัยส่วนบุคคลต้องดี "ล้างมือ" ให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด ก่อนปรุง ก่อนกิน หลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

การรักษาเบื้องต้น เนื่องจากในผู้ป่วยอาหารเป็นพิษมักจะมีอาการ "อาเจียน" เป็นอาการเด่น จึงใช้รักษาตามอาการ คือ ควรให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ แต่ถ้าอาเจียนมากๆ รับประทานไม่ได้เลย ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายเป็นน้ำ มีไข้ ปวดท้อง ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที สำหรับโรคท้องร่วงถ้ากินได้ให้กินอาหารอ่อนๆ และหรือน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) ทดแทนน้ำที่เสียไป หากรุนแรงนำส่งโรงพยาบาล

ทั้งหมดนี้ผู้เขียนยกตัวอย่างอาหารและน้ำที่กินบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน 6 ประเภท พอเป็นแนวคิด แนวทาง ถ้านอกเหนือจากนี้ ไม่แน่ใจชนิด ประเภทอาหาร ส่วนผสม การปรุง การเก็บรักษา ตลอดจนการรับประทาน จะปรุงสุกหรือปรุงดิบเพื่อรับประทาน หรืออาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็นนานๆ ฉลากหายไป หรือเก็บหมกๆ อยู่ตามตู้ตามซอก...หลายๆ อย่าง หากไม่แน่ใจให้ตัดใจ..."ทิ้งไป"...อย่ากินเด็ดขาด...เพราะกินแล้ว เอาออกจากปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหารไม่ได้เลย นอกจากใส่สายยางล้างท้องเท่านั้น หรือทำให้อาเจียนออกมา ถ้าหลังทาน 1/2 ชั่วโมง-1 ชั่วโมง แล้วจะดูดซึมไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้

อย่าลืมผู้เขียนย้ำนะครับให้กินอาหาร น้ำ ที่มั่นใจว่า สะอาด ปรุงสุก ปลอดเชื้อปลอดสารพิษเท่านั้น รับรองปลอดภัยแน่ครับ

ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.photos.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook