โรคมือเท้าปาก แค่ล้างมือ ผึ่งแดด ก็รอด

โรคมือเท้าปาก แค่ล้างมือ ผึ่งแดด ก็รอด

โรคมือเท้าปาก แค่ล้างมือ ผึ่งแดด ก็รอด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เด็กที่ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย หลังจากนั้นจะมีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้และไม่ยอมรับประทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หากพบเด็กมีอาการไข้สูงต่อเนื่อง ควรรีบพาไปพบแพทย์ ทั้งนี้โรคมือ เท้าปาก สามารถติดต่อได้ด้วยการสัมผัส

ผู้ปกครองควรให้เด็กที่ป่วยรักษาตัวอยู่แต่ในบ้านเพื่อป้องกันการระบาดไปยังเด็กคนอื่น สำหรับโรงเรียนควรมีการดูแล ทำความสะอาดโรงเรียนอย่างสม่ำเสนอ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ราวบันได โรงครัว ภาชนะใส่น้ำ อาหาร ห้องน้ำ เครื่องเล่นของเด็ก รวมทั้งสอนให้เด็กได้ล้างมืออย่างถูกวิธีทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังการขับถ่ายด้วย

สถานการณ์โรคมือ เท้า ปากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ กทม. อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 เป็นต้นมา ซึ่งจากการเปรียบเทียบต่อเดือนย้อนหลัง 5 ปี พบว่าสถิติการเกิดโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม ซึ่งมีอากาศร้อน ชื้น พบผู้ป่วยสูงมากเป็นพิเศษ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 5 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นต้นมา พบผู้ป่วยสะสมแล้วกว่า 2,000 คน เฉพาะวันที่ 1-9 กรกฎาคม 2555 พบจำนวน 135 คน เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ค็อกซากี ซึ่งไม่มีความรุนแรงเท่ากับสายพันธุ์ที่พบในประเทศกัมพูชา

กรุงเทพมหานครได้กำชับสถานศึกษาทุกแห่งเข้มงวดมาตรการการดูแลรักษาความสะอาดภายในโรงเรียน และมาตรการการดำเนินการหากพบผู้ป่วย โดยในกรณีพบผู้ป่วย 2 รายขึ้นไปในห้องเรียนเดียวกันให้ปิดเฉพาะห้องเรียนนั้น และหากพบผู้ป่วยข้ามชั้นเรียนให้พิจารณาปิดโรงเรียนอย่างน้อย 7 วัน ทั้งนี้ จะได้มีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจระหว่างกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารโรงเรียน และผู้ปกครองต่อไป

จากการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์เอ็นเทอร์โรไวรัส 71 ในประเทศกัมพูชา จนทำให้มีเด็กเสียชีวิตจำนวนมาก

การดูแลรักษาพยาบาล

โรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายได้เอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะป่วยนานประมาณ 7-10 วัน ใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาทาแก้ปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นและกระพุ้งแก้ม ควรเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้รับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำ น้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดการปวดแผลในปาก

หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงจนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกุล่มเด็กเล็กและเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือผู้ที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

วิธีป้องกันง่ายๆ

แนะนำสุขอนามัยส่วนบุคคลแก่บุตรหลาน และผู้ดูแลเด็ก โดยเฉพาะการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหารหรือก่อนและหลังรับประทานอาหาร รักษาสุขลักขลักษณะของสถานที่ ห้องเรียน ห้องครัว ภาชนะใส่อาหาร รวมทั้งห้องน้ำ ห้องส้วม อาคารสถานที่ เครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำ รวมทั้งการกำจัดอุจจาระให้ถูกต้องและล้างมือบ่อยๆ ที่สำคัญ ต้องไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กป่วย และตัดเล็บให้สั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook