พ่อแม่โปรดสังเกต ลูกของคุณแค่ดื้อ หรือถึงขั้นเป็น โรคดื้อและต่อต้าน กันแน่

พ่อแม่โปรดสังเกต ลูกของคุณแค่ดื้อ หรือถึงขั้นเป็น โรคดื้อและต่อต้าน กันแน่

พ่อแม่โปรดสังเกต ลูกของคุณแค่ดื้อ หรือถึงขั้นเป็น โรคดื้อและต่อต้าน กันแน่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บางครั้งลูกหลานแสนน่ารักของคุณอาจงอแง เอาแต่ใจ พูดไม่ฟัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจถือเป็นพฤติกรรมปกติของเด็ก แต่หากเด็กมีพฤติกรรมดังกล่าวบ่อยเกินไป จนเริ่มสร้างปัญหาให้กับตัวเอง และผู้คนรอบข้าง พฤติกรรมเหล่านั้นอาจไม่ใช่แค่การดื้อรั้นตามประสาเด็ก แต่อาจเป็นอาการที่บ่งบอกว่าลูกหลานของคุณเป็น โรคดื้อและต่อต้าน หนึ่งในโรคทางพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเพิกเฉย

ทำความรู้จักกับโรคดื้อและต่อต้าน

โรคดื้อและต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder หรือ ODD) คือ ความผิดปกติทางพฤติกรรมที่เริ่มต้นในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น เด็กที่เป็นโรคนี้จะแสดงพฤติกรรมต่อต้าน เมินเฉย ไม่เชื่อฟัง หรือไม่ยอมทำตามคำสั่ง และสิ่งที่ผู้อื่นขอให้ทำ เพราะคิดว่าคำสั่งหรือคำขอเหล่านั้นไร้เหตุผล จึงรู้สึกโมโห และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา เมื่อถูกบอกให้ทำอะไร โดยเด็กที่เป็นโรคดื้อและต่อต้านมักจะมีอาการของโรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้าร่วมด้วย การที่เด็กจะดื้อรั้น หรือไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่บ้างไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โดยเฉพาะเมื่อเด็กคนนั้นเหนื่อย อารมณ์เสีย หรือไม่ได้ดั่งใจ แต่เด็กที่เป็นโรคดื้อและต่อต้าน จะแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นประจำ อีกทั้งพฤติกรรมยังรุนแรง จนเป็นปัญหารบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กและผู้คนรอบข้าง ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เด็กเป็นโรคดื้อและต่อต้าน มีทั้งปัจจัยทางชีวภาพ จิตใจ และสังคม เช่น

  • กรรมพันธุ์
  • ความขัดแย้งภายในครอบครัว
  • ครอบครัวไม่สมบูรณ์
  • การใช้ความรุนแรงในครอบครัว
  • ครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคทางจิตเวช
  • ครอบครัวมีผู้ติดยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์
  • การเลี้ยงลูกผิดวิธี
  • ถูกรังแก หรือถูกละเลย

พฤติกรรมแบบนี้ เข้าข่ายเป็นโรคดื้อและต่อต้าน

หากลูกหลานคุณแสดงพฤติกรรมเหล่านี้หลายข้อ เป็นเวลานานกว่า 6 เดือน อาจมีสิทธิ์เป็นโรคดื้อและต่อต้าน

อาการทางพฤติกรรม

  • โมโหร้าย ระงับความโกรธไม่ค่อยได้
  • เถียงผู้ใหญ่แบบเอาเป็นเอาตาย
  • ชอบยั่วโมโหคนอื่น
  • โทษคนอื่นในเรื่องที่ตัวเองทำผิด
  • ทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นเป็นประจำ
  • จงใจไม่เชื่อฟัง ต่อต้าน และเพิกเฉยต่อกฎระเบียบ หรือคำสั่ง
  • พูดจาหยาบคาย และอาฆาตมาดร้ายเวลาโกรธ
  • ไม่รู้จักประนีประนอม หรือต่อรอง

อาการทางความคิดอ่าน

  • ไม่มีสมาธิ
  • ไม่รู้จัก “คิดก่อนพูด”

อาการทางจิตสังคม

  • ผูกมิตรกับคนอื่นได้ยาก
  • ดูถูกตัวเอง
  • มองโลกในแง่ร้าย

ทั้งนี้ เด็กผู้ชายและผู้หญิงจะแสดงพฤติกรรมของโรคดื้อและต่อต้านต่างกัน เด็กผู้ชายจะแสดงพฤติกรรมภายนอก (Overt Behavior) ซึ่งโจ่งแจ้ง และสังเกตได้ง่าย เช่น การทะเลาะวิวาท หรือชกต่อย ส่วนเด็กผู้หญิงมักจะแสดงพฤติกรรมภายใน (Covert Behavior) ซึ่งเกี่ยวข้องกับจิตใจ และสังเกตได้ยากกว่า เช่น การคุกคามเชิงสัมพันธภาพ (relational aggression) อย่าง การจงใจทำลายมิตรภาพ หรือปล่อยข่าวลือให้ผู้อื่นเสียหาย

โรคดื้อและต่อต้าน กับผลเสียที่ตามมา

หากเด็กเป็นโรคดื้อและต่อต้านแล้วรับไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้องและทันท่วงที โรคดื้อและต่อต้านอาจส่งผลกระทบด้านต่างๆ ดังนี้

  • ทำให้เป็นคนต่อต้านและแปลกแยกจากสังคม
  • มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ หาเพื่อนไม่ได้
  • ส่งผลกระทบต่อการเรียน
  • มีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์
  • เสี่ยงติดสารเสพติดและแอลกอฮอล์
  • มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย

โรคดื้อและต่อต้าน... หายได้หรือไม่

เด็กก่อนวัยเรียนที่เป็นโรคดื้อและต่อต้านส่วนใหญ่จะหายจากโรคนี้ได้ตอนอายุประมาณ 8 ปี ในขณะที่บางคนอาจยังเป็นโรคนี้ไปจนถึงช่วงวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ โดยบางอาการของโรคดื้ออาจหายขาด แต่บางอาการยังคงอยู่

ลูกเป็นโรคดื้อและต่อต้าน พ่อแม่ช่วยได้

ปัจจุบันการรักษาโรคดื้อและต่อต้านมีทั้งการเยียวยาจิตใจและรักษาด้วยยา แต่ก็ยังไม่มีวิธีใดที่รับรองว่าเห็นผลแน่นอน วิธีง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เพื่อบรรเทา หรือลดความเสี่ยงไม่ให้ลูกหลานคุณเป็นโรคดื้อและต่อต้าน ก็คือ การเลี้ยงดูอย่างถูกวิธี โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • มองโลกแง่ดีเข้าไว้ การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) ถือเป็นวิธีที่ดีในการรับมือกับเด็กที่เป็นโรคดื้อและต่อต้าน คุณไม่ควรตอกย้ำว่าเด็กทำผิด แต่ควรหาโอกาสชื่นชมเวลาที่พวกเขาประพฤติตัวดี
  • ให้รางวัล เวลาเด็กประพฤติตัวดี คุณควรแสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณสนใจ และให้รางวัลหรือแสดงความยินดีด้วยท่าทาง เช่น การกอด การแปะมือไฮไฟฟ์ แทนคำพูด เพื่อให้เด็กๆ มีกำลังใจในการทำดีต่อไป
  • อย่าตะคอก เวลารับมือกับเด็กที่เป็นโรคดื้อและต่อต้าน สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด ก็คือ การตะคอก เพราะยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟ ทำให้เหตุการณ์แย่ลงกว่าเดิม คุณพ่อคุณแม่ควรควบคุมตัวเองให้ได้ พูดคุยด้วยเหตุผลอย่าใช้อารมณ์ และต้องไม่ลืมว่า อย่าเจ้ากี้เจ้าการเกินไป เพราะจะเป็นการเสริมแรงทางลบทำให้เด็กดื้อและต่อต้านหนักกว่าเก่า

แต่หากวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล คุณควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้รักษาอาการโรคดื้อและต่อต้านของลูกหลานคุณได้อย่างตรงจุดที่สุด

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook