องค์กรแพทย์ผนึกเครือข่ายประชาชนจัด สัปดาห์ป้องกันภัยมะเร็งปากมดลูก

องค์กรแพทย์ผนึกเครือข่ายประชาชนจัด สัปดาห์ป้องกันภัยมะเร็งปากมดลูก

องค์กรแพทย์ผนึกเครือข่ายประชาชนจัด สัปดาห์ป้องกันภัยมะเร็งปากมดลูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

19 เมษายน 2554 รพ.ศิริราช : สมาคมมะเร็งนรีเวชแห่งประเทศไทย สมาคมอนามัยเจริญพันธุ์(ไทย) คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เครือข่ายต้านภัยมะเร็งปากมดลูก โครงการผู้หญิงปกป้องผู้หญิง (Woman Protect Woman) มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ และภาคเอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์ "สัปดาห์ป้องกันภัยมะเร็งปากมดลูก" หรือ Cervical Cancer Prevention Week ภายใต้แนวคิด "คิดผิด คิดใหม่ ป้องกันภัยมะเร็งปากมดลูก" เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตราย สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงและวิธีการป้องกันภัยมะเร็งปากมดลูกอย่างถูกต้อง เนื่องจากพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ยังมีความคิดผิดๆ ทำให้มะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตหญิงไทยสูงถึงปีละ 5,200 คน หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุฯ เสด็จเป็นประธานเปิดงาน ณ อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ โรงพยาบาลศิริราช

        นพ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล ที่ปรึกษาสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูก ยังเป็นมะเร็งร้ายที่พบได้บ่อยในหญิงไทย เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก และยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะในผู้หญิง 3 กลุ่ม ดังนี้
        1. กลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ยังมีความเข้าใจผิดเรื่องกลุ่มเสี่ยง โดยคิดผิดว่ามะเร็งปากมดลูกเกิดเฉพาะในผู้ผู้หญิงที่ที่มีคู่นอนหลายคนเท่านั้น จึงมั่นใจว่าตนเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เพราะคิดว่าแต่งงานใช้ชีวิตอยู่กับผู้ชายเพียงคนเดียว ไม่ได้เปลี่ยนคู่นอนบ่อย แต่ ในความเป็นจริง 50-80% ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีได้ในช่วงชีวิตหนึ่ง การมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียว หรือผู้หญิงที่มีคู่นอนคนเดียว ก็มีโอกาสในการรับเชื้อเอชพีวีเช่นกัน ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดควรฉีดวัคซีนร่วมด้วย
        2. กลุ่มที่มีลูกสาวอยู่ในช่วงเด็ก-วัยรุ่น คุณแม่กลุ่มนี้มักจะไม่ให้ความสำคัญของการป้องกันโรคเท่าที่ควร เนื่องจากคิดว่ามะเร็งปากมดลูกเกิดจากติดเชื้อไวรัสเอชพีวีทางเพศสัมพันธ์ จึงเข้าใจไปเองว่าลูกยังเด็กเกินไปคงไม่จำเป็นต้องป้องกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกพบมากที่สุดในช่วงวัยรุ่น 15-19 ปี แต่ที่พบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในวัยผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก เนื่องจากมีระยะฟักตัวนาน 10-15 ปี จึงจะเป็นมะเร็งปากมดลูก ดังนั้น พ่อแม่จึงควรให้ภูมิคุ้มกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ลูกสาวย่างเข้าสู่วัยรุ่น โดยสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ได้ผลสูงสุดและจะช่วยปกป้องการเกิดมะเร็งปากมดลูกในอนาคต
        3. กลุ่มผู้หญิงวัยทำงานยุคใหม่ กลุ่มนี้มักจะไม่เห็นความสำคัญของการป้องกันและการตรวจคัดกรอง เนื่องจากมั่นใจว่าตนไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก เพราะผู้หญิงทำงานยุคใหม่มักจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงในทุกด้าน เลือกการดำเนินชีวิตด้วยตนเอง คิดว่าตนยังไม่แต่งงานจึงไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง อีกทั้งยังเข้าใจว่าการใช้ถุงยางอนามัยจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ 100% ซึ่งในความเป็นจริงการใช้ถุงยางอนามัยก็ไม่สามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้ 100% ดังนั้นการป้องกันและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้หญิงทุกคน แม้จะแต่งงาน หรือยังไม่แต่งงานก็ตาม

 

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อผิดๆที่ทำให้หลายคนไม่ตระหนัก

 
ถึงการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
           - คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่ามะเร็งปากมดลูกเกิดจากกรรมพันธุ์ เหมือนมะเร็งชนิดอื่นๆ หากไม่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมาก่อน จึงเข้าใจผิดไปเองว่าตนไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ความจริงคือมะเร็งปากมดลูก ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ แต่เกิดจากการติดเชื้อไว้รัสเอชพีวีชนิดก่อมะเร็ง ซึ่งติดต่อได้ง่ายทางเพศสัมพันธ์ 
           - คิดว่าตนเองมีการดูแลสุขภาพทั่วไปอย่างดี และไม่มีอาการผิดปกติ จะไม่เป็นโรค จึงไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรอง เพราะเข้าใจว่าสัญญาณเตือนของมะเร็งปากมดลูก คือการมีเลือดออกบริเวณช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ มีประจำเดือนกะปริบกะปรอย หรือมีตกขาวผิดปกติ แต่แท้จริงแล้วอาการเบื้องต้นของมะเร็งปากมดลูกจะไม่ปรากฏอาการ เมื่อได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ซึ่งใช้เวลานาน 10-15 ปี ดังนั้นอาการที่ปรากฏไม่ใช่อาการเบื้องต้นแต่หมายถึงการลุกลามของมะเร็งแล้ว
           - มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการป้องกัน ซึ่งการป้องกันสามารถทำได้โดยการตรวจคัดกรองร่วมกับการฉีดวัคซีน หลายคนคิดว่าการตรวจคัดกรองแล้วไม่พบเชื้อก็ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำ แต่การตรวจนั้นควรทำเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจว่าผู้หญิงที่ไม่เคยมี เพศสัมพันธ์เท่านั้นจึงควรฉีดวัคซีนป้องกัน แต่การฉีดวัคซีนสามารถฉีดวัคซีนได้จนถึงอายุ 50 ปีไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม ซึ่งวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้สูง 70-80% และคุ้มกันนาน 15-20 ปี


           ฉะนั้น หญิงไทยทั้งหลายอย่าให้ความเข้าใจผิด นำไปสู่การเจ็บป่วยหรือสูญเสียชีวิต ควรตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจคัดกรองเป็นประจำ ร่วมกับการฉีดวัคซีน และการมีครอบครัวที่เหมาะสม และที่สำคัญควรคิดใหม่ ทำความเข้าใจเรื่องโรคอย่างถ่องแท้ ปรับเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ เพราะความคิดผิดๆ อาจนำไปสู่ 1 ใน 14 คน ที่ต้องเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกในแต่ละวัน

 

 

           นอกจากนี้ รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวแนะนำว่า ควรรู้จักสังเกตความผิดปกติของตัวเองด้วย เพื่อจะได้รีบแก้ไข ซึ่งอาการเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูกจะมี จุด หรือ ก้อน ตรงปากมดลูกโดยการมีเลือดออกมาผิดปกติโดยเฉพาะหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือ บางคนจะมีเลือดออกระหว่างรอบเดือนแต่ไม่ใช่รอบเดือน อาการเหล่านี้มักจะเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น ถ้าเป็นระยะมากว่านั้นก็จะมีอาการปวดตามที่ต่างๆที่จะกระจายเข้าไป เช่นไปที่ต่อมน้ำเหลือง กระดูก หรือ อื่นๆ ก็จะอาการปวดตรงบริเวณนั้น ระยะและความรุนแรงของโรคแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มะเร็งจำกัดอยู่เพียงปากมดลูก ระยะที่ 2 มะเร็งเริ่มลุกลามออกนอกปากมดลูกไปด้านข้าง ระยะที่ 3 มะเร็งเริ่มลุกลามจนถึงอุ้งเชิงกราน และระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปไกล การรักษาถ้าจะรักษาให้หายขาดควรจะได้รับการรักษาตั้งแต่ตอนที่เชื้อไวรัสยังเป็นแค่เซลล์อยู่ ดังนั้น ต้องหมั่นตรวจเช็คว่ามีเซลล์ผิดปกติหรือไม่ ถ้าเจอก็จะได้รักษาอย่างทันทีก็จะหายขาด แต่พอเริ่มเป็นมะเร็งแล้วโอกาสที่จะหายขาดนั้นก็จะมีน้อยลงไป ถ้าพบในระยะที่ 1 ที่ยังจำกัดอยู่แค่ปากมดลูก หรือ ในระยะเริ่มต้นก็จะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งผลการักษาค่อนข้างออกมาดี แต่หากเป็นระยะที่ 2 - 4 เปอร์เซ็นต์ของการอยู่รอด หรือการมีชีวิตอยู่ก็จะน้อยลง
อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูกถือว่าเป็นการที่จะตรวจพบง่ายกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ การตรวจคัดกรองประจำปี หรือการตรวจภายใน แพทย์ก็จะเห็นได้ชัดเจนกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยการตรวจคัดกรองสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันตนเองให้พ้นจากภัยมะเร็งปากมดลูก

 


สามารถดูรายละเอียดและกิจกรรมต่างๆเพิ่มเติมได้ที่ http://www.womenprotectwomen.com/

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook