สศช.เผยภาคอีสาน-ใต้ยากจนสุด

สศช.เผยภาคอีสาน-ใต้ยากจนสุด

สศช.เผยภาคอีสาน-ใต้ยากจนสุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชี้การพัฒนาเป็นไปตามเป้า โดยเฉพาะสัดส่วนประชากรยากจนลดลงครึ่งหนึ่ง แต่ภาคอีสานและจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีภาวะความยากจนสูง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยแพร่ผลการพัฒนาตามเป้าหมายแห่งสหัสวรรษของประเทศไทย ฉบับที่ 2 โดยระบุว่าที่ผ่านมาไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาหลายด้านโดยเฉพาะการลดสัดส่วนประชากรที่ยากจนลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี 2533-2558 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ยังมีภาวะความยากจนสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่ผู้สูงอายุ เด็ก และแรงงานภาคเกษตร ถือเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องให้ความสำคัญอย่างสูงในการขจัดความยากจนในระยะต่อไป ซึ่งล่าสุดพบว่าในปี 2552 ความยากจนของคนไทยทั้งประเทศอยู่ที่ระดับ 1,586 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้แรงงานทั้งหมดรวมผู้หญิงและเยาวชนได้ทำงานที่มีคุณค่านั้น มีสัดส่วนของผู้มีงานทำต่อประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสัดส่วนผู้มีงานทำที่ยากจนมีแนวโน้มลดลง แต่ผลิตภาพหรือคุณภาพของฝีมือแรงงานนั้นกลับลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อปี 2549 แม้ว่าในช่วงปี 2543 จะเพิ่มมากขึ้นก็ตาม ขณะที่การลดสัดส่วนประชากรที่หิวโหยลงครึ่งหนึ่งก็ดำเนินการได้ตามเป้าหมายเช่นกัน

รายงานข่าว ระบุอีกว่า สศช.ยังพบว่าเป้าหมายที่กำหนดให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษานั้นถือว่าบรรลุเป้าหมายอย่างยิ่ง เพราะตั้งแต่ปี 2538 อัตรานักเรียนต่อประชากรวัยเรียนรวมระดับประถมศึกษา สูงเกินร้อยละ 100 ส่วนเป้าหมายที่จะให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาภายในปี 2549 นั้น ไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะอัตรานักเรียนต่อประชากรวัยเรียนรวมระดับมัธยมศึกษาตอนต้นปี 2549 มีอัตราสูงถึงร้อยละ 96.7 อัตราคงอยู่ของนักเรียนในปี 2548 อยู่ที่ร้อยละ 74.4 แต่อัตรานักเรียนต่อประชากรวัยเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปี 51 มีอัตราสูงขึ้นร้อยละ 68.1 ขณะที่การคงอยู่ยังต่ำอยู่ที่ระดับร้อยละ 52.8 ซึ่งการที่จะพัฒนาให้เด็กทุกคนสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปี 2558 ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เช่นเดียวกับการลดอัตราการตายของเด็กที่คาดหวังให้ลดลงในสัดส่วน 2 ใน 3 นั้น มีโอกาสสำเร็จต่ำมาก โดยเฉพาะในพื้นที่สูง ภาคเหนือและในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีแนวโน้มลดลง

ส่วนเป้าหมายอื่น ๆ เช่น การให้ทุกคนได้รับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ภายในปี 2558 พบว่ามีผลสำเร็จสูง โดยอัตราคุมกำเนิดในสตรีที่มีการสมรสอายุ 15-49 ปี เพิ่มจากร้อยละ 65.7 เป็นร้อยละ 81.1 ในช่วงปี 2532-2549 เช่นเดียวกับการต่อสู้โรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่น ๆ การรักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หรือส่งเสริมการเป็นหุ้นเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก ที่พบว่าบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ การจัดทำเป้าหมายแห่งสหัสวรรษของประเทศไทยเป็นไปตามคำรับรองปฏิญญาแห่งสหัสวรรษของ 189 ประเทศที่ได้ตกลงร่วมกันที่จะใช้เป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนและวัดผลได้ โดยกำหนดวาระการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคนและลดช่องว่างการพัฒนาภายในประเทศและระหว่างประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook