''สมชัย ฤชุพันธุ์'' กับชีวิตที่''เกษียณสุข'' ในวัยเลข 7 นำหน้า

''สมชัย ฤชุพันธุ์'' กับชีวิตที่''เกษียณสุข'' ในวัยเลข 7 นำหน้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศ. ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า อาจารย์สมชัย ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว เคยเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง นักเศรษฐศาสตร์ประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการองค์กรและบริษัทชั้นนำอีกหลายแห่ง จบการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ (Ph.D. เศรษฐศาสตร์ จาก University of Florida สหรัฐอเมริกา)

อาจารย์สมชัย ให้เกียรติสัมภาษณ์คอลัมน์งานทำเงิน เงินทำงาน เกี่ยวกับสไตล์การออมเงิน ว่า เริ่มเก็บออมตั้งแต่วัยเด็ก โดยคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังให้รู้จักการออม คือ เมื่อมีเงินเหลือก็จะออม

ผมยึดหลักการออมที่ว่า ใช้ให้น้อยกว่าที่หามาได้ และจะปฏิบัติอย่างนี้ทุกๆปี จนติดเป็นนิสัย

อาจารย์สมชัย เล่าว่า ช่วงที่อยู่ในวัยทำงาน ด้วยความที่เป็นข้าราชการ เงินเดือนก็ไม่ได้มากมาย แต่มีหลักคิดที่ว่าการรู้จักจัดสรรเงินออม ถือเป็นความสุขของชีวิตและจะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถมีเงินออมได้ ในอนาคตก็คงต้องเป็นปัญหากับการใช้ชีวิตแน่นอน

ผลจากการออมเงินมาตลอด ทำให้ชีวิตในวัยย่างเข้าสู่ 71 ปี (เกิด 5 ธันวาคม 2481 ) มีความสุข เพราะบรรลุเป้าหมายการออม โดยเฉพาะเพื่อครอบครัว ที่อาจารย์สมชัย บอกว่า ทำให้รุ่นลูกมีโอกาสทางด้านการศึกษาที่ดีกว่าตัวท่านเอง ที่กว่าจะได้เรียนในระดับสูงๆ จะต้องสอบชิงทุนเท่านั้น

ผมออมเงินมาตลอดตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน จึงมีเงินออมเพิ่มขึ้นทุกปีจากรายได้ที่หามาได้ และไม่ได้ตั้งเป้าหมายการออม แต่เห็นเงินที่ออมงอกเงยขึ้นก็พอใจแล้ว

อาจารย์สมชัย ย้อนห้วงเวลาแห่งความสุขในชีวิตการทำงานว่า จะยึดหลักการทำงานที่ว่า เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานในตำแหน่งใดก็ต้องทำให้ดีที่สุด และช่วงทำงานที่ไอเอ็มเอฟ ถือเป็นช่วงสูงสุดของชีวิตแล้ว เพราะรายได้สูงกว่าการทำงานในประเทศ 10 เท่าตัว จึงทำให้มีเงินเก็บ เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและยังเป็นช่วงที่มีเงินเข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย เพราะแม้ว่าจะดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นแต่ด้านการใช้จ่ายส่วนตัวไม่ได้เปลี่ยนแปลง

พร้อมเล่าถึงเส้นทางการออมในวัยทำงาน และนำมาสู่การใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขว่า จะกระจายการลงทุนในหลากหลายรูปแบบ แต่ก็ไม่ได้กระจายมากนักในช่วงต้นๆของการออมเนื่องจากกำลังเงินที่ออมยังน้อยอยู่

แต่พอช่วงอายุ 30-40 ปี ขึ้นไปก็เริ่มมีเงินออมมากขึ้น จึงเริ่มมองหาสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ก็อยู่ภายใต้ความเหมาะสมของการลงทุนที่เรารับความเสี่ยงได้ คือ จะเป็นแบบระมัดระวัง ทั้งการลงทุนในหุ้น ที่จะลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) เพราะสามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้

นอกจากนี้ผมยังลงทุนในพันธบัตร โดยมีเป้าหมายเพื่อลงทุนระยะยาว แต่สำหรับในปีนี้การลงทุนในพันธบัตรเริ่มไม่น่าสนใจ จึงผสมผสานด้วยการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนเพิ่ม โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น หุ้นกู้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เป็นต้น เพราะให้อัตราดอกเบี้ยจูงใจกว่า แม้จะมีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลก็ตาม สำหรับหุ้นกู้ที่ลงทุนอายุประมาณ 5 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 % ต่อปี เป็นต้น

สำหรับการลงทุนในที่ดิน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยด้วยนั้น อาจารย์สมชัย เล่าว่า ซื้อไว้สมัยนั้น(พ.ศ. 2520) ตารางวาละ 1,250 บาท ปัจจุบันราคาที่ดินเพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าแล้ว เนื่องจากอยู่ในทำเลทอง คือ มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน

ในสภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จะมีโอกาสสร้าง ผลตอบแทนดีที่สุดแต่ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ถึงแม้ว่าจะเป็นโอกาสที่ดีแต่ความเสี่ยงก็ย่อมมีตามมาด้วย เนื่องจากในภาวะแบบนี้ราคาสินทรัพย์ต่างๆได้ปรับลงมามากแล้ว คือ ประมาณ 30-50 % แม้จะมีโอกาสปรับลงได้อีก แต่ก็ไม่มากแล้ว

สุดท้ายนี้อาจารย์สมชัย แนะนำคนรุ่นใหม่ว่า ควรสร้างวินัยการออมตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มทำงาน และใช้ให้น้อยกว่าเงินที่หามาได้ อีกทั้งไม่ควรสร้างหนี้โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการครองชีพ เช่น ซื้อรถยนต์ โทรทัศน์ และโทรศัพท์ เป็นต้น แต่หากเป็นการกู้เงินเพื่อซื้อสินทรัพย์ที่จำเป็นและเพื่อการลงทุน โดยเห็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต ก็สามารถทำได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook