ลู่วิ่งไฟฟ้า : เลือกอย่างไรไม่เสียใจแม้เสียตังค์

ลู่วิ่งไฟฟ้า : เลือกอย่างไรไม่เสียใจแม้เสียตังค์

ลู่วิ่งไฟฟ้า : เลือกอย่างไรไม่เสียใจแม้เสียตังค์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในวิถีโลกยุคปัจจุบัน การเก็บตัวอยู่ที่บ้าน กลายเป็นเรื่องปกติที่เราต้องปรับตัว และทำใจยอมรับ เพราะเอาแค่ภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ก็ไม่เหมาะที่จะเสี่ยงออกไปในสถานที่ผู้คนแออัด ยิ่งบวกกับฝุ่นละออง pm 2.5 ด้วยแล้ว การก้าวเท้าออกสู่โลกภายนอก กลายเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง หรือป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด

แต่เรื่องนี้ก็เหมือนกับตลกร้าย เพราะในขณะที่ การออกนอกบ้าน = การเอาร่างกายไปเสี่ยง การออกกำลังกายกลับอยู่ในช่วงที่หลายคนให้ความใส่ใจกันมากขึ้น เพราะจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน และรับมือกับอาการป่วยได้ดีกว่าเดิม

ลู่วิ่งไฟฟ้าเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ตอบโจทย์ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะทำให้เราไม่ต้องออกไปกลางแจ้ง และสามารถซื้อไปใช้เองที่บ้านได้ไม่ต้องไปฟิตเนสที่มีผู้คนมากมาย   

แต่ลู่วิ่งไฟฟ้าดี ๆ ย่อมมีราคาแพง และการซื้อสิ่งนี้มาไว้ในครอบครองก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้เป็นประจำทุกวัน ดังนั้นเราควรพิจารณาอะไรก่อนควักกระเป๋าเพื่อซื้อลู่วิ่งไฟฟ้ามาใช้เองสักเครื่อง ติดตามได้ที่นี่

พิจารณาปัจจัยเบื้องต้น

ก่อนจะตัดสินใจซื้อลู่วิ่งไฟฟ้า ควรสำรวจตัวเองก่อนว่าเงื่อนไขของเรามีอะไรบ้าง ดังนี้

งบประมาณ : พร้อมจ่ายเท่าไหร่

ออปชัน : อยากได้เครื่องที่มีโปรแกรมพิเศษอะไรบ้าง อย่างเช่น วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น  

ผู้ใช้งาน : ใช้งานเครื่องกี่คน และใช้งานบ่อยแค่ไหน

บริเวณ : มีพื้นที่วางเครื่องมากแค่ไหน

การใช้งาน : จะใช้สำหรับการวิ่งหนักแค่ไหน เพราะการวิ่งทำให้เครื่องได้รับภาระมากกว่าการเดิน และต้องมีสายพานที่ยาวกว่า 

งบประมาณสำหรับลู่วิ่งไฟฟ้า

งบประมาณคือสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกก่อนจะซื้อเครื่องออกกำลังกายภายในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับของที่มีขนาดใหญ่และราคาสูงอย่างลู่วิ่งไฟฟ้า แน่นอนว่าเราควรจะซื้อลู่วิ่งที่มีคุณภาพสูงสุดเท่าที่เราจ่ายได้ เพราะยิ่งมีคุณภาพดีก็จะยิ่งใช้งานได้สะดวก, เงียบ และทนทาน

ถ้าพร้อมจ่ายให้เลือกสิ่งที่ดีที่สุด ถึงแม้จะมีของที่คุณภาพพอใช้ในราคาประหยัด แต่ความทนทานเทียบกันไม่ได้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่วิ่งอย่างจริงจังหรือใช้งานร่วมกันหลายคน แต่หากมีงบประมาณที่จำกัด ก็ให้เลือกเครื่องมือสองที่ผ่านการใช้งานน้อย หรือเครื่องที่เอามาปรับปรุงใหม่ ซึ่งของเหล่านี้หาได้ไม่ยากในโลกยุคปัจจุบัน

กำลังเครื่อง

แรงม้าที่ส่งจากตัวมอเตอร์ขับเคลื่อนโดยตรงมีผลอย่างมากต่อคุณภาพของลู่วิ่งไฟฟ้า รวมทั้งความรู้สึกจากการใช้งาน ดังนั้นจึงควรเลือกเครื่องที่มีค่าแรงม้าสำหรับทำความเร็วต่อเนื่อง (CHP) อย่างน้อย 1.5 ขึ้นไป ซึ่งหากใช้งานบ่อยครั้งก็ควรเลือกระดับ 2.5 ถึง 3.0 แรงม้า และต้องพิจารณาเรื่องกำลังของมอเตอร์เพิ่มเติมหากผู้ใช้มีน้ำหนักตัวมากอีกด้วย
 

องค์ประกอบอื่น ๆ

นอกจากปัจจัยหลัก ๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีรายละเอียดบางอย่างที่ต้องพิจารณาก่อนซื้อลู่วิ่งไฟฟ้าอีกหลายข้อ ดังนี้

ขนาดสายพาน :  สำหรับการวิ่งแล้ว สายพานควรมีความยาวอย่างน้อย 48 นิ้ว และมีความกว้าง 18 นิ้ว แต่หากคุณสูงเกินกว่า 180 เซนติเมตร ก็ควรเลือกเครื่องที่มีสายพานยาว 52 นิ้วสำหรับการใช้เดิน และ 54 นิ้วสำหรับการวิ่ง

แผงควบคุม : ควรอยู่ในระยะเอื้อมถึงและใช้งานง่าย

พื้นผิว : พื้นวิ่งควรดูดซับแรงกระแทก ขณะที่สายพานไม่ควรขยับไปมาในแต่ละก้าว

ความชัน : เลือกเครื่องที่สามารถปรับระดับความชันได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ หรือสูงกว่า หากเครื่องมีคุณสมบัติตรงส่วนนี้อยู่แล้วยิ่งดี เพราะจะช่วยจำลองได้เสมือนการวิ่งกลางแจ้ง

การรับน้ำหนัก : นี่คือสิ่งที่ควรพิจารณาหากเป็นคนรูปร่างใหญ่ และยังเป็นเครื่องบ่งชี้ความทนทานของลู่วิ่ง ให้สังเกตจากเกณฑ์น้ำหนักผู้ใช้สูงสุด และลบลงมาสักประมาณ 23 กิโลกรัมสำหรับน้ำหนักจริงของเรา

ความเร็ว : หากวางแผนซื้อมาใช้งานสำหรับวิ่ง ควรเลือกเครื่องที่สามารถทำความเร็วได้ถึง 10 ไมล์ต่อชั่วโมงขึ้นไป  

ความมั่นคง : ลู่วิ่งไม่ควรสั่นเมื่อคุณวิ่งหรือเดินและเครื่องควรจะตั้งอย่างคงที่

ทดลองก่อนซื้อ

การจะหาตัวเลือกที่ถูกใจในร้านใกล้บ้านอาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็ทำให้ได้หาข้อมูลและได้ทดลองใช้งานหลายรุ่นมากเท่าที่จะทำได้ ทำรายชื่อรุ่นที่เราสนใจเอาไว้ และติดต่อไปสอบถามร้านอุปกรณ์กีฬาใกล้บ้านว่ามีรุ่นนั้นหรือไม่ ให้ทดลองใช้เครื่องอย่างน้อย 10 นาที ดูให้แน่ใจว่าเครื่องทำงานเงียบและไม่สั่นแม้ขณะวิ่ง รวมทั้งสังเกตตำแหน่งวางขวดน้ำ, ที่วางโทรศัพท์ หรือสามารถติดตั้งที่วางหนังสือเพิ่มเติมได้หรือไม่

การรับประกัน, การขนส่ง และการติดตั้ง

การรับประกันจากโรงงานก็คือคำใบ้ที่บอกคุณภาพสินค้า สังเกตระยะเวลารับประกันตัวเฟรมและมอเตอร์ต้องมีอย่างน้อย 10 ปี ระบบไฟฟ้าควรจะมีระยะรับประกันอย่างน้อย 5 ปี อะไหล่ควรรับประกันอย่างน้อย 2 ปี เป็นต้น

การขนส่งก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ค่าขนส่งนับเป็นปัจจัยสำคัญหากไม่ได้รวมไว้ในค่าเครื่องแล้ว ต้องคิดให้ดีว่าจะเคลื่อนย้ายเครื่องจากประตูบ้านเข้าไปสู่พื้นที่ซึ่งเตรียมเอาไว้อย่างไร มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือไม่ ลู่วิ่งใหม่มักจะต้องมีการประกอบดังนั้นเช็กให้ดีว่าเป็นบริการเสริมจากทางร้านหรือต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม

ใช้ให้คุ้ม ใช้ให้ครบ

เมื่อเครื่องมาติดตั้งถึงบ้านเรียบร้อยแล้วเท่ากับว่าคุณมีโอกาสได้ลองใช้งานทุกโปรแกรม และนำไปเป็นกิจวัตรประจำวัน การออกกำลังกายบนลู่วิ่งนั้นดูน่าเบื่อถ้าทำแบบเดิมอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นอย่าลืมที่จะลองใช้งานให้หลากหลาย เพื่อให้ลู่วิ่งไม่ต้องถูกดันเข้าไปแอบในมุมห้อง และเป็นเพียงราวแขวนผ้าเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook