จัดบ้านสำหรับผู้สูงวัย ปลอดภัยเพื่อคนที่เรารัก

จัดบ้านสำหรับผู้สูงวัย ปลอดภัยเพื่อคนที่เรารัก

จัดบ้านสำหรับผู้สูงวัย ปลอดภัยเพื่อคนที่เรารัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เข้าสู่กลางเดือนของเดือนแห่งการเกษียณอายุของผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทำงานมาจนเข้าสู่วัยแห่งการพักผ่อน หลังจากนี้เชื่อว่าหลายๆ บ้านก็จะมีผู้สูงวัยใช้เวลาอยู่ในบ้านเป็นประจำมากยิ่งขึ้น แล้วบรรดาลูกๆ หลานๆ ได้เตรียมพื้นที่บ้านที่เหมาะสมไว้สำหรับพวกท่านกันแล้วหรือยัง เนื่องจากการสร้างและออกแบบที่พักอาศัยให้กับผู้สูงวัยนั้นจะต้องคำนึงถึงสรีระ การเคลื่อนไหวในวัยที่เปลี่ยนไปของพวกท่าน Sanook Home มีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบบ้าน และพื้นที่พักอาศัย รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยมาฝากไว้สำหรับบรรดาลูกหลานได้ตระเตรียมพื้นที่บ้านให้เหมาะสมสำหรับพวกท่าน ซึ่งก็คือคนที่เรารัก

ลักษณะบ้าน ควรเป็นบ้านชั้นเดียว มีห้องนอนอยู่ชั้นล่าง พื้นทางเข้าบ้านกับภายในตัวบ้านควรมีระดับเดียวกัน ทางเข้าบ้านหรือห้องต่างๆ ไม่ควรมีธรณีประตู วัสดุที่ใช้ควรเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น ประตูเข้าบ้านควรมีขนาดกว้างสำหรับคนสองคนเข้าออกพร้อมกัน เตรียมไว้สำหรับกรณีต้องมีคนช่วยพยุง และบานประตูควรเป็นแบบบานเลื่อน สำหรับบริเวณรอบๆ บ้านควรจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดโปร่ง มีต้นไม้ ดอกไม้ ให้ความรู้สึกสดชื่น แต่ให้เลี่ยงต้นไม้ที่มีหนามแหลม มียาง

ห้องนอน เน้นการใช้โทนสีสว่างเพื่อให้ความรู้สึกโปร่ง โล่ง เตียงนอนควรสูงจากพื้นถึงระดับข้อพับเข่า ห้องนอนควรอยู่ใกล้ห้องน้ำเพื่อความสะดวกสบายในการขับถ่าย แสงสว่างภายในห้องต้องมีเพียงพอ หัวเตียงควรมีสัญญาณฉุกเฉิน หรือโทรศัพท์สำหรับติดต่อกับสมาชิกหรือบุคคลใกล้ชิดได้ตลอดเวลาในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตู้เสื้อผ้าควรมีประตูเป็นแบบบานเลื่อน ในห้องนอนควรมีอุปกรณ์ขับถ่ายเตรียมไว้ใต้เตียง เนื่องจากหลีกเลี่ยงให้ท่านเดินเข้าห้องน้ำในตอนกลางคืนเพราะแสงสว่างอาจไม่เพียงพอ

ห้องรับแขก ภายในห้องรับแขกต้องจัดวางของใช้ เฟอร์นิเจอร์อย่างเป็นระเบียบ ไม่เกะกะทางเดิน สีในห้องรับแขกควรเป็นสีสว่าง แต่สีของเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในห้องอาจเลือกเป็นสีที่ตัดกับพื้นของห้อง เพื่อแยกให้เห็นเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นอย่างชัดเจน รวมไปถึงสีต่างๆ ของส่วนที่จะต้องเชื่อมกับห้องรับแขกควรใช้สีที่แบ่งแยกให้เห็นกันอย่างชัดเจน สำหรับเก้าอี้นั่งควรมีความสูงระดับหัวเข่า

ห้องครัว เฟอร์นิเจอร์ที่ตกแต่งไม่ควรหลบอยู่ในมุม ตู้หรือลิ้นชักไม่ควรอยู่สูงจนเกินไป ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้สะดวกต่อการหยิบใช้สอย ด้านล่างของอ่างล้างมือควรเว้นเป็นที่โล่ง สำหรับผู้สูงวัยบางรายที่ต้องนั่งรถเข็น และเข็นเข้าไปในบริเวณดังกล่าว

ห้องน้ำ ควรกว้างประมาณ 1.50-2 เมตร พื้นห้องน้ำกับพื้นด้านนอกควรอยู่ในระดับเดียวกัน ภายในควรมีราวจับติดไว้รอบๆ ห้องน้ำเพื่อให้พวกท่านเดินได้ทั่ว ลักษณะของราวจับควรเป็นแบบกลมและมีขนาดใหญ่พอเหมาะ ซึ่งควรตั้งสูงจากพื้นประมาณ 75 ซม. ที่บริเวณอาบน้ำควรที่นั่งอาบน้ำ หรือสระผม และควรมีปุ่มกดฉุกเฉิน พื้นห้องน้ำไม่ลื่น ก๊อกน้ำเป็นแบบคันโยก

เตรียมพื้นที่พักอาศัยไว้สำหรับผู้ใหญ่ภายในบ้าน เพื่อความสะดวก ปลอดภัยสำหรับพวกท่าน ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อคนที่เรารักทั้งนั้น

ภาพจาก: www.istockphoto.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook