เตือนผู้สูงวัยกิน"กระเทียม" ระวัง! ฤทธิ์ร้อนเกิดลมมาก เเนะ"อบเชย"ช่วยย่อยอาหาร

เตือนผู้สูงวัยกิน"กระเทียม" ระวัง! ฤทธิ์ร้อนเกิดลมมาก เเนะ"อบเชย"ช่วยย่อยอาหาร

เตือนผู้สูงวัยกิน"กระเทียม" ระวัง! ฤทธิ์ร้อนเกิดลมมาก เเนะ"อบเชย"ช่วยย่อยอาหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

         เภสัชกรอภัยภูเบศรเตือนผู้สูงวัยเข้าใจผิดกิน′กระเทียม′ เป็นยาอายุวัฒนะ ระวัง! ฤทธิ์ร้อนมีผลเสียเกิดลมมาก แนะกิน ′อบเชย′ช่วยย่อยอาหารได้ กระเทียมช่วยแก้ความดัน-ไขมันสูง เพียงวันละ 1 ช้อนชา ชี้ชนิดแคปซูลไร้ประโยชน์
         เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงประชาชนที่หันมาสนใจสูตรอาหาร หรือพืชผักสมุนไพรที่เป็นยาอายุวัฒนะ และมีบางกลุ่มนิยมซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผ่านทางโซเชียลมีเดียว่า เรื่องนี้ต้องระวัง
         เนื่องจากปัจจุบันมีการโฆษณาชวนเชื่อกันมาก ดังนั้น การจะบริโภคสิ่งใดต้องรู้เท่าทันสิ่งนั้นด้วย อันดับแรกต้องเข้าใจคำว่า ยาอายุวัฒนะ เนื่องจากองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยนั้นมีหลายคำจำกัดความ แต่หลักๆ ของยาอายุวัฒนะ คือ กินได้ นอนหลับ และระบายดี หากอาหารชนิดใดมี 3 สิ่งครบ จะทำให้ระบบการทำงานร่างกายเป็นไปตามปกติ ก็ถือว่าเป็นยาอายุวัฒนะได้ โดยหลักแพทย์แผนไทยการกินจะยึดตามธาตุเจ้าเรือน และตามอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจหลงเชื่อคำโฆษณาต่างๆ ได้ง่าย
          "ที่ผ่านมา ยาอายุวัฒนะมีหลายสูตร อย่างพวกพืชสมุนไพร หรือผักที่หาได้ตามครัวเรือนที่นิยม คือ กระเทียม ซึ่งคนโบราณมองว่ามีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร ทำให้ระบบระบายดีขึ้น แต่ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 70-80 ปี ต้องระวังในการบริโภค เนื่องจากผู้สูงอายุวัยนี้จะมีธาตุเจ้าเรือนเป็นลม ซึ่งจะมีความแห้งในตัว หากยิ่งกินพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนมากๆ ก็ยิ่งทำให้มีลมมากด้วย ดังนั้น หากจะกินอะไรที่ช่วยย่อยหรือขับลม ควรจะเป็นอบเชย เพราะมีฤทธิ์ร้อนแต่น้อยกว่ากระเทียม ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้สูงอายุจะกินกระเทียมไม่ได้เลย เพียงแต่ต้องระวังปริมาณ เพราะหลายคนนิยมกินแทบทุกมื้อ" ภญ.ผกากรองกล่าว
         ภญ.ผกากรองกล่าวว่า กระเทียมนั้นมีสรรพคุณในการลดไขมัน ลดความดัน เพียงแต่ต้องกินอย่างพอเหมาะและเหมาะสม โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคความดันโลหิต ต้องปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันที่รักษาอยู่ด้วย โดยวิธีกินนั้น จะต้องเป็นกระเทียมสดนำมาบดละเอียดและกินในประมาณ 1 ช้อนชาหลังอาหาร มื้อเดียวก็พอ และช่วง 3 เดือนแรก ควรไปตรวจค่าตับและไตด้วยว่าเป็นอย่างไร
        ที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเองด้วยว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ระบบขับถ่ายมากเกินไปหรืออย่างไร ต้องหมั่นสังเกตตัวเองดีที่สุด ส่วนคนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วยหากจะกินกระเทียม ควรเน้นปรุงเป็นอาหาร โดยเฉพาะพวกอาหารเนื้อสัตว์ หากมีกระเทียมจะทำให้ย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน การย่อยอาหารต้องกินอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะผัก ผลไม้ หรือแม้แต่การดื่มน้ำระหว่างอาหารก็ช่วยย่อยได้เช่นกัน
        ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกระเทียมมาบริโภคดีหรือไม่ ภญ.ผกากรองกล่าวว่า ได้ แต่ก็ต้องเลือกให้ดี อย่างผลิตภัณฑ์แปรรูปเป็นน้ำมันกระเทียมจะมีคุณค่าทางสารอาหาร เพราะประโยชน์จะอยู่ในน้ำมันกระเทียม แต่หากเป็นจำพวกอบแห้งจะไม่ค่อยมีสารอาหารสำคัญ แต่การกินอะไรก็ตาม ไม่ควรกินเพียงอย่างเดียวทุกวัน
        วันเดียวกัน ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปร่วมงานมหกรรมสุขภาพโรคไม่ติดต่อ NCD Forum 2015 บูรณาการ สานพลัง ลดเสี่ยง ลดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานด้านโรคไม่ติดต่อ เสริมความรู้ที่ทันสมัยเพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.simplynotable.com/
        นพ.รัชตะกล่าวว่าปัจจุบันปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือเอ็นซีดี(NCDs)ได้แก่โรคหัวใจขาดเลือดโรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก เกิดจากวิถีชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีเทคโนโลยีต่างๆ คอยอำนวยความสะดวก เช่น รีโมต บันไดเลื่อน ลิฟต์ มือถือ มีอาหารที่สั่งตรงถึงบ้าน หรือร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ตึงเครียด สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง กินอาหารรสหวาน มัน เค็ม เกินสะสมจนเกิดภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน ตามมาด้วยภาวะไขมันผิดปกติ น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และหากยังมีการดำเนินวิถีชีวิตเช่นเดิม ก็จะเป็นโรคเบาหวาน หัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็ง ตามมา
        "ปัญหาคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหลายคนไม่ดูแลสุขภาพ ที่สำคัญยังไปหลงเชื่อข้อมูลจากการโฆษณา หรือการแชร์ผ่านโซเชียลถึงสูตรยา สูตรสมุนไพร หรือแม้แต่สูตรอาหารว่าสามารถรักษาโรคเรื้อรัง โรคมะเร็งได้ หนำซ้ำยังหยุดกินยา ซึ่งถือว่าอันตรายมาก อย่างไรก็ตาม หากมีข้อมูลใดๆ และสงสัยว่าจริงหรือไม่สามารถสอบถามไปที่ สธ. ล่าสุด ได้มอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กำชับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ให้ความรู้ประชาชนถึงเรื่องดังกล่าว รวมทั้งการป้องกันโรค" นพ.รัชตะกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook