ปวดท้องน้อย ปวดหน่วงๆ หรือปวดบิดเป็นพักๆ เกิดจากสาเหตุอะไร รักษาอย่างไร

ปวดท้องน้อย ปวดหน่วงๆ หรือปวดบิดเป็นพักๆ เกิดจากสาเหตุอะไร รักษาอย่างไร

ปวดท้องน้อย ปวดหน่วงๆ หรือปวดบิดเป็นพักๆ เกิดจากสาเหตุอะไร รักษาอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงเรื่องของการ "ปวดท้องน้อย" แล้ว หลายคนอาจจะนึกว่าต้องเป็นอาการที่เกิดขึ้นในผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริง อาการปวดท้องน้อยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและในผู้หญิง ถึงแม้ในผู้หญิงจะมีโอกาสพบได้มากกว่าผู้ชายตั้งแต่อายุประมาณ 12 ปี (เริ่มมีประจำเดือน) ไปจนถึงอายุประมาณ 50 ปี (วัยหมดประจำเดือน)

ท้องน้อย นั้นจะเป็นบริเวณกระดูกเชิงกราน เรียกรวมกับเนื้อเยื่อและอวัยวะที่อยู่ภายในอุ้งเชิงกราน อาการปวดนั้นก็จะเกิดจากความผิดปกติ หรือมีโรคของเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะต่างๆ ที่อยู่ภายในท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดขึ้นแบบเฉียบพลัน หรือปวดเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่สาเหตุที่แตกต่างกันไป สาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการปวดท้องน้อย คือ ปวดประจำเดือน , กระเพาะปัสสาวะอักเสบ , ไส้ติ่งอักเสบ , ปีกมดลูกอักเสบ และการตั้งครรภ์นอกมดลูก

คราวนี้ เราลองมาทำความเข้าใจกับอาการ "ปวดท้องน้อย" ให้มากขึ้นกันดีกว่าว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะอะไร แล้วเราจะมีการรับมือกับอาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างไรได้บ้าง ตามมาดูพร้อมๆ กัน 

ปวดท้องน้อย เกิดขึ้นได้อย่างไร

ถ้าถามว่าอาการปวดท้องน้อยที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร ต้องบอกเอาไว้ตรงนี้ว่ามีหลากหลายสาเหตุมาก โดยแต่ละสาเหตุนั้นก็มีอาการปวดที่แตกต่างกันไป จะมีอะไรบ้าง ลองมาไล่เรียงดูไปพร้อมกัน (บอกเลยว่าเยอะมากจริงๆ)

  • ไส้ติ่งอักเสบ (กดเจ็บตรงบริเวณท้องน้อยด้านขวา)

  • ปีกมดลูกอักเสบ (กดเจ็บตรงบริเวณท้องน้อยทั้ง 2 ข้าง หรือปวดเฉพาะท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง รวมถึงอาจมีไข้สูง)

  • กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น และมีอาการเจ็บเมื่อเคาะที่สีข้าง)

  • ลำไส้ใหญ่อักเสบ

  • ลำไส้เล็กส่วนที่อยู่ในท้องน้อยเกิดการอักเสบ

  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • กล้ามเนื้อและเนื้อในท้องน้อยอักเสบ

  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย)

  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

  • นิ่วในท่อไตส่วนล่าง (ปวดตรงบริเวณท้องน้อย หรือสีข้าง และร้าวไปที่ช่องคลอดข้างเดียวกันกับบริเวณที่ปวด)

  • ปวดประจำเดือน (มักจะปวดในคราวที่มีประจำเดือน)

  • เลือดออกทางช่องคลอด

  • ปวดท้องคลอด (ปวดบิดเป็นพักๆ ครรภ์แก่ และมีลักษณะการปวดแบบท้องใกล้คลอด)

  • รกลอกตัวก่อนกำหนด (มักเกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 6 เดือนและมดลูกเกร็งแข็ง)

  • ตั้งครรภ์นอกมดลูก (ประจำเดือนขาดเกิน 3 เดือน รวมถึงเวลาลุก หรือนั่งก็มีอาการคล้ายจะเป็นลม)

  • แท้งบุตร (ประจำเดือนขาด มีอาการตกเลือดทางช่องคลอด และมีเศษเนื้อ หรือเศษรกหลุดออกมา)

  • เนื้องอกรังไข่

  • ถุงน้ำรังไข่ , เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่

  • เนื้องอกมดลูก (มีประจำเดือนออกมาก หรือออกกะปริดกะปรอย หรือมีบุตรยาก)

  • โรคมะเร็งของอวัยวะเพศหญิง (มะเร็งรังไข่ , มะเร็งปากมดลูก , มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก)

  • ต่อมลูกหมากอักเสบ

  • มะเร็งต่อมลูกหมาก

  • ขัดเบา

  • ท้องเดิน

  • ตกขาว

  • ภาวะทางจิตใจ หรือภาวะเครียด ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยได้เช่นกัน 

stomach-2iStockปวดท้องน้อย มีอาการอย่างไร

อาการปวดท้องน้อยนั้นไม่มีระบุลักษณะการปวดที่แน่นอน ตายตัว โดยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น อาทิ ปวดเจ็บ ปวดหน่วง หรือปวดบิดเป็นพักๆ ที่บริเวณท้องน้อย (ระดับใต้สะดือลงมาที่บริเวณหัวหน่าว) บางครั้งก็อาจปวดร้าวไปตามอวัยวะอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นที่ก้นกบกับต้นขา ซึ่งอาจปวดเป็นพักๆ หรือปวดอยู่ตลอดเวลา ส่วนอาการปวดในเพศหญิงนั้นก็อาจเกี่ยวข้องกับระยะของประจำเดือน การปัสสาวะ การถ่ายอุจจาระหลังจากการรับประทานอาหาร การนอน หรือการยืนระหว่าง หรือหลังจากการมีเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้ อาการปวดดังกล่าวที่เกิดขึ้นก็อาจไปรบกวนการเคลื่อนไหวของร่างกาย การนอน การมีเพศสัมพันธ์ หรือการทำงาน จนบางครั้งก็ทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถที่จะทำภารกิจต่างๆ ได้ตามปกติ บางรายหนักถึงขนาดว่าต้องลาออกจากงาน เพราะเมื่อมีอาการปวดก็ไม่สามารถบรรเทาด้วยการทานยาแก้ปวดตามปกติ  บางครั้งเมื่ออาการปวดก็เกิดขึ้นหนักเกินกว่าที่จะทนได้ รวมถึงเกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ ก็ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด หรือเกิดความผิดปกติทางจิตตามมา อาทิ มีอาการซึมเศร้า หรือมีอารมณ์แปรปรวน

การวินิจฉัยอาการปวดท้องน้อย

เพราะว่าสาเหตุของการปวดท้องน้อยนั้นมีอยู่มาก การตรวจวินิจฉัยของแพทย์จึงต้องใช้เวลากว่าจะได้สาเหตุของการเกิดที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะเริ่มซักถามประวัติของผู้ป่วยอย่างละเอียด ต่อด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจภายใน ซึ่งในบางกรณีอาจต้องปรึกษาแพทย์จากแผนกอื่นๆ ร่วมด้วยนอกเหนือจากโรคของสตรี รวมถึงมีการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและข้อสงสัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่งหรือไม่ มีการตรวจด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

  • การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือัลตราซาวน์ที่จะทำให้เห็นลักษณะของมดลูกและปีกมดลูกได้ชัดเจนขึ้น

  • การตรวจทวารหนักและส่องตรวจลำไส้

  • การส่องกล้องตรวจในช่องท้องเพื่อดูบริเวณช่วงอุ้งเชิงกราน ซึ่งการตรวจนั้นจำเป็นที่จะต้องนำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดและดมยาสลบ วิธีนี้จะใช้กับผู้ป่วยในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน

  • การส่งกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ

  • การตรวจปัสสาวะสมบูรณ์แบบในกรณีที่สงสัยว่าอาการปวดท้องน้อยเกิดจากระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ

  • การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์

  • การฉีดสีเพื่อดูระบบทางเดินปัสสาวะ

  • การกลืนแป้ง หรือสวนแป้งเอกซเรย์เพื่อดูทางเดินอาหาร 

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังมักจะมีการพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว แต่เมื่อมีอาการเกิดขึ้นอีก การเดินทางมาพบแพทย์ในครั้งนี้ก็จะมีการทบทวนการตรวจวินิจฉัย ทบทวนผลตรวจต่างๆ ที่เคยได้รับแจ้ง รวมถึงยาที่ได้รับในอดีตว่ามีอะไรบ้าง ตลอดจนการผ่าตัดบริเวณหลังท้องน้อย หรือเชิงกรานต่างๆ ที่เคยเข้ารับ นอกจากนั้น อาการปวดท้องน้อยก็อาจเกี่ยวข้องด้วยโรค หรืออาจเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น อาทิ การเกิดเนื้อเยื่อพังผืด

จะเห็นได้ว่าการวินิจฉัยอาการปวดท้องน้อยนั้นมีความยากอยู่มาก เนื่องจากภายในบริเวณท้องน้อยนั้นประกอบไปด้วยอวัยวะหลายส่วน ซึ่งในบางกรณีก็มีบ่อยครั้งที่แพทย์ไม่สามารถแยกโรคไส้ติ่งออกจากถุงน้ำในรังไข่แตกได้ หรือไม่สามารถแยกโรคมดลูกอักเสบเฉียบพลันออกจากภาวะไส้ติ่งแตกได้ จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ทำให้การวินิจฉัยในแต่ละครั้ง จำเป็นต้องรวมแพทย์จากหลากหลายแผนกมาช่วยกันดูแลรักษา อาทิ อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร , ศัลยแพทย์ทั่วไป , ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ หรือรังสีแพทย์ เป็นต้น แต่หากผู้ป่วยสามารถที่จะอธิบายถึงลักษณะการปวดได้อย่างชัดเจน ก็จะเป็นประโยชน์ให้กับแพทย์ในการวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

การรักษาอาการปวดท้องน้อย

เมื่อเกิดอาการปวด หรือเจ็บบริเวณท้องน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดร่วมกับความผิดปกติทางปัสสาวะ อาทิ ปัสสาวะแสบ ขัด หรือปัสสาวะเป็นเลือด ทางอุจจาระ อาทิ อุจจาระเป็นเลือด และ/หรือมีสารคัดหลั่งออกมาทางอวัยวะเพศ เช่น หนอง ตกขาว แนะนำว่าให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำเพื่อตรวจหาสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป อีกทั้ง เมื่อแพทย์ได้ทำการวินิจฉัยอาการปวดท้องน้อยจนรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร แพทย์ก็จะให้การรักษาไปตามสาเหตุโดยคำนึงถึงอายุและประวัติการมีบุตรของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ก็จะช่วยให้อาการปวดที่มีหายไป ดีขึ้น หรือไม่แย่กว่าที่เป็นอยู่ มีวิธีการรักษาต่างๆ ดังนี้

  • การใช้ยารักษา เช่น ยาปฏิชีวนะ

  • การผ่าตัด

  • การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ อาทิ การให้ยาคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ , การฉีดยาชาเฉพาะที่ , การทำกายภาพบำบัด , แนะนำและสอนวิธีการออกกำลังที่ถูกต้อง , การฝึกท่าทางการเดินและการนั่ง

สรุปอาการปวดท้องน้อย นั้นมีทั้งชนิดที่เฉียบพลันและเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากอวัยวะสืบพันธุ์ แต่ในบางกรณีก็อาจเกิดจากอวัยวะอื่นๆ ใกล้เคียงได้เช่นกัน จนทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะเป็นการรักษาโดยใช้ยา การผ่าตัด หรือเป็นแพทย์ทางเลือกก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสาเหตุ โดยแพทย์ที่มีความชำนาญจะเป็นผู้ให้คำปรึกษากับผู้ป่วยอย่างถูกต้องและตรงจุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook