เข้าใจใหม่! ช็อตไฟฟ้า ไม่ได้ใช้เมื่อหัวใจหยุดเต้น

เข้าใจใหม่! ช็อตไฟฟ้า ไม่ได้ใช้เมื่อหัวใจหยุดเต้น

เข้าใจใหม่! ช็อตไฟฟ้า ไม่ได้ใช้เมื่อหัวใจหยุดเต้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกครั้งที่ดูหนัง หรือละคร ที่ตัวละครมีอาการเหมือนหัวใจหยุดเต้น หน้าจอมอนิเตอร์ขึ้นเป็นเส้นตรงแนวนอนเรียบๆ แล้วหมอกับพยาบาลก็กุลิกุจอเอาเครื่องช็อตไฟฟ้ามานาบหน้าอกผู้ป่วยรัวๆ นอกจากจะไม่ใช่วิธีการรักษาที่ถูกต้องแล้ว ยังทำให้เราเข้าใจอะไรผิดมาตลอดด้วยนะ รู้ยัง?

อาจารย์หมอจาก เฟซบุ๊คเพจ 1412 Cardiology กล่าวถึงกรณีของการใช้เครื่องช็อตไฟฟ้า กับการกระตุ้นการทำงานของหัวใจเอาไว้โดยละเอียด ดังนี้ค่ะ

__________________

ความจริงที่อาจไม่มีใครเคยบอก แต่คุณจะต้องอึ้งถ้าได้รู้ความจริงว่าหมอเอาไฟฟ้ามาช๊อคใส่คนไข้ทำไม

 

ก็เพื่อใช้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจที่หยุดเต้นให้กลับมาเต้นอีกครั้งยังไงหล่ะ รู้มาตั้งแต่เด็กๆแล้ว?

- ไม่จริงเลยครับ เราไม่ได้ใช้ไฟฟ้ามากระตุ้นหัวใจที่หยุดให้กลับมาเต้นอีกครั้งเลยแม้แต่นิดเดียว หัวใจที่หยุดเต้นต่อให้เอาไฟฟ้าแรงสูงแค่ไหนก็ไม่สามารถกระตุ้นให้กลับมาเต้นใหม่ได้

 

อ้าวเวรกรรม ถ้าอย่างนั้นหมอเอาไฟฟ้ามาช๊อคใส่คนไข้ทำไมหล่ะคะ?

- ตรงข้ามกับที่เราคิดเลยครับ เราใช้ไฟฟ้ามากระตุ้นใส่หัวใจที่เต้นเร็วเกินไปต่างหาก เพราะการเต้นเร็วเกินไปจะทำให้หัวใจบีบเลือดออกไปไม่ได้ครับ เต้นดึ๊กๆๆๆๆๆ มันบีบไม่ทันหน่ะครับ (ทำมือประกอบ)

 

เต้นเร็วเกินไปแล้วเอาไฟฟ้ามาช๊อคใส่ทำไมอีก?

- เป็นคำถามที่ดีมากครับ นั่นก็เพราะหนึ่งในกลไกที่เราพบได้บ่อยมากที่สุดของการที่หัวใจเต้นเร็วเกินไปจนทำงานไม่ได้ก็คือไฟฟ้าลัดวงจรในหัวใจ การใช้ไฟกระตุ้นนั้นทำเพื่อหวังให้เซลล์ทุกเซลล์ในหัวใจถูกกระตุ้นและเข้าสู่ระยะพักฟื้นพร้อมกันทั้งหมด ล้างไพ่ใหม่ ดับไฟทั้งห้อง เพื่อเปิดโอกาสให้การนำไฟฟ้าแบบปกติกลับมาอีกครั้ง ถึงแม้จะหายหลังช๊อคแต่ถ้ายังมีเชื้อเพลิงอยู่ไฟก็อาจกลับมาลัดวงจรได้ใหม่อีกครั้ง ก็ต้องช๊อคซ้ำไปเรื่อยๆ

 

อ๋อ เข้าใจแล้วค่ะ การรักษาผู้ป่วยที่หัวใจหยุดทำงานหรือ Cardiac Arrest การช๊อคหัวใจต้องรีบทำให้เร็วที่สุด ระหว่างรอนั้นก็ต้องกดหน้าอกบีบเลือดออกจากหัวใจซื้อเวลาไปก่อน

- ถูกต้องครับ แต่ไม่ใช่ลากเครื่องมาแล้วช๊อคไฟฟ้าทุกราย เราลากเครื่องมาเพื่อตรวจให้แน่ใจว่าหัวใจหยุดทำงานจากหัวใจเต้นเร็วเกินไปจริงรึเปล่า ถ้าใช่ถึงจะช๊อคครับ นั่นเป็นกุญแจดอกแรก ส่วนการรักษาสาเหตุที่ซ่อนอยู่คือกุญแจดอกสุดท้ายที่จะทำให้คนไข้รอด

 

แสดงว่ามีสาเหตุอื่นที่ทำให้หัวใจหยุดทำงานและช๊อคไฟฟ้าไม่ได้

- ใช่ครับ มีอีกสองสาเหตุ อย่างแรกคือหัวใจหยุดไปเลยไม่มีไฟฟ้าไม่มีการบีบตัว (Asystole) ที่เราเห็นบ่อยที่สุดในละคร อีกสาเหตุคือมีไฟฟ้านำได้ปกติแต่หัวใจกลับไม่บีบตัว (PEA) ซึ่งสองสาเหตุนี้การช๊อคไฟฟ้าไม่ได้ช่วยอะไรเลยครับ ซ้ำร้ายจะทำให้หัวใจบอบช้ำจากกระแสไฟ การรักษาจะเป็นอีกแบบนึง

 

โอ้โห ถ้าอย่างนั้นการบอกสาเหตุของการที่หัวใจหยุดทำงานเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะจะได้เลือกการรักษาได้ถูกต้อง?

- ถูกต้องครับ

 

การลากเครื่องช๊อคไฟฟ้าหัวใจมาถึงคนไข้ให้เร็วที่สุด ไม่ใช่เพื่อเอามาช๊อคใส่ทันที แต่ลากเพื่อมาตรวจว่าช๊อคได้หรือไม่ได้ ถ้าช๊อคได้จะได้รีบช๊อคนั่นเอง

- ใช่ครับ

 

การวาง paddle ของเครื่องก่อนช๊อค ต้องวางให้แนวมันพาดผ่านหัวใจใช่มั๊ยคะ?

- ครับ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ค่อยได้ผล มาตรฐานจะวางแผ่นแรกที่กระดูกสันอก อีกแผ่นวางที่ผนังหน้าอกด้านซ้ายหรือที่ apex ของหัวใจวางตัวอยู่ ถ้าหัวใจอยู่ด้านขวาก็ต้องย้ายมาขวาครับ

 

เวลาปล่อยไฟใส่คนไข้ คนไข้เจ็บมั๊ยคะ?

- เจ็บครับ แต่คนไข้ที่หัวใจหยุดทำงานจะหมดสติอยู่แล้ว ก่อนปล่อยไฟทุกครั้งต้อง clear พื้นที่ไม่ให้ไฟไปโดนเพื่อนร่วมงานเป็นอันตรายได้

 

เวลาปล่อยไฟคนไข้จะกระตุกเหมือนในละครมั๊ยคะ?

- กระตุกได้ครับ แต่ไม่มีเสียง "zappp" เป็น sound effect เหมือนในละครครับ

 

ใช้กระแสไฟสูงมั๊ยคะ?

- เราจะพยายามใช้ไฟให้น้อยที่สุดที่ได้ผล เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดกับกล้ามเนื้อหัวใจ เครื่องรุ่นใหม่ๆใช้การจ่ายไฟแบบ Biphasic ไม่เหมือน Monophasic ในอดีต ทำให้ใช้กระแสไฟน้อยกว่าและได้ผลดีกว่า นอกจากนั้นในรายที่หัวใจเต้นเร็วเป็นแบบที่ยังพอเห็นแนวของไฟฟ้าหัวใจชัดเจน เราจะให้เครื่อง mark ตำแหน่งปล่อยไฟเข้าไปให้ตรงกับแนวไฟฟ้ารวมตอนนั้น เรียกว่า "synchronized mode" ข้อดีคือ ใช้ไฟน้อยกว่า และลดความเสี่ยงของการให้ไฟที่ใส่เข้าไป ไปตกใส่ช่วงหัวใจฟื้นตัว เพราะอาจเกิดการลัดวงจรที่รุนแรงขึ้นได้

 

ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่ใช้ synchronized mode ตลอดหล่ะคะ?

- หัวใจเต้นเร็วชนิดรุนแรง เรียกว่า Fibrillation เราไม่สามารถ mark ตำแหน่งแนวไฟฟ้าได้เลย เป็นไปไม่ได้ครับ ทางเดียวคือต้องอัดกระแสไฟเข้าไปแบบสุ่มและแรง เพื่อหวังผล เรียกว่า "unsynchronized mode" หรือ "defibrillation" นั่นเอง

 

เจ้าเครื่องนี้สำคัญมากๆ เลยนะคะ น่าเสียดายที่มีอยู่แค่ในโรงพยาบาลเท่านั้น?

- เครื่องช๊อคไฟฟ้าหัวใจหรือเครื่องกระตุกหัวใจมีสามรูปแบบครับ

  1. เครื่องกระตุกหัวใจมาตรฐานในโรงพยาบาล แบบที่เรามักเห็นในละคร

  2. เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือ เครื่อง AED เป็นกระเป๋าเล็กๆ ประชาชนทั่วไปสามารถเปิดออกมาใช้งานได้เลย มีติดตั้งอยู่ในที่สาธารณะต่างๆ

  3. เครื่องกระตุกหัวใจแบบฝังสายไว้ในหัวใจ ตัวเครื่องวางไว้ที่ผนังอก ใช้สำหรับคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจมีโอกาสที่จะเกิด Cardiac Arrest บ่อยกว่าผู้ป่วยทั่วไป

____________________

 

เพราะฉะนั้นจำเอาไว้ว่า การกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ไม่จำเป็นต้องช็อตไฟฟ้าเสมอไป การปั้มหัวใจด้วยมือ หรือ CPR อย่างที่เราเคยเห็นกัน ยังคงเป็นวิธีที่ดี และมีประสิทธิภาพอยู่ แต่เมื่อหัวใจเต้นเร็วเกินไปจนหัวใจไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ เจ้าเครื่องช็อตไฟฟ้านี้ก็จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือชีวิตเราทันที แต่เครื่องนี้อันตรายมาก อย่าเข้าใกล้ อย่าหวังจะใช้เองโดยไม่มีความรู้เด็ดขาด ปล่อยให้เป็นหน้าที่แพทย์เขาดีกว่าค่ะ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook