สังเกตลูกน้อยขาโก่ง บวม ไม่ขยับระวังเสี่ยงกระดูกหัก

สังเกตลูกน้อยขาโก่ง บวม ไม่ขยับระวังเสี่ยงกระดูกหัก

สังเกตลูกน้อยขาโก่ง บวม ไม่ขยับระวังเสี่ยงกระดูกหัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคกระดูกหักในเด็กนับเป็นภาวะที่พบได้บ่อย เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่กำลังซุกซนและมีกิจกรรมมากทำให้มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย แม้เด็กมีโอกาสกระดูกหักได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามภาวะกระดูกหักในเด็กมีความแตกต่างจากกระดูกหักในผู้ใหญ่ค่อนข้างมากด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกันเช่น

คุณสมบัติของกระดูกเด็กมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ ดังอาจเคยได้ยินว่า “เด็กกระดูกยังอ่อน” คำกล่าวนี้นับว่าถูกต้อง นั่นทำให้กระดูกเด็กหักค่อนข้างง่ายและมีลักษณะการหักบางอย่างที่เป็นลักษณะเฉพาะที่ไม่พบในผู้ใหญ่เช่น การบิดงอผิดรูปของกระดูก (plastic deformity) การย่นของกระดูก หรือการหักลักษณะคล้ายกิ่งไม้สด (green stick) ที่มีการหักที่ด้านหนึ่งและอีกด้านที่งอผิดรูปแต่ไม่แตกออก

กระดูกยังคงมีการเจริญเติบโต

การที่กระดูกเด็กยังคงมีการเจริญเติบโตได้ คือศูนย์การเจริญเติบโตของกระดูก (physeal plate) ยังไม่ปิด ซึ่งส่งผลอย่างมากที่ทำให้การรักษากระดูกหักในเด็กมีความต่างจากผู้ใหญ่เพราะศูนย์การเจริญเติบโตของกระดูกมีลักษณะเป็นกระดูกอ่อนที่จะให้การเจริญเติบโตเพื่อเพิ่มความยาวของกระดูกตามร่างกายที่เติบโตขึ้น ซึ่งส่วนนี้ของกระดูกยังไม่มีการสะสมของแคลเซียมทำให้เป็นส่วนที่อ่อนง่ายต่อการบาดเจ็บแต่กลับไม่สามารถมองเห็นได้จาก X-Ray ทำให้การวินิจฉัยทำได้ยาก และในการรักษาก็ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บต่อส่วนนี้ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการยึดกระดูกที่ปกติใช้ในผู้ใหญ่ก็อาจใช้ไม่ได้ในเด็กเพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของศูนย์การเจริญเติบโต ซึ่งจะนำมาสู่การหยุดการเติบโตของกระดูกและทำให้เกิดผลตามมาที่ร้ายแรงเช่น กระดูกผิดรูปบิดเบี้ยว หรือทำให้แขนขาสั้นยาวไม่เท่ากันได้

การฟื้นตัวของกระดูก

ในเด็กกระดูกหักง่ายแต่ก็ติดง่าย โดยทั่วไปแล้วในเด็กเมื่อมีกระดูกหักจะมีการฟื้นตัวและการกลับมาติดของกระดูกที่หักเร็วกว่าผู้ใหญ่ รวมถึงเมื่อกระดูกติดแล้วแต่ไม่ตรงหรือมีความผิดรูปของกระดูกหลงเหลืออยู่ก็พบว่าเมื่อกระดูกเติบโตขึ้นกระดูกก็สามารถกลับมาตรงได้เอง ด้วยคุณลักษณะแบบนี้การรักษากระดูกหักในเด็กจึงมีเหมาะกับการใส่เฝือกมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะกระดูกติดเร็วจึงไม่ต้องใส่เฝือกนาน และไม่จำเป็นที่กระดูกต้องตรงโดยสมบูรณ์เพราะกระดูกสามารถกลับมาตรงได้เอง ดังนั้นการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูกให้ตรงจึงอาจไม่จำเป็น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถรักษาด้วยการใส่เฝือกจะทำได้เสมอไปต้องขึ้นกับปัจจัยอีกหลายอย่างทั้งตำแหน่งและลักษณะของกระดูกที่หัก ช่วงอายุของเด็กในขณะที่กระดูกหัก และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ รวมถึงกระดูกหักบางชนิดในเด็กก็อาจต้องการการรักษาเฉพาะความชำนาญพิเศษหรือต้องการใช้อุปกรณ์พิเศษในการยึดกระดูกที่หักจึงต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

การดูแลเมื่อเด็กกระดูกหัก

เมื่อเด็กได้รับบาดเจ็บแล้วสงสัยว่ามีกระดูกหักเช่น มีอาการบวมมาก ไม่ยอมขยับส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีการผิดรูปโก่งงอของอวัยวะสิ่งที่ควรทำคือ

- ใช้วัสดุแข็งเช่น แผ่นไม้ กระดาษหนังสือพิมพ์พับซ้อนหลายๆชั้น หรือกระดาษแข็งๆ ดามอวัยวะส่วนไว้โดยอาจใช้ผ้าหรือผ้ายืดพันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่ม

- ใช้ความเย็นประคบเพื่อลดการบวม

- อย่าใช้ยาใด ๆ ถูนวดบริเวณที่บาดเจ็บ

- อย่าพยายามดัดหรือดึงกระดูกที่ผิดรูปด้วยตัวเอง

- ให้งดน้ำและอาหารไว้ก่อน เพราะอาจมีความจำเป็นที่ต้องดมยาสลบเพื่อการรักษาจะได้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการดมยาสลบในขณะที่มีอาหารอยู่ในกระเพาะอาจทำให้สำลักและเป็นอันตรายได้

- รีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

 

นพ. ปวริศร สุขวนิช
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อในเด็ก
โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111
ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook