กลั้นปัสสาวะไม่อยู่-ปัสสาวะไม่สุด เสี่ยงโรคอะไร?

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่-ปัสสาวะไม่สุด เสี่ยงโรคอะไร?

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่-ปัสสาวะไม่สุด เสี่ยงโรคอะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใครที่มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เสี่ยงโรคอะไรได้บ้าง อันตรายหรือไม่

อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งสาเหตุของแต่ละเพศ แต่ละวัย อาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เป็นคนๆ ไป

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะไม่สุด เสี่ยงโรคอะไรได้บ้าง

  • ต่อมลูกหมากโต

อาการยอดฮิตของผู้ชายวัยกลางคนไปจนถึงวัยชรา วัย 40-70 ปี อาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด อาจเป็นสัญญาณของโรค “ต่อมลูกหมากโต” 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะหนึ่งในระบบสืบพันธุ์โดยถูกกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตจากฮอร์โมนเพศชาย เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะโตขึ้นและอาจอุดตันท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะลำบากหรือรบกวนระบบสืบพันธุ์ ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเรียกว่าต่อมลูกหมากโต

  • ไอจามปัสสาวะเล็ด

ผศ.นพ.ภควัฒน์ ระมาตร์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุว่า อาการไอจามปัสสาวะเล็ด ปัญหาหลักเนื่องมาจากกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อรองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเกิดการหย่อนยาน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการฉีกขาดจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรผ่านทางช่องคลอด เนื้องอกในอุ้งเชิงกรานหรือการผ่าตัดเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้หูรูดและท่อปัสสาวะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ปิดได้ไม่สนิท ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะเล็ดออกมาในขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของความดันภายในช่องท้องอย่างรวดเร็ว เช่น การไอ การจามหรือการยกของหนัก

  • ปัสสาวะราด

อาการปัสสาวะราด เกิดมาจากความดันในกระเพาะปัสสาวะที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการปวดปัสสาวะ และไม่สามารถยับยั้งได้ ส่งผลให้ความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงมากกว่าความดันภายในท่อปัสสาวะในขณะปิดตัว จึงเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ 

สาเหตุที่ทำให้ความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วคือ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวที่เร็วและรุนแรงมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากสมองหรือไขสันหลังส่วนที่กดการทำงานของกระเพาะปัสสาวะในขณะเก็บน้ำปัสสาวะเสียหาย เช่น ผู้ป่วยเส้นเลือดสมอง หรือเนื่องมากจากการรับรู้ความรู้สึกของกระเพาะปัสสาวะมีความไวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น มีการอักเสบติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้มีการระคายเคืองต่อผนังกระเพาะปัสสาวะ หรือกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีการทำงานมากกว่าปกติขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ

  • ปัสสาวะรดที่นอน

สาเหตุของอาการปัสสาวะรดที่นอนมาจากการที่กล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะและอุ้งเชิงกรานมีการคลายตัวมากกว่าปกติในขณะหลับเพราะมีการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง ซึ่งโดยปกติระบบประสาทอัตโนมัติจะทำหน้าที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อดังกล่าวให้มีการบีบตัวตลอดเวลา เพื่อให้ท่อปัสสาวะปิดสนิทในขณะหลับ หรือเกิดจากมีการสร้างน้ำปัสสาวะในช่วงกลางคืนมากกว่าปกติ ส่งผลให้มีน้ำปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงกว่าท่อปัสสาวะ

นอกจากโรคต่างๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ในกลุ่มกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือ ปัสสาวะเล็ดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 

  • ปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ที่เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital)
  • ปัสสาวะรดที่นอน (Bed Wetting Enuresis)
  • ปัสสาวะกลั้นไม่อยู่จากระบบประสาท (Neurogenic)
  • ปัสสาวะเล็ดและราดร่วมกัน (Mixed Incontinence) หมายถึงอาการไอจามปัสสาวะเล็ด และอาการปัสสาวะราด เป็นร่วมกัน
  • ปัสสาวะล้นซึม (Over Flow Incontinence)
  • ปัสสาวะบ่อยมากในช่วงกลางวัน (Urinary Freguency Daytime)
  • ปัสสาวะบ่อยในช่วงเวลากลางคืน (Nocturia Night Time)
  • ปัสสาวะปวดกลั้น (Urgency)
  • กระเพาะ, ปัสสาวะไวเกิน (Over Active Bladder)

ดังนั้น เพื่อการรักษาอย่างถูกวิธีและตรงจุด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง ระบุประเภทหรือโรคที่เป็นอยู่ได้อย่างถูกต้อง และเริ่มการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook