ปวดหลัง-บั้นเอว เป็นๆ หายๆ อาจเสี่ยง "นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ"

ปวดหลัง-บั้นเอว เป็นๆ หายๆ อาจเสี่ยง "นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ"

ปวดหลัง-บั้นเอว เป็นๆ หายๆ อาจเสี่ยง "นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากใครมีอาการปวดหลังช่วงบั้นเอวแบบเป็นๆ หายๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีความเป็นได้ว่ากำลังเสี่ยงโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะอยู่

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คืออะไร

ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ระบุว่า นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stone) คือ ก้อนของสาร หรือแร่ธาตุที่ตกตะกอนจากปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากการที่มีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ โดยอาการจะรุนแรงแตกต่างกันออกไป เช่น ปวดท้อง หรือปัสสาวะมีเลือดปน

อย่างไรก็ตาม ก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็กจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะได้เอง และไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่บางรายก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการรับประทานยา หรือผ่าตัด เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้ติดเชื้อ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

สาเหตุของโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะมีสาเหตุทั้งจากพันธุกรรมและพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของตัวเอง ดังนี้

  1. กรรมพันธุ์
  2. เพศชายเสี่ยงกว่าเพศหญิง
  3. ต่อมพาราทัยรอยด์ที่หลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมสารแคลเซียมทำงานผิดปกติ
  4. ระบบทางเดินปัสสาวะตีบแคบ ทำให้น้ำปัสสาวะคั่งค้าง อาจเกิดขึ้นตั้งแต่เกิด หรือเพิ่งเกิดตอนโตก็ได้
  5. ดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ หรือสูญเสียน้ำจากร่างกายทางด้านอื่นมาก จนทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง โอกาสที่สารละลายในปัสสาวะจะตกผลึกก็มีมากขึ้น
  6. เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  7. ผลข้างเคียงจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่าง อาจเกิดนิ่วพวกฟอสเฟตได้ง่าย
  8. กินอาหารที่ทำให้ร่างกายเกิดยูริกมากเกินไป เช่น เครื่องในสัตว์ ยอดผัก สาหร่าย รวมถึงผักที่มีสารออกซาเลตสูง เช่น ผักโขม หน่อไม้ ชะพลู เป็นต้น

อาการของโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการแสดง แพทย์มักตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการเอกซเรย์ช่องท้องจากโรคอื่นๆ เช่น ปวดท้อง หรือปวดหลัง 

ในรายที่แสดงอาการ จะมีอาการที่พบได้บ่อยคือ

  1. ปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจร่วมกับปวดหลังเรื้อรัง รวมถึงปวดหลังค่อนไปทางบั้นเอว อาจเคยมีอาการปวดๆ หายๆ
  2. การปัสสาวะผิดปกติ หรือมีอาการขัดเบา (เนื่องจากก้อนนิ่วลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ) ทำให้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะลำบาก ปวดเบ่งคล้ายว่ายังถ่ายปัสสาวะไม่สุด ปวดแสบปวดร้อน ปัสสาวะสะดุดและออกเป็นหยด ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะไม่ออก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  3. ผู้ป่วยบางรายอาจปัสสาวะออกเป็นเลือดหรือมีสีน้ำตาลล้างเนื้อ หรืออาจถ่ายปัสสาวะเป็นก้อนนิ่ว หรือเม็ดกรวดทรายเล็กๆ หรือปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนมีผงแป้งปนอยู่
  4. หากก้อนนิ่วตกลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยมาก ปัสสาวะไม่ออก และมีปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
  5. กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง ปัสสาวะแสบปวดร้อน โดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด มีไข้ ปวดเนื้อตัว และอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย

การรักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

การรักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาด และตำแหน่งที่อยู่ของนิ่ว แต่หลักๆ มีวิธีที่ใช้รักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ดังนี้

  1. กินยาที่ทำให้นิ่วละลาย สำหรับขนาดนิ่วที่มีขนาดเล็ก
  2. ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงที่มีความจำเพาะ ทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่ว ทำให้ก้อนนิ่วแตกเป็นผง ผงก้อนนิ่วไหลออกมาพร้อมปัสสาวะ
  3. ผ่าตัดส่องกล้อง โดยเข้าไปกรอ ขบ เพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตก สำหรับก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตรที่พบในกระเพาะปัสสาวะ และในไต
  4. ผ่าตัดโดยการเจาะหน้าท้อง สำหรับก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook