4 สัญญาณอันตราย ภาวะ “น้ำคั่งในสมอง”

4 สัญญาณอันตราย ภาวะ “น้ำคั่งในสมอง”

4 สัญญาณอันตราย ภาวะ “น้ำคั่งในสมอง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากมีปัญหาในการเดินและการทรงตัว ไม่สามารถใช้ขา ในการก้าวเดินได้เป็นปกติ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีปัญหาในการจำ และตอบสนองช้าลง คืออาการภาวะน้ำคั่งในสมอง อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น แนะควรรีบพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ

ภาวะน้ำคั่งในสมอง คืออะไร

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะน้ำคั่งในสมองเป็นภาวะที่มีความไม่สมดุล และการดูดซึมของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ส่งผลให้มีการขยายขนาดของโพรงสมอง หรือเกิดอาการทางคลินิก 

สาเหตุของภาวะน้ำคั่งในสมอง

ภาวะนี้เกิดจากร่างกายมีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมากผิดปกติ เกินกว่ากำลังการดูดซึมตามปกติพบได้น้อย สาเหตุเช่น 

  • เนื้องอกเส้นเลือดบางชนิด 
  • มีการอุดกั้นทางเดินน้ำไขสันหลัง ซึ่งเป็นกลไกที่พบบ่อย ชนิดที่มีการอุดกั้นภายในโพรงน้ำสมอง หรือระหว่างโพรงน้ำสมองกับช่องใต้เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง 
  • มีก้อนที่อาจอุดกั้นทางเดินน้ำไขสันหลังโดยตรง หรือทำให้เกิดความผิดรูปของสมอง ส่งผลให้เกิดการอุดกั้นทางเดินน้ำไขสันหลัง เช่น ความผิดปกติแต่กำเนิด เนื้องอก ก้อนเลือด ถุงน้ำ พยาธิ สมองบวม เป็นต้น 
  • ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการอุดกั้นเกิดขึ้นนอกโพรงสมอง สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ เลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง การอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

สัญญาณอันตราย อาการของภาวะน้ำคั่งในสมอง

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองมีความหลากหลายและขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างได้แก่ อายุ สาเหตุ ตำแหน่งของรอยโรค ความเร็ว และระยะเวลาของการดำเนินโรค 

  1. อาจมีอาการความดันในกะโหลกศีรษะสูง ปวดศีรษะ ซึมลง 
  2. การทำงานผิดปกติของสมองจากการขยายขนาดของโพรงน้ำสมอง เช่น การเดินผิดปกติ ผู้ป่วยเดินลำบากเวลาขึ้นลงบันไดหรือที่ลาดชัน โดยลักษณะการเดินจะเดินซอยเท้า ก้าวสั้นๆ ทรงตัวได้ไม่ดี 
  3. กลั้นปัสสาวะผิดปกติ ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อย ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ เข้าห้องน้ำไม่ทัน 
  4. การลดลงของระดับสติปัญญา ผู้ป่วยมีอาการหลงลืม สมองทำงานช้าลง พูดจาสับสน หรือศีรษะโตขึ้นเรื่อยๆ ในเด็กเล็ก เป็นต้น 

การรักษาภาวะน้ำคั่งในสมอง

การวินิจฉัยโดยแพทย์ทำการซักประวัติจากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ร่วมกับการตรวจทางรังสีวิทยา โดยใช้ ซีทีสแกน หรือ เอ็มอาร์ไอ ในกรณีผู้ป่วยเด็กที่กระหม่อมยังไม่ปิดหรือกะโหลกบางอาจจะใช้ อัลตร้าซาวด์ 

ในการตรวจวินิจฉัย การรักษาแก้จากต้นเหตุของการอุดกั้นของน้ำในสมอง โดยการใส่ท่อระบายน้ำชนิดชั่วคราว อาจพิจารณาใช้การผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในสมอง อาจเป็นการส่องกล้อง เจาะให้มีการไหลเวียนในสมอง หรือการใส่ท่อระบายน้ำลงช่องท้อง หรือช่องหัวใจ ในผู้ป่วยบางรายอาจเลือกใส่ระบายน้ำจากโพรงน้ำที่หลังลงช่องท้อง แล้วแต่ความ เหมาะสม ดังนั้น หากพบว่าผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยก็จะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook