สงสัยไหมว่า ยาลดความอ้วน ที่ถูกกฎหมาย นั้นมีจริงหรือเปล่า?

สงสัยไหมว่า ยาลดความอ้วน ที่ถูกกฎหมาย นั้นมีจริงหรือเปล่า?

สงสัยไหมว่า ยาลดความอ้วน ที่ถูกกฎหมาย นั้นมีจริงหรือเปล่า?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใครๆ ก็รู้ว่ายาลดความอ้วน เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องในการลดน้ำหนัก แต่จริงๆ แล้วตามคลินิก หรือโรงพยาบาลมียาลดความอ้วนที่ถูกกฎหมายขายอยู่บ้างหรือไม่? แล้วเราสามารถเดินดุ่มๆ ไปขอซื้อได้หรือเปล่า? Sanook! Health มีข้อมูลจาก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มาเล่าสู่กันฟังถึงรายละเอียดของ “ยาลดความอ้วน” กันค่ะ

อนึ่ง บทความฉบับเต็มที่กล่าวถึง “ยาลดความอ้วนกับอาการทางจิต” สามารถอ่านต่อได้ที่โพสจาก Facebook ด้านล่างค่ะ

 

__________________________________________________

 

ยาลดความอ้วนที่ถูกกฎหมายและถูกต้องตามทะเบียนยา

มีหลักๆ ที่พูดถึงและใช้(เคยใช้)กันบ่อยๆ อยู่แค่ 2-3 ตัวเท่านั้น

โดยหากแบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์แล้วจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มได้แก่

1. ยาที่ออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทส่วนกลาง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือออกฤทธิ์ที่สมองนั่นแหละ ยาในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดในทางกฎหมายแล้วจัดว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แปลว่าห้ามจำหน่ายเองโดยร้านขายยาหรือในสถานลดน้ำหนักที่ไม่ใช่สถานพยาบาล แต่ในชีวิตจริงก็พบว่าสามารถหาซื้อได้ทั่วไปแบบไม่ยากเย็นอะไร ตัวอย่างยายอดนิยมในกลุ่มนี้ได้แก่

- ยาไซบูทรามีน (Sibutramine เป็นชื่อสามัญ แต่หลายคนอาจรู้จักในชื่อการค้ามากกว่าคือ Reductil) เป็นยาที่ในอดีตเป็นที่นิยมมาก และถูกต้องตามกฎหมาย ใช้กันเกลื่อนกลาดกันแทบจะทุกคลินิก แต่ต่อมาพบว่ายาตัวนี้มีอันตรายและมีผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงชีวิต ทางบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายจึงได้ขอถอนตัวยาของตัวเองออกจากทะเบียนยาไปในปี คศ. 2010 ทำให้ปริมาณการใช้ลดลงมาก เพราะถือว่าผิดกฎหมายและเป็นยาเถื่อนไปแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยังพอพบเห็นได้อยู่ตามร้านขายยาหรือคลินิก โดยลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งตัวยาของจริงที่มีเหลือค้างสต็อคอยู่ในบางประเทศ และตัวยาของปลอมที่ผลิตขึ้นมาเอง นอกจากนี้ยาไซบูทรามีนยังถูกนำมาใช้โดยการแอบผสมในกาแฟสำเร็จรูปที่อ้างว่าลดน้ำหนักหรือในอาหารสมุนไพรลดน้ำหนักต่าง ๆ เพื่อให้มีผลในการลดความอ้วน

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไซบูทรามีนคือการกดสมองส่วนความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร นอกจากนี้ยายังมีผลทำให้เพิ่มระดับของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (serotonin) นอร์อิฟิเนฟฟลิน (norepinephrine) และโดปามีน (dopamine) ซึ่งทั้งสามตัวเป็นสารที่มีผลต่อเรื่องของอารมณ์ และอาการทางจิต

การที่ร่างกายมีสารสื่อประสาทโดปามีนทำงานมากเกินปกติ → อาจจะมีผลทำให้เกิดอาการหูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอนได้ ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับการที่เสพยาบ้าหรือยาไอซ์แล้วเกิดอาการหลอน เพราะยาเสพติดทั้งสองตัวนี้มีผลเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทโดปามีนเหมือนกัน

โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยากลุ่มนี้ได้แก่ ปวดหัว ปากแห้ง เบื่ออาหาร ท้องผูก ใจสั่นและนอนไม่หลับ แต่ผลข้างเคียงที่รุนแรงได้แก่ อาการซึมเศร้า (รวมไปถึงการฆ่าตัวตาย) หูแว่วหวาดระแวง (psychosis) และอาการแมเนีย (mania) นอกจากนี้ยังพบว่ามีผลทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหัวใจขาดเลือดได้ ซึ่งเป็นเหตุผลให้ผู้ผลิตต้องยอมเลิกผลิตยาตัวนี้ไป

- ยาเฟนเทอมีน (Phentermine) แต่เดิมช่วงหนึ่งเคยตกเป็นรองยาไซบูทรามีน (ด้านความนิยม) แต่พอยาไซบูทรามีนเลิกจำหน่ายไป ก็กลับมาโดดเด่นเป็นยาที่ถูกใช้บ่อยที่สุดตัวหนึ่ง ยาตัวนี้ออกฤทธิ์คล้าย ๆ กับไซบูทรามีนคือกระตุ้นศูนย์ความอิ่มในสมอง ทำให้กินแล้วรู้สึกอิ่มไม่อยากอาหาร โดยหลักการแล้วที่จริงยาตัวนี้มีลักษณะคล้ายอนุพันธ์ของยาบ้า (amphetamine) ทำให้หากกินยาตัวนี้แล้ว โดนตรวจปัสสาวะ อาจพบว่า “ฉี่ม่วง” ได้ และอย่าแปลกใจที่หากใช้ไปนาน ๆ อาจจะมีผลข้างเคียงหูแว่วประสาทหลอนเหมือนเสพยาบ้าได้

โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ ใจสั่น ความดันสูง ปวดหัว นอนไม่หลับ ท้องผูก อารมณ์หงุดหงิด กระวนกระวาย ส่วนผลข้างเคียงที่รุนแรงได้แก่ อาการหูแว่วหวาดระแวง

*** ยาในกลุ่มนี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด และห้ามใช้ติดต่อกันนานเกินกว่า 2-3 สัปดาห์โดยเด็ดขาด ***

และ ข้อควรระวังอีกอย่างหนึ่งสำหรับยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางก็คือจะมีผลโยโย่เอฟเฟค (Yoyo effect) คือตอนที่กินยาอยู่ จะเบื่ออาหาร กินน้อย จนน้ำหนักลดลงจริง แต่พอเลิกกินก็จะกลับมากินเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม ทำให้หากไม่คุมอาหารหรือออกกำลังกายต่อไปด้วย จะกลับมาอ้วนเหมือนเดิมอย่างรวดเร็ว

2. ยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมไขมันที่ลำไส้ ในปัจจุบันมีอยู่ตัวเดียวที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการับรองให้ใช้ได้ รวมถึงในไทยด้วยคือยาโอลิสแตต (Orlistat หรือชื่อการค้าคือ Xenical) ยาตัวนี้ออกฤทธิ์โดยทำการยับยั้งการย่อยสลายไขมันในอาหาร ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ ทำให้ปริมาณไขมันที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยลง

หากเทียบกับยาในกลุ่มก่อนหน้านี้ ยาตัวนี้ถือว่ามีผลข้างเคียงที่น้อยกว่าเยอะ และค่อนข้างปลอดภัยกว่า รวมทั้งไม่มีผลข้างเคียงในเรื่องอาการทางจิต แต่ที่ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่คือยามีผลข้างเคียงทำให้ถ่ายออกมาเป็นไขมัน เป็นมูก ๆ บางทีอาจมีไขมันซึมออกมาจนเปื้อนกางเกงในได้ ทำให้หลายคนรู้สึก อึ๋ย !!! ไม่ชอบใช้เท่าไหร่

แต่สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดคือ คิดว่ากินยาตัวนี้แล้ว ไปกินแหลกยังไงก็ได้ไม่อ้วน ทำให้บางคนเล่นกินยาตัวนี้ก่อนจะไปกินบุปเฟห์หรืองานเลี้ยง เพราะคิดว่าจะได้กินเต็มที่ได้โดยไม่อ้วน แต่ที่จริงไม่ถูกต้อง !!! เพราะยาลดการดูดซึมไขมันได้เพียง 30-50% เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังดูดซึมเข้าร่างกายได้อยู่ดี ผลก็คือ ”เอาไม่อยู่” ครับ ขืนทำแบบนี้บ่อย ๆ ยังไงน้ำหนักก็คงไม่ลด

ปล. ในรูปนี่คือยา Phentermine ครับ (เครดิตรูปเอามาจาก wikipedia)

ปล. 2 ใครกินยาลดความอ้วนหน้าตาคล้ายๆ แบบนี้อยู่ จำไว้นะครับว่าตามหลักแล้ว ห้ามกินเกิน 2-3 อาทิตย์ หากใครกินมาเป็นเดือนแล้ว ให้ระวังไว้ว่าอาจจะเกิดอันตรายได้นะครับ !!!

‪#หมอคลองหลวง

 

_______________________________

กล่าวโดยสรุปคือ ยาลดความอ้วนที่ถูกกฎหมายมีอยู่จริง แต่ต้องได้รับการดูแล และจ่ายยาจากแพทย์ และเภสัชกรอย่างใกล้ชิดเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อทานเองได้ เพราะนอกจากจะได้ผลข้างเคียงเป็น Yoyo Effect หรือน้ำหนักตัวเด้งเพิ่มขึ้นหนักกว่าเก่าอย่างที่เราอ่านเจอกันมากมายไม่หวาดไม่ไหวแล้ว ยังส่งผลให้สุขภาพเสื่อมโทรม จนอาจไม่กลับมาเป็นปกติได้ในอนาคต ดังนั้นหากอยากลดความอ้วนจริงๆ ควรออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่าค่ะ

 

 

ยาลดความอ้วนกับอาการทางจิต ตอนที่ 1 ยาลดความอ้วน(จริงๆ)ผมโพสบทความนี้ขึ้นมาเล่าให้ฟังกัน เพราะพึ่งไปอ่านกระทู้ในพันทิป...

Posted by สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย on Friday, August 29, 2014

 

ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook