6 สัญญาณอันตราย โรค "ไอบีเอส" ลำไส้ทำงานแปรปรวน

6 สัญญาณอันตราย โรค "ไอบีเอส" ลำไส้ทำงานแปรปรวน

6 สัญญาณอันตราย โรค "ไอบีเอส" ลำไส้ทำงานแปรปรวน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคลำไส้ทำงานแปรปรวน หรือที่เรียกกันว่า โรคไอบีเอส (Irritable Bowel Syndrome:IBS) โรคนี้มีมานานแล้ว แต่ที่เราไม่ค่อยจะได้ยินหรือคุ้นหูนัก เนื่องจากเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก แต่ปัจจุบันมีความรู้เกี่ยวกับโรคไอบีเอสเพิ่มมากขึ้น และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยให้ชัดเจนขึ้น จึงส่งผลให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น

ศ.คลินิก.นพ.อุดม คชินทร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคนี้จะมีลำไส้ทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการปวดท้องร่วมกับมีอาการท้องเสีย หรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก โดยที่การตรวจโดยทั่วไปจะไม่พบความผิดปกติ ทางพยาธิสภาพที่ลำไส้ เช่น ส่องกล้องตรวจลำไส้จะไม่มีอาการอักเสบ ไม่มีแผล ไม่มีเนื้องอกหรือมะเร็ง และการตรวจเลือดด้วยวิธีต่าง ๆ ก็ยังไม่พบความผิดปกติ รวมทั้งไม่มีโรคของอวัยวะอื่น ๆ ที่จะมีผลให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น

โรคนี้จะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง หรืออาจเป็นตลอดชีวิต แต่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมแม้จะเป็นมาหลายๆ ปี และไม่ทำอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญและความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยอย่างมาก เนื่องจากจะวิตกกังวลว่าทำไมโรคไม่หาย แม้ได้ยารักษา ทำให้มีผลต่อคุณภาพชีวิต ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ บางรายอาจต้องเผชิญภาวะหยุดงานบ่อย และประสิทธิภาพการทำงานลดลง

แม้โรคไอบีเอสจะพบได้บ่อย และมีการศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้อย่างมากมานานแล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน แต่จากหลักฐานทางการแพทย์ที่มีอยู่ เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคไอบีเอส ซึ่ง 3 ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

  1. การบีบตัว หรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลจากการหลั่งสาร หรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติไป นำไปสู่การปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก
  2. ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่น หลังกินอาหาร ซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัว หรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยไอบีเอส จะมีการตอบสนองผิดปกติ มีการบีบรัดตัวและเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้นจนส่งผลให้ปวดท้องและท้องเสีย หรือท้องผูก เป็นต้น นอกจากอาหารแล้ว ตัวกระตุ้นอื่นที่สำคัญ คือ “ความเครียด” หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนหนุนเสริมให้มีอาการมากขึ้น
  3. มีความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของแกนที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทรับความรู้สึก ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้และสมอง (brain-gut axis) โดยเกิดจากความผิดปกติของสารที่ควบคุมการทำงาน ซึ่งมีหลายชนิดและทำหน้าที่แตกต่างกัน

พบโรคไอบีเอสบ่อยหรือไม่?

ศ.คลินิก.นพ.อุดม กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยรวบรวมสถิติผู้ป่วยพบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยไอบีเอส ประมาณกว่า 5 ล้านคน (ซึ่งต่ำกว่าที่เป็นจริง เพราะผู้ป่วยบางคนไม่มีอาการแสดงใดๆ ทำให้ชะล่าใจและปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา) และพบในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะช่วงวัยทำงาน (20-30 ปี) และจะพบได้บ่อยไปจนถึงอายุ 60 ปี หลังอายุ 60 ปี จะพบน้อยลง และพบว่าโรคนี้มักจะเกิดกับคนที่มีสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมชั้นกลางถึงชั้นสูง

สัญญาณอันตราย อาการเบื้องต้นของโรคไอบีเอส

อาการสำคัญของผู้ป่วย คือ

  1. ปวดท้อง (ส่วนใหญ่มักปวดที่ท้องน้อย) ลักษณะจะเป็นอาการปวดเกร็ง แต่จะทุเลาขึ้นหลังจากถ่ายอุจจาระ
  2. ท้องเสียหรือท้องผูกเป็นประจำ บางรายมีอาการท้องผูกสลับท้องเสียต่อเนื่องกัน
  3. ลักษณะอุจจาระจะเปลี่ยนไปเป็นก้อนแข็งหรือเหลวจนเป็นน้ำผิดปกติ 
  4. เมื่อจะถ่ายอุจจาระต้องเบ่งแรง ในทางกลับกัน ผู้ป่วยบางรายมีอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายๆ กัน คือ จะรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระบ่อยๆ แม้เพิ่งจะไปถ่ายอุจจาระมา เพราะรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด
  5. ถ่ายเป็นมูกปนมากับอุจจาระมากกว่าปกติ
  6. ท้องอืดมีลมมากในท้องและเมื่อถ่ายอุจจาระมักจะมีลมออกมาด้วย

โดยทั่วไป อาการทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ป่วยมักจะเป็นๆ หายๆ นานเกิน 3 เดือน ถ้าผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นเลือด มีไข้ น้ำหนักลด ซีดลง มีอาการช่วงหลังเที่ยงคืน หรือมีอาการปวดเกร็งท้องมากตลอดเวลา อาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าไม่ใช่โรคไอบีเอส

โรคไอบีเอส จะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่?

ศ.คลินิก.นพ.อุดม กล่าวว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคมะเร็ง และจะไม่กลายเป็นมะเร็งแม้จะมีประวัติเป็นๆหายๆ มานาน ยิ่งผู้ป่วยมีอาการมานานเป็นปีๆ โอกาสเป็นโรคมะเร็งยิ่งน้อยมาก แต่ที่ต้องระวัง คือ ผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือเพิ่งมามีอาการท้องเสียหรือท้องผูก หลังอายุ 40-50 ปี อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็น “โรคมะเร็งลำไส้” (เกิดร่วมกับไอบีเอส) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจและสืบค้นโดยแพทย์ให้รู้สาเหตุที่แน่นอน

โรคไอบีเอส รักษาหายขาดหรือไม่?

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคนี้ จึงยังไม่มียาที่ดีเฉพาะโรคนี้ หรือการรักษาที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่แพทย์รักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยาระบายในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่น หรือ ให้ยาแก้ท้องเสียถ้ามีอาการท้องเสียเป็นอาการเด่น ให้ยาต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้ เพื่อช่วยลดอาการปวดท้อง ดังนั้นผลการรักษาจึงยังไม่ได้ผลดี ผู้ป่วยเป็น ๆ หาย ๆ ไม่หายขาด แต่ปัจจุบันมีการคิดค้นตัวยาที่ใช้ในการรักษา ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็จะต้องทำการค้นคว้าวิจัยต่อไป เพื่อให้ได้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

อาหารคลายทุกข์จากโรคไอบีเอส

ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมัน เช่น

  • เนื้อสัตว์ทุกชนิด
  • หนังเป็ด หนังไก่
  • นม ครีม เนย
  • น้ำนมพืช
  • อะโวคาโด

ควรรับประทานอาหารที่มีกากหรือเส้นใย (fiber) จะช่วยลดอาการของโรค โดยจะช่วยให้ลำไส้บีบตัวหรือเกร็งตัวลดลง นอกจากนี้การหรือเส้นใจยังช่วยดูดน้ำไว้ในอุจจาระ ทำให้อุจจาระไม่แข็งและถ่ายได้ง่ายขึ้น

อาหารแนะนำ ได้แก่

  • ขนมปังทุกชนิด whole-grain
  • ถั่ว
  • cereal
  • ผลไม้ และผัก (การกินอาหารที่มีกากหรือเส้นใยมาก อาจทำให้มีท้องอืด มีแก๊สในท้อง แต่จะเป็นเฉพาะช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ต่อไปร่างกายจะปรับตัวได้เอง)

นอกจากนี้ควรกินทีละน้อยแต่กินให้บ่อยขึ้น ไม่ควรกินจนอิ่มมาก เพราะวาจะกระตุ้นให้มีอาการปวดท้องและท้องเสียได้ง่าย

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน โดยกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้งแลน้ำตาลให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด กาแฟ ของดอง น้ำอัดลม และยาบางชนิด ซึ่งจะทำให้มีอาการมากขึ้นด้วย ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้มีการเกร็งตัวของลำไส้เพิ่มขึ้น จึงควรผ่อนคลาย  ทำจิตใจให้สบาย พักผ่อนทั้งร่างกายให้เพียงพอ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยไอบีเอสด้วยส่วนหนึ่ง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ แม้จะได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นเพียงการบรรเทาอาการ ป้องกันการลุกลามและประคองอาการไม่ให้ทรุด ทางที่ดีที่สุด คือ หมั่นไปพบแพทย์ตามนัด เมื่อมีอาการผิดปกติไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนอย่าชะล่าใจ ควรรับการตรวจวินิจฉัยทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook