รู้ไว้! สิทธิประโยชน์ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ไม่ต้องสำรองจ่าย

รู้ไว้! สิทธิประโยชน์ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ไม่ต้องสำรองจ่าย

รู้ไว้! สิทธิประโยชน์ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ไม่ต้องสำรองจ่าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลประกันสังคมที่เลือกไว้ หากจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนจะเข้ารับการรักษาพยาบาล

แต่รู้หรือไม่ว่าในกรณีที่เรา “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลที่เลือกใช้สิทธิเอาไว้ และไม่ต้องกังวลว่าจะยุ่งยากเรื่องเอกสารต่างๆ เพียงผู้ป่วยมีบัตรประจำตัวประชาชนใบเดียวก็สามารถเข้ารับการบริการได้

ที่สำคัญ ผู้ประกันตนหรือญาติไม่จำเป็นต้องสำรองจ่าย หรือเสียค่าใช้จ่ายใดๆ  ในระหว่างที่เข้ารับการรักษา จนกว่าจะพ้นภาวะวิกฤต หรือสามารถเคลื่อนย้ายได้ ภายใน 72 ชั่วโมงด้วย

เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP)

Unoversal Coverage for Emergency Patients (UCEP) หรือ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” เป็นการใช้สิทธิตามนโยบายของรัฐ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัย โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคและความเสี่ยงของการดูแลรักษาผู้ป่วย ภายใน 72 ชั่วโมง หรือพ้นภาวะวิกฤต

ใครสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้บ้าง?

ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่มีสิทธิในกองทุนดังต่อไปนี้ ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และกรมบัญชีกลาง (ดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) จะได้รับสิทธิ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (UCEP)

โดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จะต้องเข้าหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินตามที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ประกาศ ซึ่งรายละเอียดเกณฑ์ในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดไว้นั้น คือกลุ่มที่มีอาการ ดังนี้

  • หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  • หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
  • ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
  • เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่อง
  • หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

หากมีข้อโต้แย้ง ใช้เวลาพิจารณาสิทธิผู้ป่วยนานแค่ไหน?

กรณีมีปัญหาในการตัดสินการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เนื่องจากมีข้อโต้แย้งว่าไม่ได้มีอาการที่เข้าข่ายวิกฤตฉุกเฉิน แพทย์ประจำศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จะร่วมกับวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ในการ ประเมินภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยภายใน 15 นาที โดยคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสพฉ.ใหถือเป็นที่สุด หรือญาติของผู้ป่วยสามารถติดต่อศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสพฉ.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โทร. 0-2872-1669

หลังจากรักษาครบ 72 ชม. ส่งผู้ป่วยรักษาต่ออย่างไร?

ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสพฉ. จะรับทราบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าระบบเมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีการประเมินและบันทึกการประเมินผู้ป่วยในระบบโปรแกรม Preauthorization

จากนั้น ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จะแจ้งต่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วย เพื่อเตรียมการรับย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบปกติให้ได้ทันภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เมื่อครบ 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤตแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook