โรคหอยคัน จากตัวอ่อนพยาธิใบไม้เลือด ชาวนาชาวสวนเสี่ยงสูง

โรคหอยคัน จากตัวอ่อนพยาธิใบไม้เลือด ชาวนาชาวสวนเสี่ยงสูง

โรคหอยคัน จากตัวอ่อนพยาธิใบไม้เลือด ชาวนาชาวสวนเสี่ยงสูง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคหอยคัน จากตัวอ่อนพยาธิใบไม้เลือด ชาวนาชาวสวนเสี่ยงสูง ทำให้เกิดอาการคัน และมีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามขา สามารถหายได้เอง หรือทายาช่วยให้หายไวขึ้นได้


โรคหอยคัน คืออะไร?

ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ระบุว่า โรคหอยคัน หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า โรคพยาธิหอยคัน หรือโรคน้ำคัน (ภาษาอังกฤษ Cercarial dermatitis หรือ Swimmer’s Itch) คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิที่อยู่ในน้ำได้ชอนไชเข้าสู่ผิวหนัง พยาธิเหล่านี้เป็นตัวอ่อนระยะเซอคาเรียของพยาธิใบไม้เลือดสัตว์ของสัตว์ เช่น วัว ควาย เนื่องจากมีโฮสต์จำเพาะเป็นสัตว์ คนเราไม่ใช่โฮสต์จำเพาะ พยาธิไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็มักจะตายหลังจากไชไประยะเวลาหนึ่งบริเวณผิวหนัง เวลาไชไปตามผิวหนังก็กระตุ้นให้เกิดอาการคันจากปฏิกิริยาการตอบสนองของโฮสต์

พยาธิใบไม้เลือดที่พบได้บ่อยในประเทศไทย มีหอย Indoplanorbis exustus (หอยคัน) ตัวแบนคล้ายเลขหนึ่ง


กลุ่มเสี่ยงโรคหอยคัน

เนื่องจากเป็นพยาธิที่พบได้ในวัว ควาย และสามารถติดต่อผ่านกันทางน้ำได้ ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงจึงเป็นชาวนาชาวไร่ทำงานโดยเอาขาและเท้าแช่น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่อาจมีวัวควายอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผู้ที่ต้องสัมผัสกับแหล่งน้ำอยู่บ่อยๆ เช่น ผู้ที่มีอาชีพงมหอย เก็บผักบุ้ง หรือเด็กๆ ที่ชอบว่ายน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ เป็นต้น


อาการของโรคหอยคัน

  • คันตามตัว หรือขา แขน 

  • ปวดแสบปวดร้อน 

  • มีตุ่มขึ้นคล้ายๆ กับยุงกัด 

  • ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการแพ้มากเป็นพิเศษ ทำให้เกิดตุ่มจำนวนมาก ยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากยิ่งขึ้น


วิธีรักษาโรคหอยคัน

โรคหอยคันสามารถรักษาได้ตามอาการ แก้อาการคันโดยทาคาลามายด์ (Calamine) กรณีมีอาการแพ้ ให้ยาแก้แพ้พวก คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine)  แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการแพ้มาก อาจจะให้ยากดภูมิคุ้มกันพวกสเตียรอยด์ เช่น เดกซาเมทาโซน (Dexamethazone) แต่ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำจากเภสัชกรและแพทย์


การป้องกันโรคหอยคัน

  1. หลีกเลี่ยงการแช่น้ำในแหล่งธรรมชาตินานๆ โดยเฉพาะตามคันนา ริมสวน ริมบึงต่างๆ

  2. ถ้ามีความจำเป็นต้องทำงานตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรสวมรองเท้าบู้ทยาว รวมถึงถุงมือยางยาว เพื่อไม่ให้อวัยวะสัมผัสกับน้ำโดยตรง

  3. ถ้าจำเป็นต้องสัมผัสกับน้ำโดยตรง ควรทาวาสลินตามตัวก่อนลงสู่แหล่งน้ำแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้พยาธิหอยคันมาเกาะที่ผิวหนัง

  4. อาบน้ำให้สะอาดและใช้ผ้าเช็ดตัวแรงๆ เมื่อขึ้นจากแหล่งน้ำ เพื่อทำให้พยาธิหอยคันที่ติดอยู่ตามผิวหนังหลุดออกไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook