"ฝีที่รักแร้" เกิดจากอะไร รักษา และป้องกันอย่างไร?

"ฝีที่รักแร้" เกิดจากอะไร รักษา และป้องกันอย่างไร?

"ฝีที่รักแร้" เกิดจากอะไร รักษา และป้องกันอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากใครเคยเป็นฝี น่าจะรู้ดีว่ามันเจ็บปวดทรมานแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเป็น "ฝีที่รักแร้" เพราะแค่จะนั่งหุบแขนแบบปกติบางทีก็ยังยาก แถมยังต้องกังวลอีกว่าฝีจะแตกจนหนองไหล หรือซึมเลอะเสื้อผ้าจนเสียความมั่นใจหรือเปล่า

Hello คุณหมอ เลยอยากชวนคุณมาทำความรู้จักโรคติดเชื้ออย่าง “ฝีที่รักแร้” ให้มากขึ้น คุณจะได้รู้ว่าฝีเกิดจากอะไร และจะสามารถป้องกันได้อย่างไรบ้าง

ฝีที่รักแร้ คืออะไร?

ฝี (Boil หรือ Furuncle) เป็นการติดเชื้อที่รูขุมขนหรือต่อมไขมัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ก่อตัวในรูขุมขนและไปผสมเข้ากับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและหนอง ทำให้ผิวหนังในบริเวณนั้นบวม แดง และมีหนองเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ

แม้ฝีจะไม่ใช่ภาวะสุขภาพที่อันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต แต่ก็สร้างความรำคาญ และความเจ็บปวดให้เราได้มากเลยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเป็นฝีที่รักแร้ เพราะเมื่อเป็นแล้ว จะยกแขนก็ยาก ยิ่งหุบแขนตามปกติยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ โดยปกติแล้ว ฝีที่รักแร้จะแห้งไปเองภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากฝีที่รักแร้ไม่ยอมหายภายในเวลาดังกล่าว หรือใหญ่ขึ้นเร็วมาก คุณควรไปพบคุณหมอ เพราะอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

อาการของฝีที่รักแร้

  • มีตุ่ม หรือก้อนนูนสีแดงหรือชมพูที่รักแร้
  • เจ็บบริเวณตุ่มที่เกิดขึ้น
  • มีหนองใต้ผิวหนัง
  • มีไข้ รู้สึกไม่สบาย
  • คันที่ตุ่ม หรือบริเวณโดยรอบ

หากฝีที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นก้อนหนอง หรือหัวหนองหลายๆ หัวติดกัน จะเรียกว่า “ฝีฝักบัว” (Carbuncle) ซึ่งจะยิ่งสร้างความเจ็บปวด รำคาญ และต้องใช้เวลารักษานานขึ้นไปอีก

สาเหตุของฝีที่รักแร้

ฝีที่รักแร้เกิดจากรูขุมขนติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสาเหตุเหล่านี้

  • การโกนขน

รักแร้ของเราเป็นแหล่งสะสมเหงื่อและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว เมื่อคุณโกนขนรักแร้บ่อย ๆ ก็อาจทำมีดโกนพลาดบาดผิวหนังใต้วงแขนจนเป็นแผลเปิด ส่งผลให้แบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย จึงเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น

  • เหงื่อออกมากเกินไป

หากคุณต้องเผชิญกับอากาศร้อนอบอ้าว หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมา แต่กลับไม่ดูแลทำความสะอาดร่างกายให้ดี โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ก็อาจทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจากการติดเชื้อโรค เช่น ฝี ได้ง่ายขึ้น

  • ไม่รักษาความสะอาดบริเวณรักแร้

หากคุณไม่ทำความสะอาดบริเวณรักแร้ให้ดี ก็อาจทำให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ผสมรวมกับไขมันหรือเชื้อโรค จนเกิดเป็นฝีหรือสิวได้

  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

เมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ร่างกายก็จะต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียได้ไม่เต็มที่ นั่นจึงเป็นเหตุให้คุณมีปัญหาสุขภาพจากการติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ได้ง่าย รวมถึงฝีด้วย และฝีก็ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยมากในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคภูมิแพ้

วิธีป้องกันฝีที่รักแร้

แม้ฝีที่รักแร้จะไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็สร้างความเจ็บปวด และกระทบชีวิตประจำวันของเราได้ไม่น้อย เราเลยมีวิธีป้องกันฝีที่รักแร้มาฝาก หากทำตามวิธีดังต่อไปนี้ ความเสี่ยงในการเกิดฝีรักแร้ของคุณก็จะลดลงแน่นอน

  1. ชำระล้างร่างกายให้สะอาด คุณควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อชำระเหงื่อไคล สิ่งสกปรก และเชื้อแบคทีเรียที่อาจเกาะอยู่ตามร่างกาย โดยเฉพาะในบริเวณรักแร้
  2. หากเป็นแผลที่รักแร้ รวมถึงแผลที่เกิดจากการโกนขน ต้องปิดแผลให้สนิท เมื่อคุณมีแผล โดยเฉพาะแผลเปิด คุณควรปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือพลาสเตอร์ปิดแผล และควรเปลี่ยนวัสดุปิดแผลบ่อยๆ โดยเฉพาะหากเปียกน้ำ เพื่อให้บริเวณแผลแห้ง สะอาด ลดความเสี่ยงที่เชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล
  3. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ของใช้ เช่น ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน มีโกน เสื้อผ้า ถือเป็นของใช้ส่วนตัวที่คุณควรสงวนไว้ใช้คนเดียว ไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น เพราะหากมีคนใดคนหนึ่งติดเชื้อแบคทีเรียสตาฟิโลคอคคัส ออเรียส ก็ทำให้คนอื่นๆ ที่ใช้ของร่วมกันติดเชื้อนี้ผ่านของใช้เหล่านี้ได้
  4. ควรซักเสื้อผ้าและผ้าขนหนูด้วยน้ำร้อนผสมน้ำยาซักผ้า แล้วตากหรืออบให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้ใหม่ และทางที่ดี คุณควรทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวเป็นประจำด้วย จะได้ลดการสะสมของเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ซึ่งรวมถึงฝีที่รักแร้ด้วย
  5. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ ถือเป็นวิธีพื้นฐานที่จะช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันของคุณแข็งแรง และสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ที่มารุกรานร่างกายได้ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโรคได้เป็นอย่างมาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook