รู้จักโรค "ALS กล้ามเนื้ออ่อนแรง" สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

รู้จักโรค "ALS กล้ามเนื้ออ่อนแรง" สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

รู้จักโรค "ALS กล้ามเนื้ออ่อนแรง" สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือโรค ALS ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แนะออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทาน อาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมความเครียด หากมีอาการที่คล้ายจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้องป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS คืออะไร?

นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า "โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง" ซึ่งมีชื่อทางการแพทย์ว่า Amyotrophic Lateral Sclerosis หรือที่เรียกสั้นๆ "เอแอลเอส (ALS)" เป็นโรคทางระบบประสาทโดยตรง เกิดขึ้นจากเซลล์ระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อเสื่อม แก่และตายก่อนวัยอันควร มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาลีบ มีการกระตุกเต้นของกล้ามเนื้อ กว่า 70% จะเริ่มเป็นที่บริเวณแขนขาข้างใดข้างหนึ่งก่อนจะลุกลามไปสู่กล้ามเนื้อส่วนอื่น เช่น กล้ามเนื้อการกลืน กล้ามเนื้อทางระบบหายใจ ส่งผลทำให้พูดไม่ได้ หรือหายใจเองไม่ได้ จึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และรับประทานอาหารผ่านสายยาง 

กลุ่มเสี่ยงโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 4-6 คนต่อประชากร 100,000 คน และจะมีโอกาสพบผู้ป่วยรายใหม่ได้ประมาณ 1-3 คน ต่อปี โดยโรคนี้มักจะเกิดในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 40–60 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตหลังเกิดอาการเพียง 3- 4 ปี มีเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานสูงสุดถึง 10 ปี 

วิธีรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาด การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการและประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ได้นานที่สุด

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้แต่ต้องดูแลตัวเอง ดังนี้

  1. กินยาตามแพทย์สั่งตลอดเวลา 
  2. ผู้ดูแลต้องพยายามให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อลีบแบน เกิดแผลกดทับและการติดของข้อ 
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ 
  4. ลดความเครียด 
  5. รับประทานอาหารที่อ่อนนุ่มและไม่ต้องเคี้ยวมากในกรณีที่มีปัญหาเรื่องการกลืน 
  6. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเกินไป
  7. หลีกเลี่ยงการรับหรือสัมผัสกับยาฆ่าแมลงหรือพวกโลหะหนักและรังสีรุนแรง ซึ่งจะกระตุ้นทำให้เซลล์เสื่อมสภาพและตาย 
  8. คนในครอบครัวและญาติต้องให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุขที่สุด  

การป้องกันโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีคำแนะนำด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ 

  1. ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย 
  3. หากสงสัยว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook