สัญญาณอันตราย "วัณโรคกระดูกที่นิ้วมือ"

สัญญาณอันตราย "วัณโรคกระดูกที่นิ้วมือ"

สัญญาณอันตราย "วัณโรคกระดูกที่นิ้วมือ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัญญาณเตือนวัณโรคนิ้วมือได้แก่อาการบวมและรู้สึกตึงบริเวณกระดูกมือ หากเป็นมากอาจมีหนองไหล มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด แนะถ้าพบควรได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกของโรค จะสามารถหายขาดได้โดยไม่ต้องได้รับการผ่าตัด        


โรควัณโรคที่กระดูก คืออะไร ?

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช  รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรควัณโรคที่กระดูกเป็นภาวะที่พบได้ประมาณ 1% ของการเกิดวัณโรคทั้งหมด ในจำนวนนี้มีการเกิดที่บริเวณมือหรือนิ้วมือประมาณ 4% โดยมักจะพบที่บริเวณเส้นเอ็นและเยื่อหุ้มเส้นเอ็นมากกว่าที่กระดูก ถ้าเป็นที่กระดูกในมือ มักจะพบเรียงจากมากไปน้อย คือ กระดูกฝ่ามือ กระดูกนิ้วส่วนต้น  กระดูกนิ้วส่วนกลาง และกระดูกนิ้วส่วนปลายตามลำดับ 


อาการของโรควัณโรคที่กระดูก

ผู้ป่วยมักมีอาการไม่ชัดเจน โดยอาการที่พบได้จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในระดับต่าง ๆ อาการที่พบได้บ่อย คือ มีอาการบวมและรู้สึกตึงบริเวณกระดูกมือในบริเวณที่เป็นโรค ในผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการกระดูกหักที่เกิดจากการที่โรคทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ในระยะที่โรคมีการดำเนินไประยะเวลาหนึ่ง อาจพบมีหนองไหลออกมาให้เห็นที่ผิวหนังได้ ประกอบกับอาการอื่น ๆ เช่น อาการไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งมักไม่พบในกรณีที่เป็นโรคที่เป็นที่ตำแหน่งเดียว แต่อาจพบได้ในกรณีที่เป็นรอยโรคหลายตำแหน่ง


การตรวจวินิจฉัยโรควัณโรคที่กระดูก

นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรควัณโรคนิ้วมือที่สำคัญ ซึ่งสามารถทำได้โดยการนำชิ้นเนื้อที่บริเวณรอยโรคมาตรวจ และการนำชิ้นเนื้อที่มีเชื้อโรคมาเพาะเชื้อยังสามารถช่วยในการเลือกยาต้านวัณโรคที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยได้ ในกรณีที่สงสัยเชื้อดื้อยาหรือไม่ตอบสนองต่อยาต้านวัณโรคที่ได้รับ 


การรักษาหลักของวัณโรคที่กระดูกมือ

การรักษาหลักของวัณโรคที่กระดูกมือ คือการให้ยาต้านวัณโรค โดยถ้าพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกของโรค จะสามารถหายขาดได้โดยไม่ต้องได้รับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับยาประมาณ  6-9  เดือน ยาหลักที่ให้เป็นยาขนานแรกประกอบด้วย ไอโซไนอาซิด ไรแฟมพิซิน ไพราซินาไมด์ และอีแทมบูทอล ซึ่งยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงหลายอย่างที่ต้องระวัง เช่น ตับอักเสบ เส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ และเส้นประสาทตาอักเสบ เป็นต้น ดังนั้น การใช้ยาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด    

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook