มีไข้-ออกผื่นแดงนูน เสี่ยง "โรคหัด" และอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน

มีไข้-ออกผื่นแดงนูน เสี่ยง "โรคหัด" และอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน

มีไข้-ออกผื่นแดงนูน เสี่ยง "โรคหัด" และอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เด็กเล็กมีไข้-ออกผื่นนูนแดงตามตัว เสี่ยงโรคหัด เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต แนะฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ 


โรคหัด ยังพบระบาดต่อเนื่อง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานข่าวพบการระบาดของโรคหัดในหลายภูมิภาคของโลกอย่างต่อเนื่อง นั้น กรมควบคุมโรค ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมโรค จึงได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กองระบาดวิทยา และกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ติดตามและประเมินสถานการณ์ของโรคหัดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และทำการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมต่อไป


สาเหตุของโรคหัด

โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูกและลำคอผู้ป่วย โดยติดต่อผ่านทางการน้ำลาย ละอองน้ำลายจากการไอ หรือจาม จากผู้ป่วยคนอื่น หรือการสัมผัสกับน้ำลายแล้วหยิบจับอาหารเข้าปาก เป็นต้น


อาการของโรคหัด

อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือ ไข้ออกผื่น โดยมักมีอาการไข้สูงประมาณ 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแพร่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายทั่วตัว ประมาณ 2-3 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นก็จะค่อยๆจางหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกเป็นขุย หรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด หากป่วยด้วยโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาทันที


ป้องกันโรคหัดได้ด้วยวัคซีน

โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งขอให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญนำบุตรหลานมารับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยวัคซีนป้องกันโรคหัด มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากกว่าร้อยละ 95 ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็ก อายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรคหัดจะมีอัตราการป่วยตายต่ำในเด็กทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ยังคงมีความเสี่ยงในเด็กเล็ก และเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ

ทั้งนี้ ตามแผนเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทย เพื่อให้วัคซีนเก็บตกในกลุ่มเด็กอายุ 1-12 ปี ทั่วประเทศ ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ทุกราย ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนฟรีที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง จนถึงเดือนมีนาคม 2563 นี้ โดยเป็นการให้วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) แก่เด็กอายุ 1-7 ปี และให้วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน (MR) แก่เด็กอายุ 7-12 ปี ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook