5 สัญญาณอันตราย "ครรภ์เป็นพิษ" อันตรายที่คุณแม่ควรรู้

5 สัญญาณอันตราย "ครรภ์เป็นพิษ" อันตรายที่คุณแม่ควรรู้

5 สัญญาณอันตราย "ครรภ์เป็นพิษ" อันตรายที่คุณแม่ควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับผู้หญิงเมื่อตั้งครรภ์ ต่างก็คาดหวังว่าระหว่างตั้งครรภ์จนถึงวันคลอด ไม่อยากให้เกิดปัญหาใด ๆ ขึ้น และคลอดลูกน้อยออกมาได้อย่างปลอดภัยแข็งแรงทั้งแม่และลูก แต่หนึ่งในปัญหาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่อยากให้เกิดคือ ครรภ์เป็นพิษ แม้เป็นภาวะที่พบได้เพียงร้อยละ 5-10 แต่ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของสตรีตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจถ้าเราได้ทำความรู้จักกับโรคนี้


ครรภ์เป็นพิษ เป็นอย่างไร ?

นพ.ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล สูติแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ครรภ์เป็นพิษ มักเกิดกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป พบว่า 4 ใน 100 คน ของคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการครรภ์เป็นพิษ ในจำนวนนี้ 80% มีอาการไม่รุนแรง แต่อีก 20% อาการค่อนข้างรุนแรง

ทั้งนี้ ครรภ์เป็นพิษเกิดจากความผิดปกติของการฝังตัวของรก ซึ่งโดยธรรมชาติรกจะฝังบริเวณเยื่อบุผนังมดลูก แต่ในกรณีที่แม่ครรภ์เป็นพิษ รกจะฝังตัวได้ไม่แน่น ส่งผลให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยลง จะเกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น เส้นเลือดสมองตีบ ตาพร่ามัว ตับวาย ฯลฯ ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากร้ายแรงถึงขั้นมีอาการชักร่วมด้วย อาจมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูก


กลุ่มเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ คือ

  1. ผู้หญิงที่มีโรคอ้วน เส้นเลือดไม่ค่อยดี มีโอกาสตีบง่าย

  2. หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุเกิน 35 ปี

  3. มีกรรมพันธุ์หรือคนในครอบครัวมีครรภ์เป็นพิษมาก่อน

  4. คนที่มีบุตรยาก

  5. คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เด็กมากกว่า 1 คนหรือตั้งครรภ์แฝด

  6. ตั้งครรภ์ครั้งแรก

  7. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไต ไทรอยด์ แพ้ภูมิตนเอง (SLE) เป็นต้น


ระดับความรุนแรงของครรภ์เป็นพิษ

ระดับความรุนแรงของครรภ์เป็นพิษ มีความรุนแรงหลายระดับโดยเริ่มตั้งแต่

  1. ครรภ์เป็นพิษระดับที่ไม่รุนแรง (Non - Severe Pre – Eclampsia) แม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อน

  2. ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง (Severe Pre - Eclampsia) แม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 หรือตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ เช่น ตับอักเสบ ไตทำงานลดลง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงแตก ฯลฯ

  3. ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงและมีภาวะชัก (Eclampsia) แม่ตั้งครรภ์จะมีอาการชัก เกร็ง หมดสติ อาจมีเลือดออกในสมอง ซึ่งหากอยู่ในระยะนี้ต้องรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


สัญญาณอันตราย "ครรภ์เป็นพิษ"

โดยอาการผิดปกติทางร่างกายที่แสดงออกหากครรภ์เป็นพิษ อาทิ

  1. อาการบวม เช่น บริเวณมือ เท้า หน้า

  2. น้ำหนักเพิ่มเร็วขึ้นผิดปกติ (โดยปกติน้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มเดือนละ 1.5 - 2 กิโลกรัม)

  3. ปวดศีรษะมาก รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น

  4. ทารกดิ้นน้อย ตัวเล็ก โตช้า

  5. ความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ140/90 มิลลิเมตรปรอท ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ตาพร่ามัว ปวดหรือจุกเสียดแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา


การตรวจวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษ

การตรวจวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษสามารถทำได้โดยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอัลตราซาวนด์ดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์เพื่อนำมาประเมินวางแผนการรักษา โดยปกติภาวะครรภ์เป็นพิษจะวินิจฉัยจากความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (Systolic Blood Pressure) 140 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า หรือความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (Diastolic Blood Pressure) 90 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า โดยวัด 2 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมง ร่วมกับตรวจพบว่ามีความผิดปกติของอวัยวะภายใน

นอกจากนี้ อาจตรวจพบโปรตีนรั่วออกมาปนในปัสสาวะ โดยความรุนแรงของโรคอาจมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงกระทั่งทำให้เกิดการชักหมดสติ มีภาวะซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตกสลาย เกล็ดเลือดลดต่ำทำให้มีเลือดออกผิดปกติ การทำงานของตับผิดปกติส่งผลให้เสียชีวิตได้ทั้งแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งนอกจากอาการและความรุนแรงของโรคแล้ว ยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้น ตามความรุนแรง โดยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับแม่และลูก เช่น ภาวะแทรกซ้อนของแม่ มักพบอาการชัก เกล็ดเลือดต่ำ น้ำท่วมปอด ไตวายเฉียบพลัน ตับอักเสบ เลือดออกในสมอง หากรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิต ส่วนภาวะแทรกซ้อนของลูก ได้แก่ ตัวเล็ก โตช้า รกลอกตัวก่อนกำหนด หากรุนแรงอาจเสียชีวิตในครรภ์แม่ได้

การตรวจวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษสามารถทำได้โดยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอัลตราซาวนด์  ดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์แล้วนำมาประเมินวางแผนการรักษา สามารถตรวจคัดกรองด้วยการดูจากปัจจัยเสี่ยงจากการเจาะเลือดและการทำอัลตราซาวนด์ดูการไหลเวียนของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก แพทย์จะพิจารณาการให้ยาแอสไพรินเพื่อป้องกันครรภ์เป็นพิษ ซึ่งพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดครรภ์เป็นพิษได้ถึง 60%


การรักษาครรภ์เป็นพิษ

การรักษาครรภ์เป็นพิษ คือ การทำคลอดเพื่อให้ทารกคลอดออกมาโดยเร็ว ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากอายุครรภ์เป็นหลัก หากอายุครรภ์น้อยเกินไปแพทย์จะให้ยากระตุ้นปอดแล้วพิจารณาว่าสามารถประคับประคองให้อยู่ในครรภ์แม่ได้นานที่สุดกี่วัน แต่หากอายุครรภ์สามารถทำคลอดได้ แพทย์จะทำการผ่าคลอดหรือเร่งให้คลอดทางช่องคลอดเพื่อหยุดความรุนแรงของโรค หนทางป้องกัน คือ เข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรละเลยและใส่ใจสังเกตตนเองอยู่เสมอ หากเกิดความผิดปกติแพทย์จะทำการรักษาได้ทันท่วงที 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook