ลูกไม่สบาย อาการหนักขนาดไหนถึงต้องรีบไปหาหมอ?

ลูกไม่สบาย อาการหนักขนาดไหนถึงต้องรีบไปหาหมอ?

ลูกไม่สบาย อาการหนักขนาดไหนถึงต้องรีบไปหาหมอ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฤดูฝนกำลังจะหมดลงต่อด้วยฤดูหนาว ซึ่งมีฝนพรำๆ และมีลมเย็นเบาๆมาเยือนแทน ถึงแม้อากาศโดยรวมจะสดชื่นขึ้น แต่ช่วงอากาศเปลี่ยนกลับมีเชื้อไวรัสหลายชนิดระบาดจนกระทั่งเด็กและผู้ใหญ่ป่วยกันเรื้อรังเลยทีเดียว

โรคระบาดในเด็กช่วงนี้ มีทั้งไข้หวัดธรรมดา, ไข้หวัดใหญ่, ไข้ไวรัสหลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบ, ไข้อาเจียน, กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ, ไวรัสท้องเสีย, ตาแดง, ไวรัสมือเท้าปาก ที่กำลังเป็นข่าวน่าสะพรึงกลัวและยังมีไวรัสไข้เลือดออกโรคฮิตในเมืองไทยตลอดกาลอีก


วิธีดูแลเวลาลูกมีไข้

ถ้าลูกมีไข้สูง คุณหนูจะปวดหัว ปวดตัว งอแง รับประทานอาหารได้น้อยลง เราต้องช่วยลดไข้ให้คุณหนูสบายตัว โดยเช็ดตัวลดไข้ เน้นมากบริเวณ ข้อพับ ลำคอ และลำตัว รับประทานยาลดไข้ พาราเซตามอล ตามขนาดที่เหมาะสมของแต่ละคน รับประทานน้ำและอาหารแบบเหลวให้มากขึ้น และถ้าไข้ไม่ลดหรือมีไข้สูงตลอดเวลา ต้องระวังจะมีการชักจากไข้ได้ ซึ่งพบมากในเด็ก 2 ขวบแรก และมักจะพบไม่เกินอายุ 7 ขวบ


เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

ถ้าลูกได้รับการดูแลลดไข้ทั้งเช็ดตัวและรับประทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดและมีอาการอื่นๆรวมด้วย โดยเฉพาะการรับประทานได้น้อยมาก ซึมเพลีย มีภาวะขาดน้ำหมดแรงจากการถ่ายเหลวท้องเสียมาก ไอมากหายใจผิดปกติ มีการชักกระตุกในช่วงตัวร้อนสูง อาการทั้งหลายเหล่านี้ไม่ควรดูแลให้การรักษาที่บ้านเอง เนื่องจากอาจมีอาการรุนแรงของโรคต่างๆซ่อนเร้นอยู่ และต้องการรักษาอย่างเร่งด่วน


การรักษาเมื่อลูกป่วยติดเชื้อไวรัส

เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสทำให้เกิดอาการหลายอย่าง การรักษาจึงเป็นตามอาการที่มี นอกเหนือจากยาลดไข้ เช่น อาการไอหวัด ก็จะมียาลดน้ำมูก ยาลดอาการคัดจมูก ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอ ยาแก้อักเสบสำหรับลำคอ อาการท้องเสียจะมียาแก้ท้องเสีย ยาปรับลำไส้ ยาแก้ท้องอืด และเมื่ออาเจียนมากก็จะมียาลดอาการอาเจียน เป็นต้น ที่สำคัญควรพยายามให้ลูกพักผ่อนมากๆ รับประทานอาหารอ่อน ดื่มน้ำและนมชงทีละน้อยและบ่อยๆ เพื่อลดภาวะร่างกายขาดน้ำรุนแรง


ภาวะฉุกเฉินที่ต้องนำลูกพบแพทย์

- ไข้สูงตลอดและมีภาวะซึม ชักเกร็งกระตุก

- ปัสสาวะน้อย ไม่รับประทาน

- ไอมากรับประทานไม่ได้ มีอาการหอบเหนื่อย


การป้องกันร่างกายไม่ให้ป่วยง่าย

- พื้นฐานสำคัญที่ทำให้แข็งแรงไม่ป่วยง่าย คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ เด็กๆไม่ควรนอนดึก ทานอาหารที่มีประโยชน์ ผักผลไม้สด เพื่อเพิ่มวิตามินซีธรรมชาติให้ร่างกาย รับประทานอาหารที่สุกและสะอาด สอนลูกให้ล้างมือหลังเล่นและก่อนรับประทานอาหาร

- ใส่หน้ากากอนามัยเป็นนิสัย ถ้าไม่สบายเป็นไข้หวัด เพื่อการลดการแพร่ไข้หวัดให้ผู้อื่น และป้องกันการรับเชื้อเพิ่ม

- หลีกเลี่ยงไม่ตากฝนหรือโดนละอองฝนชื้นๆ กรณีลูกที่ป่วยบ่อย ไม่ควรสระผมบ่อยและหลังสระผมควรทำให้ผมลูกแห้งโดยเร็ว

- ให้วัคซีนป้องกันโรคเพิ่มจากวัคซีนพื้นฐานแก่ลูก โดยเฉพาะช่วงมีการระบาดของโรค เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคท้องเสียโรตา รวมถึงวัคซีนอื่นๆที่ลดการป่วยรุนแรง เช่น วัคซีนไอพีดี ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียดื้อยา

- ดูแลบริเวณบ้านอยู่อาศัยไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง เพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งดูแลตัวเองและลูกไม่ให้ถูกยุงกัด

- นอกจากพยายามดูแลลูกให้สุขภาพดีไม่ป่วยง่ายแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใส่ใจดูแลตัวเองด้วยนะคะ เพราะนอกจากเราต้องแข็งแรงเพื่อดูแลลูกให้ได้ดีแล้ว การป่วยเชื้อวนอยู่ในครอบครัวก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกป่วยเรื้อรัง


ขอบคุณข้อมูลจาก พญ.สาลินี หิรัญบูรณะ กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook