เตือน! เชื้อไวรัส RSV ระบาด ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

เตือน! เชื้อไวรัส RSV ระบาด ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

เตือน! เชื้อไวรัส RSV ระบาด ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จาก เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) 

เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) คืออะไร ?

นายแพทย์อัษฏางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนในประเทศไทยมักพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) โดยเชื้อไวรัสนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก เสมหะของผู้ป่วย เป็นต้น

เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน

กลุ่มเสี่ยงเชื้อไวรัสอาร์เอสวี

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติด เชื้อไวรัส RSV ขั้นรุนแรงหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต ได้แก่ 

  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนด
  • เด็กเล็กที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดตั้งแต่กำเนิด 
  • เด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เด็กที่ได้รับเคมีบำบัดหรือได้รับการปลูกถ่ายกระดูก 
  • ทารกที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่แออัด 
  • ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืด 
  • ผู้สูงอายุ หรือเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 
  • ผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง 
  • ผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ 
  • ผู้ที่เป็นโรคลิวคิเมียหรือผู้ติดเชื้อ HIV หรือเอดส์ 

เป็นต้น 

อาการของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี

อาการโดยทั่วไปอาจจะเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่อาการจำเพาะของเชื้อนี้ที่มักพบในเด็กเล็กคือ หลอดลมฝอยอักเสบ โดยเริ่มแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจดังวี้ด รับประทานอาหารได้น้อย และซึมลง ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ

วิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคได้ ดังนี้

  1. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และน้ำสะอาด ควรสอนให้เด็ก ๆ ล้างมืออย่างถูกต้อง และรักษาสุขอนามัยส่วนตัว 
  2. หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ที่มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก 
  3. ผู้ป่วยควรงดการออกนอกบ้านในช่วงที่ไม่สบาย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น 
  4. ควรปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม ทำความสะอาดบ้าน และของเล่นเด็กเป็นประจำ 
  5. ดื่มน้ำมาก ๆ 
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ 
  7. สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อบุตรหลานมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook